วิรัตน์ แสงทองคำ : พิชญ์ โพธารามิก (3)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราวสองพ่อลูก อดิศัย-พิชญ์ โพธารามิก แห่งกลุ่มจัสมินฯ แม้เป็นภาพต่อเนื่อง ทว่า จุดตั้งต้น แตกต่างกันทั้งเรื่องราวและบริบท

อดิศัย โพธารามิก ทำงานในรัฐวิสาหกิจ (องค์การโทรศัพท์ฯ ปัจจุบันคือ บริษัท ทีโอที จำกัด) นานเกือบ 2 ทศวรรษ ในยุคสงครามเวียดนาม เป็นยุคสังคมไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลสหรัฐอย่างมากๆ ซึ่งเป็นทั้งที่ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ศึกษาวิชาการด้านสื่อสารสมัยใหม่เพิ่มเติมจากโลกตะวันตก (ศึกษาปริญญาโท-เอก ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐ) และได้สะสมประสบการณ์สำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงในการก่อร่างสร้างกิจการส่วนตัว (entrepreneurship) ในเวลาต่อมา ในฐานะผู้ประกอบการยุคใหม่ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถสะสมความมังคั่งได้มากกว่าและเร็วกว่า รุ่นดั้งเดิมซึ่งเติบโตช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ส่วน พิชญ์ โพธารามิก เติบโตเข้าสู่วัยศึกษาเล่าเรียนในยุคเศรษฐกิจไทยช่วงที่ดีช่วงยาวนานช่วงหนึ่ง

สังคมธุรกิจไทยเวลานั้น เปิดกว้าง ต้อนรับความหลากหลาย อันเนื่องมาจากกระแสการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการเข้ามาของอิทธิพลดั้งเดิม จากระบบอาณานิคมเก่าอย่างสหราชอาณาจักร ซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคอาณานิคม ได้หวนกลับมาอีกครั้ง

สังคมธุรกิจไทยได้ต้อนรับธุรกิจสหราชอาณาจักร ทยอยกันเข้ามาอย่างเป็นขบวน ตั้งแต่ช่วงที่ดีต่อเนื่องกับช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 แต่ก็เป็นโอกาส ตั้งแต่ ธุรกิจประกันชีวิต (Prudential) ธนาคาร (Standard Chartered) ค้าปลีก (Tesco) สินค้าสุขภาพและความงาม (Boots) ไปจนถึงโรงเรียนมัธยม (Dulwich-ต่อมาถอนตัว Shrewsbury และ Bromsgrove)

พร้อมๆ กับกระแสหนึ่งเกี่ยวกับผู้คนอิทธิพลในสังคม หลายคนอาจมองข้าม แต่ผมเชื่อว่า เป็นอีกมิติหนึ่งที่ควรสนใจและควรบันทึกไว้ นั่นคือ กระแสส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนประจำ (Boarding School) สหราชอาณาจักร ดูเหมือนจะเริ่มต้นอีกครั้ง

พิชญ์ โพธารามิก เป็นหนึ่งในนั้น

ว่ากันว่าเขาไปเข้าโรงเรียนประจำที่นั่นตั้งแต่อายุ 11 ปี หากเป็นเช่นนั้น เป็นช่วงเดียวกับบิดาของเขา (อดิศัย โพธารามิก) กำลังเริ่มต้นธุรกิจในนามจัสมิน

เขาใช้ชีวิตศึกษาหาความรู้นานนับ 10 ปี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีด้านบริหาร (BSc. Management) จาก London School of Economics and Political Science (LSE)

ผมเคยนำเสนอมาบ้างว่า London School of Economics and Political Science (LSE) คือสถาบันการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ชั้นนำของโลกแห่งอังกฤษ

ได้ผลิตนักเศรษฐศาสตร์ไทยทรงอิทธิพลมาแล้วหลายคน โดยเฉพาะพวกเขามีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจในยุคสงครามเวียดนาม ได้แก่ บุญมา วงศ์สวรรค์ (ปลัดกระทรวงการคลัง 2508-2516 รัฐมนตรีคลัง 2516-2517 และผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย 2517-2519) ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2502-2514 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2507-2515) และ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2514-2518)

เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเช่นกัน ในอีก 4 ทศวรรษต่อมา โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ผู้ผ่านการศึกษา LSE จำนวนหนึ่ง มีบทบาทที่แตกต่างไป มักเกี่ยวข้องสังคมธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดการเงินและตลาดหุ้น

