อภิญญา ตะวันออก : จาก “1984” ถึง “the missing”

อภิญญา ตะวันออก

พ่อหนุ่ม นายอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่?

บทกวีตามหาหนุ่มช่างภาพและนักข่าวที่หายตัวไปในกัมพูชาเดือนเมษายนค่อยๆ ดังสู่โลกภายนอกและแพร่ไปในหมู่หนุ่มสาวผู้ต่อต้านสงครามและบุปผาชนแห่งปี “70

พลันใบหน้าของฌ็อน ฟลินน์ และดานา สโตน 2 ช่างภาพแห่งไทม์แม็กกาซีนและซีบีเอสนิวส์ พวกเขายังเป็นเหยื่อแห่งการสังหารและสูญหายในกัมพูชาระหว่าง 1970-1975 ราว 40 คน

เริ่มต้นจากวันที่ 4 เมษายน เมื่อจิลล์ การ็อง สัญชาติฝรั่งเศสสังกัดสำนักข่าวแกมม่าและเอ็มไอเอ (Media Information Agency) หายไปจากบริเวณที่เรียกกันว่าชิโป-ทางหลวงหมายเลข 1

และ 5 เมษายน เมื่อคล้อด อาร์แปง-สัญชาติฝรั่งเศสสังกัดนิวสวีก, กีย์ ฮันโนเตอร์ซ สัญชาติสวิส จากสำนักข่าวดิเอ็กซ์เพรสส์ ถูกลักพาตัวโดยเวียดกงบริเวณเดียวกัน

จากนั้นก็มาถึงวันที่ 6 เมษายน 1970 วันที่ทั้ง 2 หนุ่มอเมริกันซึ่งมีตัวตนดั่งชาวบุปผาชน พร้อมด้วยอุปกรณ์ทำงานและยานพาหนะรุ่น “60 มอเตอร์ไซค์สีแดงที่พวกเขาขับขี่อย่างเป็นอิสระ และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมดานาและฌ็อนจึงมักแยกตัวออกไปลุยข่าวตามลำพัง

ทว่าตามบันทึกของ R?ra ตีพิมพ์ 2018 ใน “Concombres Amers” วันที่ 6 เมษายน อคิระ กูซากะ, ยูจิโร่ ทากากิ สังกัดสำนักฟูจิทีวี และสองหนุ่มอเมริกันและสำนักข่าวอื่นๆ รวมทั้งพลขับรถ 9 ชีวิต ถูกเวียดกงอุ้มหายจากทางหลวงหมายเลข 1

8 เมษายน ดีเตอร์ เบลเล็นดอฟ สัญชาติเยอรมัน (ตะวันตก) สังกัดเอ็นบีซี, จอร์จ เก็นลุกเนอร์ สัญชาติออสเตรีย ถูกเขมรแดงลักพาตัวจากจังหวัดสวายเรียง

16 เมษายน วิลลี่ เม็ตเลอร์ สัญชาติสวิส สังกัดเอ็มไอเอ หายตัวไปจากบริเวณจังหวัดกำปอด

10 พฤษภาคม ทาเกชิ ยานากิซาวา ช่างภาพข่าวสงครามแห่งสำนักนิปปอน เด็นปะและเอ็มไอเอชาวญี่ปุ่น หายตัวไปจากกำปอดเช่นกัน

29 พฤษภาคม เทรุโอะ นากาจิมะ ช่างภาพสังกัดโอมาริและเอ็มไอเอชาวญี่ปุ่น ถูกลักพาตัวในกำปอด

31 พฤษภาคม โทโมบารุ อิชิ, โคจิโร่ ซากาอิ-ญี่ปุ่น, รามนิก เลขี-อินเดีย, เจอราลด์ มิลเลอร์และจอร์จ ซีแวร์ตเซน แห่งซีบีเอสชาวสหรัฐ, เยียง สำเลง พลขับรถชาวเขมร, โยซิฮิโกะ วากุ และแวลลีส ฮันเก็น สังกัดเอ็นบีซี ทั้งหมด 8 ชีวิต ถูกซุ่มยิงบริเวณวัดโพธิ์ พิกัดทางหลวงหมายเลข 3

