วิเคราะห์ : ฝุ่นตลบลากตั้ง 250 ส.ว. พี่-น้อง-ผอง-เพื่อน-พรรค-พวก พาเหรดเข้าสภาสูง ชูมือให้ “บิ๊กตู่”

ตามไทม์ไลน์ทางการเมืองภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีสำคัญ ถือว่าเดินหน้าเต็มที่

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาได้ตามกรอบเวลา แม้จะไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ครบแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

โดยเฉพาะการรับรอง ส.ส.เกิน 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภา หรือ 475 คนขึ้นไป ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกได้

เช่นเดียวกับการเดินหน้าคัดเลือกวุฒิสภา หรือ ส.ว. จำนวน 250 คนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องประกาศภายใน 3 วันนับจากที่ กกต.รับรอง ส.ส.ได้เกิน 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมดในสภา

ซึ่งหากฟัง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้มอบหมายนั้น ก็เหลือแค่เพียงรอการประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น

เพราะ พล.อ.ประวิตรเผยว่าได้ชื่อครบ 250 คนตั้งนานแล้ว

 

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุ ก็เชื่อว่าจะทราบชื่อทั้งหมดภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

เป็นชื่อจาก 2 ที่มาที่ต่างกัน แต่มี คสช.เป็นปลายทางเหมือนกัน

ทั้งจาก 50 รายชื่อที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.เลือกจาก 200 คนที่ กกต.ได้ดำเนินไว้ โดยใช้งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาทให้มีการเลือก ส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ จากระดับตำบล อำเภอ สู่การคัดเลือกในระดับชาติตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ทั้งจาก 194 รายชื่อที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ต้องเลือกจาก 400 คนที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นหัวโต๊ะคัดจากผู้ที่เหมาะสมมาเสนอให้ ก่อนที่จะนำไปรวมกับผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งอีก 6 คน

นั่นคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

แน่นอนว่าอำนาจ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของ คสช.ที่ถูกวางไว้

โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีตามบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกตั้งนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ด้วย โดยที่ผู้แต่งตั้ง 250 ส.ว.ในขั้นปลายทางเป็นคนคนเดียวกับที่เซ็นยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐใช้ชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วย

อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ทุก 3 เดือนว่าได้ทำตามแผนการปฏิรูปประเทศหรือไม่ รวมถึงยังเป็นเสียงสำคัญในการเห็นชอบจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

นี่จึงเป็นครหาติดตัว ส.ว.โดย คสช.เสมอว่าเป็นทายาท คสช.

เป็นพรรคการเมืองอีก 1 พรรคที่มีเสียงเป็นเอกภาพในการสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง โดยไม่ต้องหาเสียงกับประชาชน

ยิ่งในบรรยากาศชวน “เจ็บตา” จากฝุ่นที่ตลบอบอวลในการแห่ยื่นใบลาออกของคนหน้าเดิมจากแม่น้ำ 5 สายที่มี คสช.เป็นต้นธารในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อปลดล็อกลักษณะต้องห้ามต่างๆ เพื่อไปต่อคิวเป็น ส.ว.โดย คสช.กันอย่างคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็นกรรมการกฤษฎีกา กรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพนักงานและลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น

รวมไปถึงกรรมการบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นหนังสือ “บริคณห์สนธิ” ในการจดทะเบียนประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนสิ่งพิมพ์ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องบานปลายฟ้องร้องคุณสมบัติและลักษณะห้ามของผู้สมัคร ส.ส.กันไปมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา

ซึ่งทั้งหมดยิ่งทำให้เห็น “สเป๊ก” ของผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.อย่างทะลุปรุโปร่ง

 

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในระหว่างการประชุมนัดพิเศษครั้งสุดท้ายที่สถาบันพระปกเกล้า ที่มีสมาชิก สนช.แห่ยื่นใบลาออกเพื่อลุ้นรับตำแหน่ง ส.ว.โดยไม่ลงวันที่สูงถึง 90 คน

