วิรัตน์ แสงทองคำ : พิชญ์ โพธารามิก (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราวสองพ่อลูก อดิศัย-พิชญ์ โพธารามิก แห่งกลุ่มจัสมินฯ เป็นภาพต่อเนื่อง หากไม่กล่าวถึงช่วงก่อตั้งให้กระจ่างเสียก่อน ภาพปัจจุบันคงไม่ชัดเจน

นั้นคือ เรื่องราวอันโลดโผนยุค อดิศัย โพธารามิก ในช่วงเวลา พิชญ์ โพธารามิก ยังอยู่ในวัยศึกษาหาความรู้ ณ ประเทศอังกฤษ

หากนับ “ผู้มาใหม่” กลายเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” ในยุคธุรกิจสื่อสารไทยสถาปนาขึ้น นอกจาก ทักษิณ ชินวัตร และ บุญชัย เบญจรงคกุล แล้ว ต้องรวม อดิศัย โพธารามิก เข้าไปด้วย

เขาทั้งสามเริ่มต้นธุรกิจในเส้นทางคล้ายๆ กัน ในฐานะตัวแทนสินค้าเทคโนโลยีโลกตะวันตกในยุคแรกๆ มุ่งเจาะตลาดหน่วยงานรัฐ

เพียงแต่ว่าช่วงพลิกเกมพลิกโอกาสครั้งใหญ่ อดิศัย โพธารามิก ก้าวช้าไปเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางอิทธิพล และแรงบันดาลใจของผู้แผ้วทาง เป็นกระแสอันเชี่ยวกรากส่งผลสะเทือนต่อๆ กันมา

ท่ามกลางขบวน “ผู้มาใหม่” กับกลุ่มธุรกิจใหม่เติบโตในช่วงทศวรรษ 2530-2540 เกิดขึ้นนับสิบกลุ่ม ซึ่งพวกเขาใช้เวลาสั้นกว่ามากในการสะสมความมั่งคั่ง ให้เท่ากับหรือมากกว่ากลุ่มเก่า ด้วยปัจจัยคล้ายๆ กัน

“หนึ่ง-โอกาสจากระบบสัมปทานแบบใหม่ เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม ซึ่งซุกซ่อนไว้โดยรัฐ โดยกลุ่มธุรกิจเก่าไม่รู้ ไม่เข้าใจมาก่อน สอง-เป็นตัวแทนหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากตะวันตก หรืออยู่ในกระบวนการผลิตของธุรกิจระดับโลก สาม-อาศัยเงินทุน จากตลาดทุนซึ่งกลายเป็นเวทีและกลายเป็นโอกาสอันกว้างขวางของผู้คนในสังคมไทยเวลานั้น”

(อ้างจากเรื่อง ศุภชัย เจียรวนนท์ มติชนสุดสัปดาห์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน 2559 เพิ่งผ่านมา)

กรณี ทักษิณ ชินวัตร ถูกอ้างอิงถึงอย่างนับไม่ถ้วน บางครั้งวาดภาพเกินจริงไปบ้าง

“ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะตำรวจผู้ผ่านการเรียนการสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ในสหรัฐ ในช่วงเวลาเทคโนโลยีระดับโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อเขาข้ามผ่านช่วงเวลารับราชการ มาสร้างธุรกิจตนเอง จึงนำประสบการณ์สองด้านมาด้วย ความสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงอำนาจ กับความรู้เทคโนโลยี ว่าไปแล้ว เขาเป็นเพียงตัวละครเล็กๆ ในภาพใหญ่ ในฐานะผู้ขายเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ ในฐานะตัวแทนธุรกิจระดับโลก มองเห็นโอกาส ผนวกเข้ากับระบบสัมปทานสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ ของรัฐไทย ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่มากๆ ในช่วงแรกๆ ได้รับความสนใจและประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ

ในฐานะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ไม่มีฐานการเงินมั่นคงเช่นกลุ่มธุรกิจเก่า ในแผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจ จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนือง ทางออกของเขามาในช่วงที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเติบโตตลาดหุ้น

หลายคนเชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร คือคนกอบโกยประโยชน์มหาศาลจากระบบสัมปทานสื่อสารในช่วงปี 2533-2534 (มีสัมปทานในมือทั้งสิ้นถึง 8 โครงการ) และในช่วงปี 2533-2537 บริษัทในเครือข่ายธุรกิจสื่อสารของเขาถึง 4 แห่ง ได้เข้าระดมทุนจากตลาดหุ้น นับเป็นแผนการระดมทุนจากตลาดหุ้นอย่างเป็นระบบ อย่างต่อเนื่อง เป็นโมเดลสร้างแรงสั่นสะเทือน สร้างกระแสอย่างรุนแรง ให้ทั้งรายใหม่-รายเก่า เข้าสู่โมเดลความมั่งคั่งใหม่ อย่างรีบเร่ง” (อ้างแล้ว)

