จิตต์สุภา ฉิน : Apple กับภารกิจรักษาข้อมูลส่วนตัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การที่เรามีชีวิตเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่งใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่โต๊ะ หรือเล่นสมาร์ตโฟนในระหว่างเดินทางไปไหนมาไหน ก็ทำให้ความเป็นส่วนตัวของเราถูกลิดรอนให้น้อยลงทุกทีๆ

ข้อมูลส่วนตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นชื่อ อีเมล วันเกิด ไปจนถึงข้อมูลสถานที่อยู่ตามเวลาจริง สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ ความสนใจ และอื่นๆ อีกมากมายไม่ถูกเก็บเป็นความลับอีกต่อไป

ดูเหมือนกับว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google หรือ Facebook จะล่วงรู้ลักษณะนิสัยความเป็นไปในชีวิตของเราอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ดีไม่ดีอาจจะรู้เยอะกว่าคนในครอบครัวของเราอีก

อย่างไรก็ตาม มีอยู่บริษัทหนึ่งที่ทำหน้าที่เรื่องการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้ดีมาก และยังไม่เคยต้องประสบวิกฤตความศรัทธาสั่นคลอนแบบที่บริษัทอื่น อย่าง Facebook ที่เคยต้องชี้แจงต่อรัฐสภามาหลายครั้ง

หรือ Google ที่ถูกสื่อเปิดโปงอยู่บ่อยๆ ว่านำข้อมูลส่วนตัวมาใช้อำนวยความสะดวกในการให้บริการ

บริษัทนั้นก็คือ Apple ที่เรามักจะบ่นกันว่า “ขายของแพงเหลือเกิน” นั่นเอง

 

อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าลักษณะธุรกิจของ Apple กับ Facebook และ Google นั้นไม่เหมือนกัน

สองบริษัทหลังเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าทำธุรกิจโฆษณา ดังนั้น การจะทำให้โฆษณาของลูกค้าส่งตรงไปถึงผู้บริโภคที่ถูกกลุ่ม ถูกความสนใจ Facebook และ Google จึงต้องเก็บข้อมูลของผู้ใช้มากเป็นพิเศษ เพราะนี่คือบ่อเงินบ่อทองของบริษัท

เหมือนกับที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยชี้แจงต่อรัฐสภามาแล้วว่า Facebook ทำธุรกิจด้านโฆษณา และการจะทำให้โฆษณาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็ต้องคัดเลือกโฆษณาให้ตรงกับความชอบของผู้บริโภคมากที่สุด

และทั้งหมดก็อยู่ในข้อตกลงที่ผู้ใช้ได้ให้ความยินยอมก่อนใช้งานไปแล้ว

สิ่งที่ทำให้เราได้รู้ว่าสองบริษัทนี้ (และบริษัทอื่นๆ ด้วย) ตามเก็บข้อมูลของเราอย่างละเอียดทุกเม็ด ก็อย่างเช่น เวลาที่เราใช้เว็บเบราเซอร์ค้นหาสินค้าอะไรสักอย่างที่เราอยากจะซื้อ อาจจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์ออกกำลังกาย ตั๋วเครื่องบิน หรือโรงแรมที่เราสนใจจะเข้าพัก แล้วจู่ๆ พอกลับเข้ามาใช้งานเฟซบุ๊ก สิ่งเดียวกันที่เราเพิ่งจะดูไปก็มาปรากฏหลาตอกย้ำยั่วกิเลสให้เราคลิกกลับไปซื้อได้ง่ายๆ

โลเกชั่นของเรา อย่างเวลาที่เราเดินทางไปต่างประเทศ แล้ว Facebook แนะนำร้านอาหารในละแวกนั้นให้เราได้ลอง