7 กรกฎาคม เรมอนด์ เมเยอร์-เรเน่ ปุยเซสโซ (ฝรั่งเศส) จากโออาร์ทีเอฟและเอ็มไอเอ เสียชีวิตที่จังหวัดเสียมเรียบ

28 ตุลาคม เจ แฟรงก์ โฟรสซ์-สหรัฐ และเคียวชิ ซาวาดะ-ญี่ปุ่นแห่งสำนักข่าวยูพีไอ ถูกสังหารบริเวณทางหลวงหมายเลข 2 จังหวัดตาแก้ว

26 ธันวาคม โจฮันเนส ดุยนิสเวลด์-นักข่าวอิสระชาวเนเธอร์แลนด์ ถูกซุ่มยิงเสียชีวิตบริเวณเขตเหยื่อนก “Bec du Perroque”

 

ปีถัดมา 1971 : ฟรานซิส ไบลี นักข่าวฝรั่งเศสแห่งเอเอฟพีเพียงคนเดียวที่ถูกสังหารในเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณทางหลวงหมายเลข 4

แต่แล้วเมษายนแห่งความโหดร้ายก็กลับมาคุกคามอีกครั้งในปีถัดมา

1972 : เมื่ออลัน อิรอนส์ ช่างภาพข่าวชาวออสเตรเลีย เทอรี่ เรย์โนลด์ส-สหรัฐ และฌึม สารัต สำนักข่าวยูพี/United Press International ชาวกัมปูเจีย ถูกลักพาตัวบริเวณแพข้ามฟากนะเลืองโดยเขมรแดงในวันที่ 25 เมษายน สถานะสูญหาย ไม่ทราบชะตากรรม

ข้ามไปอีก 1 ปี 1973 : 23 พฤศจิกายน ฮัช ปรัก-เขมรจากเอ็มไอเอและสันติภาพ หายตัวบริเวณปราสาทนครธมเมืองเสียมเรียบ ตามมาด้วยลิม สาโร, ไทโซะ อิชิโนเซะ สังกัดเอ็มไอเอ หายตัวจากบริเวณปราสาทนครวัด ไม่อาจระบุวัน

1974 : 15 เมษายน มาร์ก ฟิลุกซ์-สัญชาติฝรั่งเศสจากสำนักข่าวเอเอฟพีพร้อมกับล่ามชาวลาว-มนีวันถูกสังหารโดยกลุ่มเขมรแดง

1 ตุลาคม ลิม สาวัต-ช่างภาพเขมรแห่งสำนักข่าวเอพีและเคไอเอ/KIA เสียชีวิตขณะลงทำงานในพื้น ของจังหวัดกำปงฉนัง

ตุลาคม 1974 โกกิ อิชิยามะ นักข่าวญี่ปุ่นแห่งสำนักข่าวเกียวโด ถูกเขมรแดงลักพาตัวและกักขังบริเวณทางตอนเหนือของกรุงพนมเปญ

1975 : 20 มกราคม โกกิ อิชิยามะ ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิต

 

นอกจากเรื่องราวของฌ็อน ฟลินน์ และดานา สโตน ซึ่งเป็นที่สนใจในสื่ออเมริกันอย่างมาก เนื่องจากฌ็อน ฟลินน์ เป็นนักแสดงและลูกชายดาราดัง แต่ความหลงใหลการถ่ายภาพ ทำให้เขาไม่แยแสความมีชื่อเสียงและหันหลังให้วงการมายาขณะเริ่มมีชื่อเสียง เพื่อสมัครเป็นช่างภาพอิสระแดนสงครามในเวียดนามและกัมพูชา

ในจำนวนคนเหล่านั้น มีจิลล์ การ็อง อดีตช่างภาพสงครามแอลจีเรียวัย 30 ปี ผู้ถูกตามหารอยแห่งการสูญหาย เริ่มจาก 1 เมษายน 1970 จิลล์ติดตามถ่ายภาพกองทัพยุวชนรัฐบาลลอน นอล

4 เมษายน ตามใบสั่ง “ปารีส แมตช์” (Paris Match) และต้นสังกัด จิลล์ติดตามกลุ่มดังกล่าวไปยังทางหลวงหมายเลข 1 จากวันนั้น จิลล์ การ็อง กลายเป็นช่างภาพฝรั่งเศสคนแรกที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชา

