ไทย-นิวซีแลนด์ร่วมมือกันเรื่องอะไรบ้าง ? คุยกับทูต ‘ทาฮา แม็กเฟอร์สัน’

คุยกับทูต ทาฮา แม็กเฟอร์สัน สานสัมพันธ์การค้าการศึกษา ไทย-นิวซีแลนด์ (จบ)

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะประเทศของเราทั้งสองมีความสัมพันธ์กันอย่างอบอุ่น และใกล้ชิดมายาวนาน”

นายทาฮา แม็กเฟอร์สัน (His Excellency Taha Macpherson) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ซึ่งรับผิดชอบครอบคลุมถึงประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย โดยมีถิ่นพำนักประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า

“สำหรับผม ไม่ว่าจะไปรับหน้าที่แห่งไหนก็ตาม ผมจะใช้ชีวิตตามหลักทฤษฎีของนายราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อคุณต้องจากโลกนี้ไป โลกควรจะต้องดีขึ้นกว่าที่คุณได้พบ ซึ่งผมได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในวิถีทางการทูต และในฐานะเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย”

“บทบาทพื้นฐานของผม คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศของเราเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เราสามารถทำได้ และเพื่อจัดการกับปัญหาใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเราอย่างสร้างสรรค์ นับเป็นความโชคดีเช่นกัน ที่ความสัมพันธ์ของเราได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย”

นายราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน เป็นนักเขียน นักประพันธ์ และกวีชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้นำกระแสหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Transcendentalism) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19

“ในนิวซีแลนด์ เราชาวเมารีมีหลักการที่เรียกว่า Kaitiakitanga ซึ่งหมายถึง การพิทักษ์ปกป้อง ซึ่งในฐานะเอกอัครราชทูต เราเป็นผู้พิทักษ์ความสัมพันธ์อย่างแท้จริง และสำหรับผม การได้รับโอกาสเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยนั้นยิ่งใหญ่มาก เรามีความสัมพันธ์ที่สำคัญ ไม่เพียงเพราะความเชื่อมโยงในระดับทวิภาคีกับประเทศไทย แต่ยังเป็นเพราะประเทศไทยมีตำแหน่งสำคัญในภูมิภาค ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์-ยุทธศาสตร์ เรามีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เป็นความสัมพันธ์หลักมาเนิ่นนาน มีการเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งในหลายพื้นที่ ทั้งการเชื่อมโยงผู้คนกับผู้คน ทางการป้องกัน ทางการศึกษา การค้าและเศรษฐกิจ”

“ในช่วงเวลาที่ประจำที่นี่ ผมจึงต้องการให้ความเชื่อมโยงทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้หยั่งรากลึกและมั่นคงแข็งแกร่งมากกว่าเดิม เนื่องจากไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 8 ของนิวซีแลนด์ เรามีมูลค่าการค้าเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ต่อปี ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า เราจึงต้องการที่จะเห็นความสมดุลทางการค้า โดยเพิ่มปริมาณการส่งออก ซึ่งก็ต้องมีการสำรวจพื้นที่ใหม่ และเราต้องทำงานอย่างหนัก รวมถึงทีมการค้าและองค์กรนิวซีแลนด์ (NZTE) ในกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนธุรกิจของนิวซีแลนด์และพันธมิตรทางธุรกิจให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มการส่งออกของนิวซีแลนด์และการลงทุนในประเทศไทย”

“โดยปกติความสัมพันธ์ทางการค้าของเราเกิดขึ้นจากการส่งออกเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยส่งออกสินค้าส่วนใหญ่เป็นรถยนต์และส่วนประกอบ สำหรับนิวซีแลนด์ สินค้าส่งออกอยู่ในภาคเกษตรเพราะเราเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ ในขณะที่ไทยได้ริเริ่มนโยบายใหญ่ เช่น Thailand 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)”

ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ รถยนต์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากนิวซีแลนด์ อาทิ นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก-ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูป เนื้อสัตว์ และอาหารปรุงแต่งสำหรับเลี้ยงทารก

