ต่างประเทศ : วิกฤตธรรมชาติด้วยมือมนุษย์ 1 ล้านสายพันธุ์ที่เสี่ยงสูญสิ้น

ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ มีหลักฐานเปิดเผยออกมามากมายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

โดยเฉพาะปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” ที่กลายเป็นหายนะในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีหลักฐานชิ้นใหม่ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สร้างผลกระทบร้ายแรงกับธรรมชาติมากมายมหาศาลยิ่งกว่านั้น ร้ายแรงถึงขั้นอาจทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืชจำนวนมากถึง 1 ล้านสายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

แลกกับการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารและพลังงานเลี้ยงชีวิตประชากรทั่วโลก

หลักฐานดังกล่าวคือรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมีการรวบรวมโดย International Science-Policy Platform on Biodiversity and Evosystem Service (IPBES)

ใช้เวลาในการศึกษาวิจัยเป็นเวลานาน 3 ปี

ประเมินจากแหล่งข้อมูลจำนวน 15,000 ชิ้น โดยนักวิจัยกว่า 400 คน

ออกมาเป็นรายงานด้านสิ่งแวดล้อมความยาว 1,800 หน้า

 

ล่าสุดมีการเปิดเผยรายงานสรุปความยาว 40 หน้าสำหรับผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ย้ำชัดว่าผลกระทบจากฝีมือมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้นกลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่ยากจะรักษาไปแล้ว

นับตั้งแต่ปี 1970 จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เศรษฐกิจโลกขยายตัว 4 เท่าตัว ขณะที่การค้าระหว่างประเทศเพิ่มมูลค่าขึ้นถึง 10 เท่า

การเติบโตดังกล่าวแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าในอัตราที่น่าตกใจ

โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนชื้น โดยรายงานพบว่าในช่วงระหว่างปี 1980 และปี 2000 มีพื้นที่ป่าเขตร้อนชื้นสูญเสียไปจำนวนมากถึง 1 ล้านตารางกิโลเมตร

ผลจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่อเมริกาใต้ รวมไปถึงการถางป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นหายไปมากยิ่งกว่าพื้นที่ป่า โดยรายงานพบว่ามีพื้นที่ชุ่มน้ำเพียง 13 เปอร์เซ็นต์หลงเหลืออยู่ในปี 2000 เทียบกับพื้นที่ชุ่มน้ำในปี 1700

ผลจากการขยายตัวของเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่านับตั้งแต่ปี 1992 เป็นกิจกรรมมนุษย์ส่วนหนึ่งที่ทำให้มีสัตว์และพืชสูญสิ้นไปจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

รายงานซึ่งมีการประเมินผลจากทั่วโลกพบว่ามีสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งสัตว์และพืชคิดเป็นสัดส่วนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ที่ตกอยู่ในสภาวะถูกคุกคามในเวลานี้

นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นด้วยว่ามีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากถึง 1 ล้านสายพันธุ์ที่เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ในความเร็วระดับ 10 ถึง 100 เท่าของอัตราการสูญพันธุ์เฉลี่ยตลอดช่วงเวลา 10 ล้านปีที่ผ่านมา เป็นการลดความหลากหลายทางธรรมชาติที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

นอกจากนี้ รายงานชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า มนุษย์ยังส่งผลร้ายต่อคุณภาพดินมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้พื้นผิวโลกลดความสามารถในการผลิตลงมากถึง 23 เปอร์เซ็นต์

สวนทางกับปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่านับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่ปัจจุบันมนุษย์ทิ้งขยะโลหะหนัก สารทำละลาย ขยะพิษและขยะอื่นๆ อีกจำนวนมากถึง 300-400 ล้านตันต่อปี

แน่นอนว่าวิกฤตกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ สาเหตุหลักเลยก็คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากทุ่งหญ้ากลายเป็นการปลูกพืชไร่แออัด การถางป่าเพื่อการเกษตร

โดยรายงานพบว่าพื้นที่เกษตรที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นเกินกว่าครึ่งนั้นต้องแลกมาด้วยพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์

 

เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รายงานระบุว่า มีท้องทะเลเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ในโลกเท่านั้นที่ยังไม่มีมนุษย์เข้าถึง ขณะที่ปัจจุบันมนุษย์จับปลามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในปี 2015 นั้นการทำประมงคิดเป็นสัดส่วน 33 เปอร์เซ็นต์เป็นการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน ขณะที่สัดส่วนปะการังนั้นลดลงเกือบครึ่งจากปริมาณที่เคยมีในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญผู้มีส่วนร่วมในการทำรายงานดังกล่าวระบุว่าการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไปสู่การทำการเกษตร 70 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อสำหรับบริโภค การใช้ประโยชน์จากสัตว์ มลพิษ เอเลี่ยนสปีชีส์ บวกกับภาวะโลกร้อนส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

รายงานดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่ควรทำต่อไปในอนาคต ซึ่งแม้จะมีการดำเนินธุรกิจในลักษณะเดิมต่อไปแต่หันไปหาแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ความสูญเสียจะยังคงมีต่อไปถึงอย่างน้อยในปี 2050 หรือหลังจากนั้น โดยทางเดียวที่จะสามารถเปลี่ยนทิศทางดังกล่าวได้ก็คือการ “เปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป”

รายงานไม่ได้ชี้ชัดถึงแนวทางเพื่อให้รัฐบาลต่างๆ นำไปปฏิบัติ แต่ให้แนวทางเอาไว้ถึงการเปลี่ยนกรอบมุมมองในเรื่องความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้เปลี่ยนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจากเดิมที่เน้นไปที่ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หรือจีดีพี หันไปเป็นตัวชี้วัดที่มองไปที่องค์รวมมากขึ้น โดยนับเอาคุณภาพชีวิตและผลกระทบระยะยาวเข้ามาร่วมพิจารณา โดยมุมมองของ “คุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งหมายถึงการเพิ่มการบริโภคในทุกระดับจะต้องเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ จะต้องยุติการอุดหนุนทางการเงินกับสิ่งที่ส่งผลกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพลง เช่น นโยบายการอุดหนุนราคาน้ำมัน การอุดหนุนอุตสาหกรรมประมงและการเกษตร เป็นต้น

 

สุดท้ายโลกจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองที่ดินและท้องทะเลให้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันรายงานระบุว่ามีผืนดินจำนวน 1 ใน 3 ของโลกที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน

ผู้เชี่ยวชาญผู้เขียนรายงานที่ครอบคลุมมากที่สุดของโลกฉบับนี้ระบุว่า สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิรูปนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะภาครัฐเท่านั้น แต่ประชาชนอย่างพวกเราก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการบริโภคให้หลากหลายมากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ บริโภคผักให้มากขึ้น และเลือกใช้พลังงานสะอาด

และแน่นอนที่สุด นอกจากทางเลือกในการใช้ชีวิตประจำวันให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดแล้ว ก็สามารถแสดงออกผ่านการหย่อนบัตรลงคะแนนในการเลือกตั้งได้เช่นกัน