ต่อมาพบว่า กิจการสร้างรายได้ที่เป็นจริง (ไม่ใช่ราคาหุ้น) มีเพียงสื่อสารไร้สายหรือโทรศัพท์มือถือ (สัมปทานปี 2533) กับดาวเทียม (สัมปทานปี 2534)

ว่าไปแล้ว บุญชัย เบญจรงคกุล เป็นอีกคนหนึ่งที่ควรอ้างอิงถึง ธุรกิจครอบครัวของเขาบุกเบิกธุรกิจสื่อสารมาก่อนใครๆ ในฐานะเป็นตัวแทน Motorola แห่งสหรัฐ ตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนาม

ขณะที่ อดิศัย โพธารามิก กับ ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นพนักงานรัฐวิหสากิจและตำรวจอยู่เลย

บุญชัย เบญจรงคกุล ทายาทรุ่นต่อมา มองเห็นโอกาสใหม่เช่นเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกับ ทักษิณ ชินวัตร เขาสามารถคว้าสัมปทานโทรศัพท์มือถืออีกระบบหนึ่ง (ปี 2534) พร้อมนำกิจการ 2 บริษัท (ยูคอมและแทค) เข้าตลาดหุ้นทั้งไทยและสิงคโปร์ (ช่วงปี 2537-2538)

สําหรับ อดิศัย โพธารามิก ในช่วงเวลานั้นช่วงแรกๆ เขาอาจมองว่าตัวเองได้เปรียบทั้ง ทักษิณ ชินวัตร และ บุญชัย เบญจรงคกุล ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะสายสัมพันธ์และประสบการณ์

อดิศัย โพธารามิก เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธ โรงเรียนประจำในตำนาน เชื่อมโยงกับชนชั้นนำ ข้าราชการผู้ใหญ่ และนักธุรกิจทรงอิทธิพล ว่าด้วยสายสัมพันธ์อันมั่นคง ยาวนาน และในช่วงเวลานั้น “สายสัมพันธ์” ดังกล่าว ยังทำงานได้ดี โอกาสธุรกิจสำคัญบางกรณีอาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นตามสมมติฐานข้างต้น

สมมติฐานข้างต้นเชื่อว่าพอจะอ้างอิงกับกรณีซีพี ในช่วงพลิกผันตนเองเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารซึ่งคาดกันในตอนนั้นว่าเป็นสัมปทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เชื่อมโยงกับเรื่องบางตอนที่ผมเพิ่งนำเสนอไป (เกี่ยวกับเรื่องราว ศุภชัย เจียรวานนท์ เช่นกัน)

“เปิดประมูลสัมปทานระบบสื่อสารครั้งใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ก่อตั้งบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (TA) ในปี 2533 ปีต่อมาซีพีร่วมทุนกับ Bell Atlantic (ต่อมาในปี 2540 เป็น NYNEX และในปี 2543 เป็น Verizon Communications) แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามสัญญากับองค์การโทรศัพท์ฯ ในโครงการขยายโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”

กรณีข้างต้นสะท้อนแรงกระเพื่อมว่าด้วยอิทธิพลธุรกิจสื่อสารมีต่อสังคมไทยอย่างรุนแรง

ในภาพกว้าง รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ว่ากันว่าในฐานะ “ตัวแทน” อิทธิพลดั้งเดิมของสังคมไทย ได้เข้ามารื้อโครงสร้างสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศ

โดย “ตัดตอน” ให้เครือซีพี ได้ไปเฉพาะเขตเมืองหลวงเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อและแนวทางอ้างว่าเพื่อป้องกันการผูกขาดสัมปทานสำคัญของรัฐ

ผู้เข้ามาแทรก คว้าสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเขตต่างจังหวัดไปนั้น สะท้อนภาพกว้างบุคลิกสังคมธุรกิจไทยในบางมิติ

นั่นคือการมาของกลุ่มล็อกซเล่ย์ และภัทรธนกิจ

ซึ่งเป็นธุรกิจตระกูลล่ำซำ ว่าไปแล้ว “ล่ำซำ” เป็นตระกูลธุรกิจเก่าแก่ รากฐานจากชาวจีนโพ้นทะเล เข้ามาและเติบโตในสังคมไทย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือว่าไปแล้ว เป็นกลุ่มตระกูลธุรกิจ มีรากฐานเก่ากว่าตระกูลเจียรวนนท์แห่งซีพี

