เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ รับเสด็จฯ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

รับเสด็จฯ

 

เมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายท่านคงนั่งหน้าจอ เฝ้าดูการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 อย่างใจจดใจจ่อ

พระองค์ท่านได้เสด็จประกอบพิธีตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม และเสด็จในพิธีต่อเนื่องมาจนถึงจันทร์ที่ 6 พฤษภาคมกันเลย เรียกว่าเป็นช่วง 4 วันแห่งความปีติของชนชาวไทยอย่างยิ่ง

ความสำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นเนื่องจากงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ในแง่เทคโนโลยีแล้ว เป็นพิธีบรมราชาภิเษกอันยิ่งใหญ่ครั้งแรกของไทยที่ได้มีการถ่ายทอดสดให้ได้ชมผ่านจอกันถ้วนทั่ว

เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ และมีพิธีบรมราชาภิเษกก็เมื่อ พ.ศ.2493 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีโทรทัศน์เสียด้วยซ้ำไป เหตุการณ์ต่างๆ จึงบันทึกเป็นฟิล์ม การมีส่วนร่วมรู้เห็นของประชาชนทั่วไปก็ไม่กว้างขวางเช่นปัจจุบัน

โอกาสที่ประชาชนน่าจะมีส่วนร่วมอยู่บ้างก็คือ การเฝ้าฯ รับเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และการเสด็จออกสีหบัญชรนั่นเอง

 

ในครั้งนี้ การมีส่วนร่วมแบบใกล้ชิดของประชาชนก็มีในหลายวาระ นับตั้งแต่การเฝ้าฯ รับเสด็จในวันที่ 3 พฤษภาคม จนกระทั่งถึงวันที่ 6 พฤษภาคมกันเลย แต่ที่ดูจะเป็นโอกาสสำหรับประชาชนที่ได้ใกล้ชิดกับพระราชพิธีมากที่สุด ก็คือในวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ในหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเป็นระยะทางยาวประมาณ 7 ก.ม. เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 4 โมงครึ่งเย็น ไปจนถึงเวลาใกล้เที่ยงคืนนั่นเลย

ใครที่ได้ชมการถ่ายทอดสดผ่านทางหน้าจอ คงจะเห็นถึงความสวยงามยิ่งใหญ่ของริ้วขบวนที่แสดงถึงความมีอารยธรรมขั้นสูงที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย

นอกจากริ้วขบวนแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบข้างในการเสด็จพระราชดำเนินก็ล้วนสวยงามน่าประทับใจ

อาคารสถานที่ต่างๆ มีการทำความสะอาด ทาสีและตกแต่งอย่างสวยงามเป็นระเบียบ จนน่าจะเก็บรักษาไว้อย่างนี้ตลอดไป

ถนนหนทางถูกปรับผิวถนนให้ราบเรียบเสมอกันอย่างมีระเบียบ

สองข้างทางและเกาะกลางถนนก็ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้นานาพรรณ

ยิ่งพอตกช่วงกลางคืน สองข้างทางมีการประดับไฟแสงสว่างในอาคารและสถานที่รอบด้านอย่างสวยงามยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง และวัดต่างๆ ที่ทรงเสด็จไปทำพิธี ยิ่งมองผ่านจอโทรทัศน์ในภาพมุมสูงแล้วยิ่งสวยงาม

จนรู้สึกว่าพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ของเราเหมือนเมืองสวรรค์เลยจริงๆ

 

แต่ที่เป็นภาพที่สวยงามที่สุดคือ พสกนิกรชาวไทยที่ได้เฝ้าฯ รับเสด็จเต็มแน่นอยู่สองข้างทางทุกคนใส่เสื้อเหลือง และมีใบหน้าที่ปลาบปลื้มปีติยินดี นี่คือความผูกพันของราษฎรกับสถาบันกษัตริย์โดยแท้

จากการให้สัมภาษณ์ หลายคนเดินทางมาเพียงคนเดียวจากต่างจังหวัด เพื่อให้ได้มีโอกาสร่วมเก็บประสบการณ์ในพระราชพิธีนี้ บางคนเป็นแม่ของนายทหารผู้ร่วมทำหน้าที่ในริ้วขบวน ต้องการมาชื่นชมพระบารมีพร้อมกับการได้เห็นลูกชายทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่

เชื่อว่าในชั่วชีวิตของหลายคน ยังไม่รู้เลยว่าจะได้มีโอกาสได้เห็นพระราชพิธีอันสำคัญเช่นนี้อีกเมื่อไหร่

จึงนับว่าเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของแผ่นดินไทย

 

เมื่อได้เห็นบรรยากาศของการรับเสด็จในครั้งนี้ เลยทำให้คิดถึงบทประพันธ์อมตะของไทยเรื่องหนึ่งขึ้นมาคือ “สี่แผ่นดิน” จากการประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาจับใจ จนต้องไปค้นมาอ่านอีกครั้ง

เมื่อพูดถึงการรับเสด็จของ “แม่พลอย” ในเรื่องแล้ว ตัวพลอยได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จแบบสามัญชนอยู่ 2 ครั้ง 2 ครา นี่ไม่นับกับการที่ได้รับเสด็จในฐานะข้าในวังหลวงเมื่อครั้งยังอยู่ในการอุปการะของเสด็จฯ

ครั้งแรกนั้น คือ การรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2481 เมื่อพระชนมายุเพียง 13 พรรษา