รายงานข่าวจาก สนช.แจ้งว่า เหตุที่ สนช.ไม่ลงวันที่ก็เนื่องจากโควต้า 194 ตำแหน่งที่ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว จึงเผื่อไว้หากเกิดกรณีหลุดโผก็จะได้กลับไปคงสถานะ สนช.ไว้เพื่อยึดหลักการความต่อเนื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะยังต้องมีอยู่ต่อไป แม้จะต้องพ้นจากตำแหน่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็ตาม

โดยเฉพาะ 2 เหตุผลที่ คสช.ต้องให้น้ำหนักเป็นพิเศษ

1. บรรดา ครม.ที่ “บิ๊กตู่” ประกาศว่า “ผู้ใดที่อยากเป็น ส.ว.ก็สามารถแสดงความจำนงมาได้” ตามที่ น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย เพราะต้องเกลี่ยคนไปเป็น ส.ว. เพื่อเปิดทางไว้เป็นโควต้ารัฐมนตรี รอการมาของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ในอนาคต

นี่จึงเป็นที่มาของใบลาออกของรัฐมนตรีถึง 15 เก้าอี้ใน ครม.

2. แรงกกดดันของฝ่ายการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐ สำหรับผู้สมัคร ส.ส.สอบตก ซึ่งจะลาออกจากสถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อมาเป็น ส.ว.ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

จึงคาดการณ์ว่าจะมี สนช.อย่างน้อย 70 คนได้รับการคัดเลือกรวมกับโควต้าของแม่น้ำ 5 สายอื่นๆ กับ สปช.และ สปท.อีกราว 20 คน และสัดส่วนสำหรับคนหน้าใหม่ซึ่งเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่กำลังจะเกษียณอายุอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเกลี่ยตำแหน่งให้ลงตัวรอฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายช่วงปลายปีที่อาจจะมีผู้ที่ “อกหัก” จากตำแหน่งประจำด้วย

 

กรณีการจัดสลับเก้าอี้ของ คสช.ดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ถือว่า “อุกอาจอย่างยิ่ง”

“จะทำอะไรก็ควรจะเกรงใจกันบ้าง คือจะเอาทุกอย่าง วันนี้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีก็ใช้อำนาจในการบริหารราชการเต็มที่ พอมีตำแหน่งมาต่อก็กระโดดมาเป็น ส.ว.อีก”

ยิ่งไปกว่านั้น นายปิยบุตรบอกว่า มีเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งได้เป็น ส.ว. ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยที่นั่งกระดิกเท้าเฉยๆ ตั้งแต่ปี 2549 ไม่เคยลงเลือกตั้งเลย

โดยเฉพาะกับรายชื่ออดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ถูกเปิดออกมา

ไม่ว่านายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายสมชาย แสวงการ นายตวง อันทะไชย หรือแม้แต่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นต้น

ยิ่งกว่าเรื่องมหัศจรรย์ที่นายปิยบุตรบอก

ยังพบอีกว่า ผู้นำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่อาสาเข้ามา “ปฏิรูปการเมือง” อยู่มา 5 ปีเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมือง มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.ที่มีอำนาจโหวตนายกฯ ได้ในคนเดียวกันนั้น จะแต่งตั้ง “น้องชาย” ที่มีประวัติการขาดประชุม สนช.จำนวนมากกลับเข้ามาเพื่อโหวตตัวเองอีกรอบ

เมื่อ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายอมรับว่าได้เป็น ส.ว.และได้ยื่นใบลาออกจาก สนช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นี่จึงทำให้ “สภาพี่สภาน้อง-สภาพวกพ้อง” ในยุคสมัยนี้จึงกลายเป็นเรื่องยิ่งกว่า “สภาผัวเมีย” ในอดีตมาก เพราะยังยึดโยงและมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

มิใช่ปิดลับ คัดเงียบ แม้แต่ชื่อกรรมการสรรหายังบอกไม่ได้!