ผ่านไปอีก 35 ปี ราว 2010 แดน ซุนเทอร์แลนด์ พร้อมอดีตเพื่อนร่วมงานชาวกัมพูชา พากันกลับไปยังทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้ง เพื่อค้นหาร่องรอยบางอย่างจากจุดดานาและฌ็อนแยกตัวออกไป ทิศเหนือซึ่งห่างไปไม่กี่กิโลเมตร มีหมู่บ้านชื่อ “ทโลก” จุดที่เชื่อกันว่าทั้งสองถูกเวียดกงลักพาตัวในวันนั้น

ซุนเทอร์แลนด์ได้พบเอก พาน ชายแก่เขมรขณะนั้นอายุราว 78 ปี เขาเล่าว่า ได้พบกับชาวต่างชาติ “คนหนึ่งตัวใหญ่ คนหนึ่งตัวเล็ก พวกเขาขับมอเตอร์ไซค์สีแดงเลือดหมู” นั่นคือสิ่งที่ผ่านไปนานแต่เอก พาน ไม่เคยลืม

การหายตัวของดานาและฌ็อน กลายเป็นภารกิจลับในการสืบตามหาในอีกหลายปีต่อมาโดยหน่วยงานสหรัฐ จากจุดที่เขาถูกจับตัว กักขัง รวมทั้งวิธีที่นำไปสู่ความตาย

นั่นคือการถูกบังคับให้ขุดหลุมฝังศพตัวตัวเอง ก่อนถูกกระทำทารุณจนเสียชีวิต

 

แม้จะเป็นปีแห่งการ “สูญหาย” ในผู้คน กระนั้นราวปี 1974 กลิ่นอายและความปรารถนาของเหล่าบุปผาชน ผู้เกิดแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตบุปผาของฌ็อน ฟลินน์ โดยเฉพาะหนุ่มสาวอเมริกัน

ในจำนวนนั้นมีอัล ร็อกก็อฟ และอลิซาเบธ เบกเกอร์ เธอผู้ผลักดันตัวเองไปสู่กัมพูชาในฐานะนักข่าวประจำภูมิภาคของฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิก รีวิว ประจำฮ่องกง และคือจุดเริ่มต้นการไปเยือนกัมพูชาในเดือนสิงหาคม 1974 และทำให้เธอได้พบกับ “โกกิ อิชิยามะ” นักข่าวญี่ปุ่นแห่งเกียวโดผู้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

ชายผู้หลงใหลจอร์จ ออร์เวลล์ จนทำให้เขาถึงกับลงมือแปลวรรณกรรมของออร์เวลล์เป็นภาษาญี่ปุ่น ต่อความหลงใหลเจ้าผลงาน “1984” นี้เอง ทำให้การพบกันมื้อค่ำของกลุ่มนักข่าวที่ ผับลาทาเวิร์น ตรงข้ามกับตึกไปรษณีย์กลางกรุงพนมเปญ

โกกิ อิชิยามะ ประกาศก่อตั้ง “ชมรมจอร์จ ออร์เวลล์แห่งกัมพูชา” อันประกอบด้วยสมาชิก 2 คน หนึ่งในนั้นคือตนเองกับอลิซาเบธ เบกเกอร์

ดังนั้น ในเดือนตุลาคม 1974 ข่าวการหายตัวของเพื่อนข่าวเกียวโด-โกกิซึ่งอลิซาเบธคิดว่าขณะนั้นเขากลับไปโตเกียว ทว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ โกกิ อิชิยามะ บอกกับผู้ช่วยชาวเขมรของตน แม้ว่ากง วอน จะอ้อนวอนเกลี้ยกล่อมสักปานใดเพื่อยับยั้งโกกิ อิชิยามะ ในการออกไปนอกกรุงพนมเปญ

แต่โกกิยืนยันว่า เขาต้องการจะเห็นภาพสงครามอีกด้านหนึ่งด้วย

และนั่นทำให้เขาออกนอกเขตปลอดภัยทางตอนเหนือของกรุงพนมเปญบริเวณเขตอุดงซึ่งได้ชื่อว่าเขมรแดงยึดครองโดยมีจักรยานคันเดียวเป็นพาหนะ

ระหว่างรอคอยการกลับมานั้น อลิซาเบธหวังว่า เธอจะได้พบเขาในวันหนึ่ง