ในหนังสือเขียนถึงเหตุการณ์นี้ผ่านตัวละคร “แม่พลอย” ไว้ว่า

“พลอยเดินมาถึงแนวต้นมะขามรอบทุ่งพระเมรุ (ชื่อเดิมของท้องสนามหลวง) แล้วก็หยุดยืนพักร้อนอยู่ใต้ร่มไม้ สายตามองดูผู้คนที่ผ่านไปมา คนที่มาคอยเฝ้าฯ ในหลวงวันนั้น มีทั้งคนแก่ คนหนุ่มสาว และเด็กๆ …ทุกคนมีใบหน้ารื่นเริง อันเกิดจากความยินดีที่ในหลวงของตนจะเสด็จฯ กลับ พลอยยืนดูอยู่ไม่นานก็รู้สึกตื้นตันคอหอย เพราะทุกคนที่มาร่วมกันอยู่ตามข้างถนนหนทางในวันนี้ต่างมาด้วยวัตถุประสงค์อันเดียวกัน ด้วยความจงรักภักดีร่วมกัน ด้วยความรู้สึกเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ที่ต่างพากันมารับญาติที่รักคนหนึ่งซึ่งกำลังจะกลับมาถึงบ้าน”

… “เสียงไชโยดังมาจากไกล แล้วก็ใกล้เข้ามาทุกที จนในที่สุดเสียงคนไชโยโห่ร้องแสดงความปีตินั้นก็ดังอื้ออึงไปรอบข้าง ดุจว่าแผ่นดินจะถล่มทลาย…รถม้าพระที่นั่งผ่านมาอยู่ตรงหน้า แล้วก็ผ่านเลยไป พลอยได้แต่มองทะลุน้ำตาที่หลั่งไหลออกมากับลูกตาทั้งสองข้าง แลดูเห็นองค์พระเจ้าอยู่หัว เจ้าประคุณ เจ้าประคุณ พลอยร้องพึมพำในลำคอ”

… “พลอยกลับมาบ้านในวันนั้น ด้วยความรู้สึกที่ปลอดโปร่งอย่างที่ไม่ค่อยได้เคยรู้สึกมานาน ความจงรักภักดีที่ประชาชนได้แสดงต่อในหลวงอย่างเห็นได้ชัดแจ้งในวันนี้ ทำให้พลอยรู้สึกว่าโลกมนุษย์นี้มีแก่นสาร มีหลักมีฐานยังไม่หมดสิ้นศรัทธาไปเสียทีเดียว”

 

นี่เป็นการถอดความมาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ครั้งนั้นเป็นการรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 หากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นการรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 แม้จะห่างกันถึง 74 ปี แต่ก็เชื่อว่าหัวจิตหัวใจและความรู้สึกของผู้เฝ้าฯ รับเสด็จ สองข้างทางคงไม่ต่างกันมาก หากจะผิดแผกบ้างคงเป็นในรายละเอียดเฉพาะ แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนคือ สถาบันกษัตริย์ยังเป็นสถาบันที่รวมใจคนไทยได้จริง

และถ้ายิ่งในช่วงของความสับสน และไม่แน่นอนใดๆ แล้ว ประชาชนยังอุ่นใจได้ว่าเรามีสถาบันกษัตริย์เป็นที่พึ่งอยู่

สำหรับการได้ร่วมรับเสด็จในครั้งที่ 2 ของพลอยนั้น ก็เป็นการรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 เช่นเดิม แต่ครั้งนี้เป็นเมื่อเวลาห่างมาถึง 7 ปี ในหลวงเสด็จกลับจากศึกษาในต่างประเทศ นิวัติกลับมาประเทศไทยครั้งนี้ก็ทรงเจริญพระชนมพรรษาสู่รุ่นหนุ่มต่างจากครั้งก่อนแล้ว

 

… “เวลานั้นยังเช้าอยู่มาก แต่พลอยก็สังเกตเห็นได้แล้วว่าประชาราษฎรที่มาคอยรับเสด็จในวันนั้นมากมายผิดปกติ และมากกว่าวันที่ได้เห็นเมื่อตอนเสด็จฯ กลับครั้งแรก คนทุกอายุทุกวัยและทุกฐานะ ดูเหมือนจะมารวมกันอยู่ในวันนั้น ด้วยวัตถุประสงค์อันเดียวกันคือคอยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรง

เป็นประมุขของชาติอันแท้จริง”

“เสียงชโยดังขึ้นทุกที ในที่สุดก็ดังกลบก้องแก้วหูปานแผ่นดินจะถล่มทลาย…ทันใดนั้นพลอยก็ต้องยกมือทั้งสองกุมที่หน้าอกเหมือนกับจะป้องกันมิให้หัวใจเต้นแรงจนหลุดออกมาข้างนอก เพราะพลอยได้เห็นพระองค์พระเจ้าอยู่หัวถนัดชัดเจนประทับอยู่บนรถพระที่นั่ง อันมีสมเด็จพระอนุชาประทับอยู่เคียงข้าง ทรงโบกพระหัตถ์กับพสกนิกร ทรงยิ้มน้อยๆ และในแววพระเนตรเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาอย่างที่คนไทยยุคนี้มิได้เคยประสบพบเห็นมาก่อน”

 

นั่นเป็นการได้เฝ้าฯ รับเสด็จอีกครั้งหนึ่งของพลอย และเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ชีวิตของพลอยจะจบสิ้นลงในเวลาต่อมา

ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะมีคนที่รู้สึกอย่างแม่พลอยจำนวนมากทีเดียว ที่เฝ้าอดทนรอรับเสด็จอย่างตั้งใจมุ่งมั่น และเพียงขบวนเสด็จผ่านหน้าไปในเวลาไม่กี่นาที แต่ความรู้สึกแห่งความสุขล้นเหลือก็ถาโถมเข้ามาแทนที่ และในใจก็เหมือนมีแสงเรืองรองแห่งความหวังฉาดฉายอยู่

ขอจงทรงพระเจริญ