ในภาพย่อย กลายเป็นโอกาส “หน้าใหม่” อย่าง อดิศัย โพธารามิก ด้วย สมมติฐาน “สายสัมพันธ์วชิราวุธ” พออรรถาธิบายกรณีนี้ได้บ้าง โครงสร้างกิจการร่วมทุนเข้ารับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเขตต่างจังหวัด มี อดิศัย โพธารามิก แห่งจัสมินฯ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งบังเอิญว่าเขาเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธรุ่นพี่ของ ธงชัย ล่ำซำ (ผู้บริหารกลุ่มล็อกซเล่ย์) และ วิโรจน์ นวลแข (ผู้บริหารภัทรธนกิจ ในเวลานั้น)

ในเวลานั้น อดิศัย โพธารามิก กลายเป็น Deal Maker คนใหม่อีกคนหนึ่งไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวให้มีเหตุผลอย่างรอบคอบมากขึ้นด้วยว่า หาก อดิศัย โพธารามิก ไม่มี “สายสัมพันธ์” บวก “ความรู้-ประสบการณ์” สำคัญอีกอย่างหนึ่งประกอบด้วย อาจไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น

“อดิศัย ผ่านการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นวิชาพื้นฐานด้านสื่อสารในระดับปริญญาตรีที่จุฬาฯ ในรุ่นเดียวกันหลายคน พาเหรดเข้าทำงานองค์การโทรศัพท์ฯ ในช่วงองค์กรนั้นมีบทบาทมากขึ้น เขาคือกลุ่มคนหนุ่มที่มีอนาคต บรรดาเพื่อนๆ ของเขาต่อมาคือผู้บริหาร มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร “ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” แห่งนี้” ผมเคยนำเสนอเรื่องราว อดิศัย โพธารามิก อ้างอิง “สายสัมพันธ์-ความรู้-ประสบการณ์” ไว้เมื่อปี 2540

อดิศัย โพธารามิก ทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ฯ (ปัจจุบันคือ บริษัท ทีโอที จำกัด) นานถึง 15 ปี (2505-2521) โดยมีบางช่วงประมาณ 4 ปี ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ (ปริญญาโทที่ University of Hawaii และปริญญาเอก University of Maryland) ในช่วงท้ายๆ ที่นั่นเขามีบทบาท ดูแลและวางระบบข่ายสาย

การเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวของเขา ดูเหมือนโมเดลไม่แตกต่างจากกรณี ทักษิณ ชินวัตร นัก เริ่มต้นอย่างง่ายๆ

“การเล็งเห็นโอกาสธุรกิจจากรัฐ การขายสินค้าภายใต้ระบบจัดซื้ออาศัยความคุ้นเคย” ไปสู่ความชำนาญเฉพาะตัวที่แตกต่างออกไป “จัดตั้งบริษัทออกแบบ ติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคม” (อ้างจากข้อเขียนเก่าของผมในปี 2540 เช่นกัน)

ดูเผินๆ เขาจากทีโอทีไปนานพอสมควร แต่ในความจริงธุรกิจของเขา เชื่อมโยงและอ้างอิงกับทีโอทีอยู่เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจนักว่า แม้เวลาจะผ่านไปกว่าทศวรรษ เขาก็สามารถคว้าสัมปทานสำคัญบางอย่างจากทีโอที

อดิศัย โพธารามิก สามารถคว้าสัมปทานสำคัญๆ 2 อย่าง ในช่วงปี 2534 ในระยะไล่เลี่ยกับกรณี ทักษิณ ชินวัตร และ บุญชัย เบญจรงคกุล นั่นคือ ระบบสื่อสารภายในประเทศด้วยดาวเทียมเพื่อบริการธุรกิจ (INTEGRATED SATTELITE BUSINESS NETWORK หรือ ISBN) และเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ เป็นแผนการดำเนินธุรกิจเชิงรุก แสวงหาโอกาสครั้งใหญ่ เข้าสู่สถานการณ์ใหม่ อย่างกระชั้นชิด ก่อนจะมาร่วมคว้าสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด

การเข้าร่วมโครงการโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด เป็นจังหวะสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นความ “ยิ่งใหญ่” ของกลุ่มจัสมินฯ กลุ่มธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอย่างครึกโครม และรวดเร็ว เรียกกันว่าเป็นจังหวะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดในธุรกิจสื่อสารเวลานั้น อดิศัย โพธารามิก เข้าสู่ทำเนียบผู้นำธุรกิจ “ผู้ยิ่งใหญ่” ในธุรกิจสื่อสาร อย่างไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียวก็ว่าได้

กรณี “โทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด” นี่เอง คือตำนานจัสมินฯ อันขรุขระ ยืดเยื้อ ส่งต่อภารกิจอันหนักอึ้ง กลายเป็นบททดสอบสำคัญ ก่อนก้าวเข้าสู่ยุค พิชญ์ โพธารามิก