E-DUANG : สถานการณ์ หลัง 24 มีนาคม เสียงเพรียกหา “รัฐประหาร”

ทั้งๆที่อำนาจการควบคุมทางการเมืองยังอยู่ในมือของคสช. ทั้งๆที่ นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาคสช.มีบท บาทเป็นอย่างสูงในการจัดแถวกองทัพ

แต่ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนนับแต่การเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม เป็นต้นมา

ได้มี “ข้อเสนอ” เกิดขึ้นมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอว่าด้วย”รัฐบาลแห่งชาติ”กระทั่งแปรไปเป็น “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ”

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอว่าด้วย “ปิดสวิตช์ ส.ว.”

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้ตัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกไปจากวงจรแห่งอำนาจ

แต่ไม่มีเสียงเพรียกหา”รัฐประหาร”ดังขึ้น

 

ต้องยอมรับว่าผลสะเทือนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมส่ง ผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งในการปะทะและประลองกำลังระหว่างฝ่ายการเมืองกับคสช.

เพียงเสนอคำว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” ก็ท้าทายอย่างตรงตัวไปยังพรรคพลังประชารัฐแล้ว

นี่ยังมีความพยายามที่จะตัดบุคคลสำคัญระดับ พล.อ.ประ วิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มิให้มีตำแหน่งใดๆในครม.

เท่านั้นยังไม่พอยังเสนอให้”ปิดสวิตช์ ส.ว.”เท่ากับท้าทายต่อคสช.ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และท้าทายต่อรัฐธรรมนูญ

แต่ยังไม่มีเสียงเพรียกหา”รัฐประหาร”จากกองเชียร์

ไม่ว่าจะมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมาจากมวลมหาประชาชนภายใต้ร่มธงของกปปส. ก็เงียบกริบนิ่งสนิทอยู่ในที่ตั้ง

หรือว่า “รัฐประหาร”จะล้าสมัยแล้วในยุคของคสช.

 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมกำลังเป็นจุดตัดและเส้นแบ่งสำคัญในทางการเมือง ผลที่เห็นอย่างเด่นชัดหนึ่งก็คืออำนาจของคสช.ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ไม่เหมือนกับที่ได้มาจากรัฐประหารเมื่อปี  2557

และเชื่อได้เลยว่าแม้นายกรัฐมนตรีจะยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็มิได้เป็นเหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิม

      แม้”อำนาจ”จะยังมีอยู่ แต่ก็ยากที่จะทำ”รัฐประหาร”