เปิดฉากศึกเลือกตั้ง กทม. “เพื่อไทย” ปะทะเดือด “พลังประชารัฐ” ได้เวลา “ชัชชาติ” ลงสนาม

เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่า ประเทศที่เจริญแล้ว แทบไม่มีประเทศไหนเลยที่รวมอำนาจการพัฒนาและการตัดสินใจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง เรื่องนี้เป็นหลักการที่เห็นตรงกันไม่ใช่แต่ในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่รัฐรวมศูนย์เข้มแข็งอย่างประเทศคอมมิวนิสต์เช่นจีน ก็ยังต้องกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปให้ท้องถิ่น ให้ดูแลในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน การส่งเสริมอาชีพ การให้บริการด้านสาธารณูปโภค

เพราะมันเป็นหลักที่ว่า รัฐราชการส่วนกลาง คงไม่เข้าใจความต้องการและปัญหาดีกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นั่นเอง

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามามีอำนาจ การเมืองท้องถิ่นของไทยก็ถูกแช่แข็ง ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โครงสร้างอำนาจท้องถิ่น ดำรงอยู่เพียงเพื่อรองรับการใช้อำนาจจากส่วนกลาง มิหนำซ้ำยังมีการออกแบบกฎหมายท้องถิ่นใหม่ ที่สะท้อนลักษณะกลไกรัฐส่วนกลางครอบงำ

มากกว่านั้น ในมิติการเมือง ตามที่เป็นข่าว ยังมีการดึง ต่อรอง เจรจากับผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพลในท้องถิ่น เข้ามารับใช้พรรคการเมืองระดับชาติ เพื่อทำตามยุทธศาสตร์ของผู้มีอำนาจอีกด้วย

สังเกตการหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชาติ ฯลฯ ต่างยกเรื่องกระจายอำนาจมาเป็นนโยบายหลักกันทั้งนั้น ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเรามีรัฐราชการจากส่วนกลางที่ใหญ่เกินไป อันเป็นมรดกการปกครองที่อยู่กับเรามานับร้อยปี ความหวงอำนาจจากส่วนกลางนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการถ่วงรั้งการพัฒนาในพื้นที่

แถมยังมาเจอวิกฤตการเมือง การแช่แข็งทางอำนาจท้องถิ่นของ คสช. และการปฏิรูปปรับปรุงกฎหมายท้องถิ่นอีกหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ที่ต่างถูกวิจารณ์อย่างมาก ว่าเป็นความพยายามสอดแทรกข้อกฎหมาย เพื่อดึงอำนาจกลับส่วนกลาง เช่น อำนาจงบประมาณ อำนาจบริหารบุคคล แต่ก็ถูกประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562

และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงกลางปีนี้

พลันที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ประกาศพรรคจะลงสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น ก็สร้างเสียงฮือฮาอย่างมาก เพราะแม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ก็สามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับชาติ มีคนเลือกกว่า 6.2 ล้านคน ได้จำนวน ส.ส.เขตกว่า 30 เขต และได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์มากเป็นอันดับ 1 มากกว่า 50 คน

เมื่อพุ่งเป้ามาที่การเมืองท้องถิ่น จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะท้องถิ่นคือรูปแบบการปกครองที่มีงบประมาณเป็นของตัวเอง จับต้องได้จริง เปลี่ยนแปลงได้จริง การสู้ในระดับการเมืองท้องถิ่น ก็เท่ากับเป็นความพยายามขยายเครือข่ายหรือวิธีคิดแบบพรรคอนาคตใหม่ไปด้วย แน่นอนว่าวิธีคิดดังกล่าวเป็นชุดความคิดตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจเดิม หรือรัฐราชการรวมศูนย์

หากใครติดตามการเมือง หรือฟังการปราศรัยของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะนายธนาธรและนายปิยบุตร จะพบว่าเวลาทั้งสองคนพูดเรื่องท้องถิ่น ไม่ใช่การพูดโดยท่องทฤษฎีกระจายอำนาจ แต่ทุกครั้งที่พูดจะสามารถยกตัวอย่างเมือง ท้องถิ่นที่พัฒนาทั้งไทยและต่างประเทศขึ้นมาเปรียบเทียบโดยละเอียด รวมถึงขณะหาเสียงช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ก็ได้ลงไปสัมผัสปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นี่จึงเป็นการจุดประกายทางความคิดครั้งใหญ่ในเรื่องท้องถิ่น ไม่เหมือนกับที่เคยพูดกันมาแล้วในอดีต

นอกจากนี้อย่าลืมว่า แม้จะตั้งพรรคได้เพียงไม่นาน แต่อนาคตใหม่กำลังสร้างระบบพรรคมวลชน ที่ตอนนี้มียอดสมาชิกแล้วกว่าครึ่งแสน มีการจัดตั้งสาขาพรรคสำเร็จทั้ง 77 จังหวัด และทุกสาขาพรรคก็มีคณะทำงานครบครัน นี่จึงน่าจับตา เพราะการสู้ศึกท้องถิ่น ไม่ใช่แค่เข้าไปมีอำนาจ แต่ยังมีการพยายามสร้างฐานทางการเมืองด้วย

“เราจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น เหมือนที่เขย่าการเมืองในประเทศ ผู้สมัครของอนาคตใหม่จะเดินเข้าไปบอกประชาชนว่าอีก 10 ปีท้องถิ่นจะได้แบ่งปันงบฯ เท่าใด จะพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างไร เราจะเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นด้วยนโยบายที่ดี แบบที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำกันมาก่อน หากทำได้ก็จะเปลี่ยนรูปแบบการท้องถิ่นที่เคยมีเพียงคนในครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ส่วน ส.ส.เราจะช่วยกันผลักดันการกระจายอำนาจส่วนกลางสู่ท้องถิ่นเพื่อให้พัฒนาท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยกินได้จริง สร้างประชาธิปไตยให้ใกล้ประชาชนที่สุดในระดับท้องถิ่น”

ธนาธรระบุ

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้เป็นการเขย่าครั้งใหญ่ หากรวม อบจ.ทั้ง 76 แห่ง เทศบาล 2,442 แห่ง และ อบต. 5,332 แห่ง รวมกับการเลือกตั้ง อปท.รูปแบบพิเศษ ทั้ง กทม.และเมืองพัทยา จะมี อปท.ทยอยเลือกกันทั้งหมด 7,852 แห่ง

ที่น่าจับตาคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ครองตำแหน่งผู้ว่าฯ มานาน ถึงที่สุดแล้วการเมืองท้องถิ่นอย่างกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองระดับชาติได้ หากย้อนดูคะแนนผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่จริงคะแนนของฝั่งตรงข้ามประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้น้อย การเลือกตั้งในปี 2556 คะแนนของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทย ก็ได้คะแนนกว่า 1.1 ล้านคน ห่างจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ราว 1.2 ล้านคน

มาวันนี้ในปี 2562 ความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งเปลี่ยนแปลงไป ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคที่ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 1 ในกรุงเทพฯ กลับกลายเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้คะแนนมากกว่า 8 แสนคะแนน รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ ที่ 7 แสนกว่าคะแนน ขณะที่คู่แข่งตลอดกาลของประชาธิปัตย์อย่างเพื่อไทย ก็ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 3 กว่า 6 แสนคะแนน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ร่วงลงมาเป็นอันดับ 4 และไม่ได้ ส.ส.เขตเลยแม้แต่คนเดียว สื่อมวลชนต่างใช้คำว่าประชาธิปัตย์สูญพันธุ์แล้วในพื้นที่ กทม.

นี่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่การแข่งขันทางการเมืองในกรุงเทพฯ ไม่ได้ถูกผูกขาด แต่มีพลวัตและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ ถูกผูกขาดอยู่ฝั่งเดียวมานาน

ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทย แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกับพรรคอนาคตใหม่ แต่ก็มีปัญหาเรื่องบุคลากรและโครงสร้างการจัดการอื่นๆ ทำให้การเลือกตั้งล่าสุดสูญเสียฐานเสียงไปเยอะให้กับอนาคตใหม่ ล่าสุดพยายามแก้เกม ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น กทม. โดยแกนนำของพรรคมีมติ ที่เห็นตรงกันว่า น่าจะส่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงชิงชัยในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

ขณะที่เจ้าตัวเองเคยให้สัมภาษณ์ช่วงที่ต้องชี้แจงว่า เหตุใดจึงไม่มีชื่อปาร์ตี้ลิสต์ เพราะชอบงานบริหาร ไม่ถนัดงานนิติบัญญัติ และเปรยว่าอยากลงผู้ว่าฯ กทม.มาก่อนแล้ว

ขณะที่ทางฝั่งอนาคตใหม่เองยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งใคร เรื่องนี้ทำให้เพื่อไทยค่อนข้างมั่นใจว่าจะคว้าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ

ก้าวขยับของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ นับว่าเป็นปรากฏการณ์รุกหนักการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะการส่งนายชัชชาติมาลงชิงชัย ซึ่งนายชัชชาติเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม ชนชั้นกลางให้การยอมรับมาตั้งแต่ร่วมรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ขณะที่ทางฟากของพลังประชารัฐ ในเรื่องการเมืองท้องถิ่นนั้น ค่อนข้างขยับในเชิงรายละเอียดไม่มากนัก แต่อย่าลืมว่าพลังประชารัฐดึงคนท้องถิ่นและเครือข่ายจำนวนมากของนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปช่วยในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก หลายคนชนะเลือกตั้ง ขณะที่อีกหลายคนแม้จะแพ้เลือกตั้ง ก็สามารถลงมาสู้ศึกเลือกตั้งเล็กได้อีกครั้ง เรื่องนี้จึงประมาทไม่ได้

การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะการเมืองท้องถิ่นของไทยถูกแช่แข็งมาเป็นเวลานาน ที่สำคัญ การเมืองท้องถิ่นคือการเข้ามามีอำนาจจัดสรรทรัพยากรได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาจึงมีการแข่งขันค่อนข้างสูง การที่พรรคอนาคตใหม่ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับสามของประเทศ ประกาศสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นโดยจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น ให้มีมิติการแข่งขันในเชิงอุดมการณ์ การต่อสู้ทางความคิดมากขึ้น ยิ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ แหลมคม น่าจับตา

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะถึงนี้ ในหลายพื้นที่จึงเป็นนัดล้างตาครั้งสำคัญ โดยเฉพาะระหว่างสองพรรคใหญ่คือเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ท่ามกลางบริบทการเมืองที่ คสช.เป็นใหญ่และวางกติกาไว้ก่อน โดยมีประชาธิปัตย์และอนาคตใหม่สอดแทรกเข้ามา

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จึงเป็นก้าวแรกของการคืนอำนาจให้ประชาชน แม้จะคืนภายใต้กติกาที่หลายฝ่ายตั้งคำถามอย่างหนัก แต่ก็ดีกว่าแช่แข็งอยู่อย่างเดิม