เรื่องราวของพวกเขาบางคน ควรกล่าวถึงเทียบเคียงกับ พิชญ์ โพธารามิก ด้วย

ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ บุตรชาย ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ (ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ Erasmus University Rotterdam ทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย 12 ปี ก่อนมาเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ และรัฐมนตรี) ถือเป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นหลัง พิชญ์ โพธารามิก

ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ LSE เข้าทำงานมีบทบาทโดดเด่นในแวดวงธนาคาร การเงินและตลาดหุ้น ในองค์กรธุรกิจชั้นนำของโลก ทั้งในอังกฤษ และประเทศไทย ไม่ว่า Merrill Lynch, ABNAmro, Deutsche Bank จนมาปักหลักที่ CLSA (Credit Lyonnais Securities Asia) ดูแลการตลาดนักลงทุนภูมิภาคเอเชียในฮ่องกง

ก่อนจะมาเป็นผู้บริหารในเมืองไทย (กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ ประเทศไทย)

อีกคนหนึ่ง เรื่องราวส่วนตัวของเขามีไม่มาก แต่น่าสนใจมากๆ–ฉาย บุนนาค เป็นบุตรชาย โฉมพิศ บุนนาค (มารดา) อดีตผู้บริหารกลุ่มเอกธนกิจ กับ ยุทธ ชินสุภัคกุล (บิดา) อดีตผู้บริหารกลุ่มพีเอสเอ (ปัจจุบันคือผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก หรือ EPCO ชื่อในตลาดหุ้น)

ว่ากันว่า ฉาย บุนนาค จบการศึกษาด้านการเงิน (BSc Finance) LSE หลังจากผ่านประสบการณ์ทำงานในองค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียงด้านการเงินและตลาดหุ้นช่วงสั้นๆ เขาได้ออกมาเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเต็มตัว

บทบาทในฐานะนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยของเขา ทั้งโลดโผน และอื้อฉาวในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้พิจารณาจากกรณีความขัดแย้งที่ดุเดือดเข้มข้น ระหว่างบริษัทโซลูชั่นคอนเนอร์ กับกลุ่มเนชั่น

ว่าไปแล้ว พิชญ์ โพธารามิก มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างเข้มข้นเช่นกัน (จะกล่าวในตอนต่อๆ ไป)

พิชญ์ โพธารามิก ผ่านการศึกษามาประหนึ่งเตรียมตัวมารับช่วงสืบต่อจากบิดา ตามธรรมเนียมครอบครัวธุรกิจไทย ทว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและจัสมินฯ อย่างแท้จริง

ในช่วงต้นปี 2540 อดิศัย โพธารามิก ตัดสินใจลาออกจากประธานกรรมการบริหารบริษัทสำคัญ 2 แห่ง เปิดให้บุคคลที่เรียกกันว่ามืออาชีพเข้ามาบริหารแทน

เริ่มต้นจาก ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ (บริษัท ทีทีแอนด์ที) และ ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ (จัสมินฯ) เป็นช่วงเวลาแห่งการแก้ปัญหาครั้งสำคัญ ต่อมาทั้ง ทีทีแอนด์ที และจัสมินฯ ได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ น่าเสียดาย ทีทีแอนด์ที หลังจากผ่านช่วงฟื้นฟู (2551-2556) ไปอย่างไม่ราบรื่น ในที่สุดต้องเผชิญภาวะล้มละลาย ขณะที่จัสมินฯ ผ่านช่วงนั้น (2546-2550) มาได้ สามารถเข้าสู่ยุคใหม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในช่วง อดิศัย โพธารามิก ลดบทบาทตนเองลงในฐานะผู้บริหารทางธุรกิจ ว่ากันว่าแท้จริงแล้ว เพื่อมายืนอยู่ “ข้างหลัง” อย่างมียุทธศาสตร์ จากนั้นไม่นานเขาได้ก้าวมามีบทบาททางการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องประมาณ 5 ปี

เริ่มต้นในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ช่วงสั้นๆ (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 14 มิถุนายน-21 พฤศจิกายน 2543) ก่อนเข้าสู่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อย่างมั่นคง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2544-2546 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2546-2548) บางคนเชื่อว่า นั่นเป็นภาพสะท้อน “อิทธิพลทุนสื่อสาร” ในมิติที่กว้างขึ้น