“ผมสนับสนุนนักธุรกิจในนิวซีแลนด์ให้เริ่มมองหาพื้นที่ทางการค้าให้กว้างไกลกว่าเดิมจากที่เรามีความแข็งแกร่งทางการค้าอยู่แล้ว เช่น การเกษตรและการผลิตสินค้าด้วยเครื่องจักร มาสู่การค้าในแนวใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ การผลิตเฉพาะด้าน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การบริการด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์การอาหาร และเทคโนโลยีการเกษตร และอื่นๆ”

“เราได้เห็นความพยายามของประเทศไทยที่ต้องการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าทันยุค หลีกเลี่ยงกับดักประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ให้กลายเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมมากขึ้น และมีหลายนโยบายที่เริ่มดำเนินการแล้ว”

“ผมจึงคิดว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนิวซีแลนด์เช่นกัน เพราะเรามีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านการผลิต ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านนวัตกรรมขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการเกษตร-วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ยิ่งขึ้นไปอีกโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สำนักงานองค์กรการค้าและส่งเสริมการค้าของเราก็อยู่ที่นี่ (New Zealand Trade & Enterprise)”

“แม้เราจะเห็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่สันติภาพในภูมิภาคก็นับเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา ปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน (ASEAN) เราได้แสดงอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลไทยว่า เราต้องการสนับสนุนความสัมพันธ์ของไทยในอาเซียนให้ประสบความสำเร็จ เพราะในบรรยากาศทางการเมือง เราเห็นความไม่แน่นอนเกิดมากขึ้นในบางพื้นที่ซึ่งกฎกติกาของการค้าพหุภาคีก็อาจจะมีปัญหา”

“เราพอใจกับฐานโครงสร้างที่แข็งแกร่งในความสัมพันธ์ทางการค้าของเรา หนึ่งในข้อตกลงการค้าเสรีแรกสุดของนิวซีแลนด์คือ ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ (Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership) เราทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิกของข้อตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Agreement)”

“เราเชื่อว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นการค้า และเราทั้งสองก็ยอมรับว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อไปโดยผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งนิวซีแลนด์ยังให้การสนับสนุนไทยที่ให้ความสนใจในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)”

มาถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในประชาคมโลก โดยแนวทางที่หลายภาคส่วนได้ยึดเป็นทางเลือกของทางรอดจากปัญหานี้ คือ การรู้จักปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นางจาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Kate Laurell Ardern) นายกรัฐมนตรีของเรา ได้ประกาศว่ารัฐบาลกำหนดให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำหรับอนาคต”

“ดังนั้น เราจึงต้องการทำงานร่วมกับพันธมิตรดังเช่นประเทศไทยและพันธมิตรในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศในอาเซียน ตัวอย่างจากเรื่องพลาสติกทางทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับภูมิภาคของเรา เพราะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและการประมง”

“ดังนั้น เราทำงานบนพื้นฐานระดับภูมิภาค เพื่อหาพันธมิตรให้เข้ามาผูกพันร่วมมือกัน และเราก็ได้ให้ความสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมต่อความร่วมมือของประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“หัวข้อสำหรับอาเซียน 2019 (ASEAN 2019) จึงสำคัญมากสำหรับเราในแง่ของวิธีการที่เราจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร เพื่อต่อสู้กับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราเห็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนิวซีแลนด์ และภูมิภาคอื่นๆ”

“นิวซีแลนด์และประเทศไทยมีส่วนร่วมทางการเกษตรที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้น เทคโนโลยีในการบรรเทาผลกระทบจึงมีความสำคัญ สำหรับนิวซีแลนด์ 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้มาจากรถยนต์ แต่มาจากวัว เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ปัญหามาจากการปล่อยมลพิษทางการเกษตร”

ท่านทูตทาฮา แม็กเฟอร์สัน สรุปว่า

“ด้วยเหตุนี้ ไทย-นิวซีแลนด์จึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาว่าเทคโนโลยีของเราอาจใช้ด้วยกันอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากมีเทน (methane) อันเกิดจากการหมักวัตถุอินทรีย์ในภาคปศุสัตว์ ซึ่งนิวซีแลนด์ต้องการสนับสนุนวัตถุประสงค์ของประเทศไทยในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างให้มากขึ้น เราจึงทำงานกับทีมอาเซียน (ASEAN Team) ในการค้นหาความคิดใหม่ๆ ที่จะประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลสำเร็จสืบต่อไป”