ยังไม่นับเรื่องชวนขนลุกอย่างการที่คนจำนวนไม่น้อยเริ่มสังเกตว่า ถ้าหากเราพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แม้ว่าเราจะไม่เคยลงมือเสิร์ชหาด้วยตัวเองมาก่อน แต่จู่ๆ ก็กลับมาปรากฏเป็นโฆษณาอยู่บนหน้าฟีดเฟซบุ๊กให้เราตกใจเล่นว่ามันอ่านใจเราได้อย่างไร

จากตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็น่าจะทำให้เห็นได้ชัดถึงวิธีทำธุรกิจของบริษัททั้งสองแห่งว่าตั้งอยู่บนการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด

 

ต่อมา เรามาดูที่ Apple กันค่ะว่าแตกต่างกันอย่างไร

Apple ไม่ได้ทำธุรกิจโฆษณา ดังนั้น ด้วยธรรมชาติของการทำธุรกิจแล้วจึงแตกต่างจาก Facebook และ Google อย่างชัดเจน

ธุรกิจของ Apple คือการขายอุปกรณ์และบริการ พันธกิจของ Apple จึงแตกต่างตรงที่จะต้องเป็นบริษัทที่รักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

มิเช่นนั้นแล้วคงไม่มีใครกล้าซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple จนทำให้นี่กลายเป็นจุดแข็งของบริษัทไปเลย

สิ่งที่ Apple ทำเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ เรียกว่า On Device Intelligence สิ่งนี้ก็คือการประมวลผลข้อมูลส่วนตัวภายในตัวเครื่อง

นั่นแปลว่า ข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ลายนิ้วมือ ใบหน้าที่เราใช้สแกนปลดล็อก ข้อมูลรูปถ่าย แผนที่ ชื่อผู้ติดต่อ ข้อความต่างๆ การสั่งงาน Siri หรือเสียงเรียก Siri ทั้งหมดจะถูกเก็บไว้เพื่อประมวลผล “ภายในเครื่อง” ชนิดที่ไม่มีส่งออกไปที่ไหน เทียบกับการทำงานโดยทั่วไปที่นิยมกัน ก็คือการส่งข้อมูลไปประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์หรือคลาวด์ที่ทรงพลังกว่าและประมวลผลได้เร็วกว่ามาก

การประมวลผลภายในตัวเครื่องจึงมักจะทำได้ช้าและต้องอาศัยชิพพลังสูง Apple จึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบและสร้างชิพที่รองรับการทำงานแบบนี้โดยเฉพาะ เรียกว่า Neural Engine ซึ่งใช้ใน iPhone มาสักระยะแล้ว

ข้อดีก็คือ ข้อมูลของผู้ใช้ปลอดภัย เพราะไม่ต้องถูกส่งออกไปไหน ในขณะเดียวกันชิพตัวนี้ก็ทำหน้าที่ประมวลได้ดีจนผู้ใช้ไม่เกิดความรู้สึกหงุดหงิด และยังได้ใช้บริการต่างๆ ที่จำเป็น อย่างการแนะนำรูปภาพ สถานที่ แผนที่ แบบที่ไม่มีอะไรตกหล่นขาดหายไป

แต่ข้อเสียก็อาจจะเกิดขึ้นตอนที่เราต้องการเปลี่ยน iPhone เครื่องใหม่ ที่จะต้องเสียเวลาไปกับการบันทึกข้อมูลทางชีวภาพใหม่ทั้งหมด ทั้งลายนิ้วมือ ใบหน้า เสียงเรียก Siri ฯลฯ

 

นอกจากเรื่องการประมวลผลภายในเครื่องแล้ว อีกสิ่งที่ Apple ทำ คือการไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวเข้ากับบัญชีผู้ใช้งาน

ตัวอย่างที่สังเกตได้ชัดก็คือเวลาเราใช้ Safari ซึ่งเป็นเว็บเบราเซอร์ของ Apple เราไม่จำเป็นต้องลงชื่อเข้าใช้งานเลย ดังนั้น ประวัติการค้นหา สิ่งต่างๆ ที่เราทำบนเบราเซอร์ก็จะไม่ถูกเชื่อมโยงเข้ามาหาเราด้วย