ในช่วงเวลานั้น นอกจาก พิชญ์ โพธารามิก ไม่เพียงกลายเป็นทายาทธุรกิจ ผู้มีสินทรัพย์นับพันล้านบาท เนื่องด้วยกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จัสมินฯ แทนบิดาแล้วเท่านั้น เขายังได้เริ่มต้นธุรกิจตนเองในฐานะผู้ประกอบการหนุ่มที่สุดคนหนึ่ง ด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี นับเป็นเรื่องที่แตกต่างอย่างมากจากบิดาของเขาในช่วงทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งกว่าจะเริ่มต้นธุรกิจได้ ก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

นั่นเป็นโมเดลและบทเรียนสำคัญกรณีหนึ่งที่แตกต่างและน่าสนใจ ว่าด้วยธุรกิจครอบครัวไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน

–กรณี อดิศัย-พิชญ์ โพธารามิก แตกต่างจากครอบครัวธุรกิจไทยรายอื่นๆ อย่างมาก ในขณะที่ทายาทธุรกิจครอบครัวทั่วไป มักเข้าทำงานในเครือข่ายกิจการระดับโลกช่วงสั้นๆ ก่อนมารับช่วงกิจการ แต่กรณี พิชญ์ โพธารามิก ใช้เวลาสร้างอาณาจักรธุรกิจตนเองนานถึงหนึ่งทศวรรษเต็ม ก่อนจะเข้ารับช่วงบริหารอย่างเต็มตัวในกิจการดั้งเดิมของบิดา แม้ว่ามีความเป็นไปได้ว่ามาจากข้อจำกัด ในช่วงเวลาจัสมินฯ ต้องใช้เวลาฟื้นฟูกิจการ กลับถือเป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆ

–บทเรียนการเริ่มต้นและการบริหารธุรกิจตนเองในช่วงเวลายาวนานพอสมควร เป็นประสบการณ์สำคัญ ซึ่งสามารถส่งผ่านมาสู่การบริหารกิจการดั้งเดิม โดยเฉพาะในประเด็นการปรับตัวทางธุรกิจ นำพากลุ่มจัสมินฯ เข้าสู่ยุคใหม่ ในฐานะผู้นำระบบสื่อสารยุคผู้บริโภคในฐานะปัจเจก มีความสัมพันธ์กับระบบเทคโนโลยี และสื่อสารสมัยใหม่อย่างแยกไม่ออก อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผมเคยเสนอไว้เช่นกันว่า ยุคหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 เป็นช่วงเวลาวิถีชีวิตปัจเจกสมัยใหม่เติบโต แม้ธุรกิจทั่วไปเผชิญวิกฤตการบริหาร แต่มีบางธุรกิจเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะค้าปลีก ที่เรียกว่า Modern trade ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

เรื่องราวของกลุ่มโมโน (โปรดอ่าน ทศวรรษแรก กลุ่มโมโน ประกอบ) ในช่วงแรกๆ เดินทางมากับปรากฏการณ์ข้างต้น ก่อนจะมาบรรจบในบางมิติ กับธุรกิจดั้งเดิม ในช่วงเวลา พิชญ์ โพธารามิก วัย 36 ปี ในปี 2551 เข้าบริหารกลุ่มจัสมินฯ เต็มตัว

จะขอขยายความในตอนต่อไป

ทศวรรษแรก (2542-2552) กลุ่มโมโน

2542 สู่ธุรกิจบันเทิง เปิดธุรกิจโมเดลลิ่งในรูปแบบ Talent Agency จัดหานายแบบ นางแบบ ดารา นักแสดง

2543 เข้าสู่ธุรกิจออนไลน์

2544 เข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เปิดตัวนิตยสารฉบับแรก Mono Magazine

2545 จัดตั้ง บริษัท โมโน เทคโนโลยี การดำเนินธุรกิจให้บริการด้านเนื้อหาและความบันเทิง (Content Provider) ผ่านสื่อมัลติมีเดีย โทรศัพท์พื้นฐาน, โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ต และกลุ่มธุรกิจอินเตอร์เน็ต–www.mthai.com

2547 สู่ธุรกิจภาพยนตร์ การผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศในแนว Action, Fantasy, Adventure

2549 สู่ธุรกิจท่องเที่ยว

2551 เข้าสู่ธุรกิจเพลง เปิดตัวค่ายเพลงน้องใหม่

2552 โมโนกรุ๊ป ฉลองครบรอบ 10 ปี “Mono Group 10th Anniversary”