เช่นเดียวกับแอพพ์แผนที่ Maps ที่ไม่จำเป็นต้องลงชื่อเข้าใช้งาน แต่ยังสามารถใช้ฟีเจอร์อย่างการที่ iPhone จะเตือนเราให้ออกจากบ้านได้แล้วถ้าต้องการจะไปนัดหมายให้ทัน เพราะข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บเอาไว้ในเครื่องของเราเอง หรือข้อมูลต่างๆ ที่ Maps เก็บจากการใช้งานแอพพ์ อย่างเช่น สถานที่ที่เราค้นหา เส้นทางการเดินทาง หรือข้อมูลการจราจร ก็จะถูกเก็บไปในรูปแบบนิรนาม คือไม่เอาไปเชื่อมโยงเข้ากับ Apple ID ของเรา เรื่องนี้ Apple ค่อนข้างซีเรียส เพราะสถานที่อยู่ของผู้ใช้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความปลอดภัยส่วนบุคคลได้โดยตรงเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า end-to-end encryption มาบ้าง ในช่วงที่คนไทยตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบด้านการปกครองประเทศ

นี่ก็คืออีกสิ่งที่ Apple ใช้ในการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลค่ะ end-to-end encryption

คือการที่ข้อความทั้งหมดที่เราสร้างขึ้นถูกเข้ารหัสเพื่อส่งต่อไปให้คนที่เราต้องการให้ได้รับ มีเพียงแค่ปลายทางเท่านั้นที่จะสามารถอ่านรหัสที่ว่านี้ได้ หากข้อความเกิดหลุดรั่วไหลออกไปในระหว่างทาง ก็จะไม่มีใครสามารถอ่านได้เลย

ซึ่งข้อความที่ว่านี้ก็ยังรวมถึงรูปภาพ วิดีโอ และไฟล์ด้วย

 

ปิดท้ายด้วยระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับการล็อกเครื่อง iPhone กันค่ะ

นอกจากการใช้ลายนิ้วมือและใบหน้าสแกนเพื่อปลดล็อกโดยที่ข้อมูลลายนิ้วมือและใบหน้าจะถูกเก็บเอาไว้ในเครื่องโดยไม่ส่งออกไปที่อื่นแล้ว

การเดาพาสโค้ดหรือรหัสผ่านก็ถูกป้องกันเอาไว้ด้วย Apple กำหนดจำนวนครั้งของการใส่รหัสผิดเอาไว้ หากใส่รหัสผิดเกินโทรศัพท์ก็จะถูกล็อกนานขึ้นเรื่อยๆ

หรือเจ้าของสามารถตั้งค่าเองได้ว่า ถ้าใส่ผิดสัก 10 ครั้ง ให้เครื่องลบข้อมูลทั้งหมดในเครื่องไปเลยก็ได้

นี่จึงเป็นที่มาของการที่ Apple เคยงัดข้อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐมาแล้ว เพราะบริษัทยืนยันที่จะไม่ช่วยตำรวจปลดล็อก iPhone 5C ของผู้ก่อเหตุร้ายในซาน เบอร์นาร์ดิโน แม้จะสร้างความหงุดหงิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

แต่ก็เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ใช้ทั่วไปว่าบริษัทยืนหยัดที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้เราจนถึงหยดสุดท้าย

แน่นอนว่า Apple ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์และอาจจะยังมีช่องโหว่ในอีกหลายๆ เรื่องให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ ก็นับว่าบริษัทจัดการเรื่องนี้ได้ดีมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ตัวผู้ใช้เองอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของการรักษาข้อมูลของตัวเองไว้เป็นส่วนตัวเสียด้วยซ้ำ

และนี่อาจจะช่วยตอบคำถาม “บางส่วน” ได้ว่า

เพราะอะไรผลิตภัณฑ์ของ Apple จึงมีราคาที่ไม่ธรรมดาเลย