อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : มังกรผงาด

ผมไปประชุมที่เมือง Ningpo ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาน่าสนใจครับ

ผู้จัดเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษา ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนคณะไม่ใหญ่มาก กล่าวคือ มีราว 40 คนได้

แต่ที่น่าสนใจส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมเป็นชาวต่างชาติ เช่น เป็นคนยุโรปและเอเชีย มีผมเพียงคนเดียวที่เป็นคนไทย

ความจริงแล้วผมไปประชุมลักษณะนี้ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาแล้วหลายครั้ง เช่น ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เมืองหนานนิง

เคยไปที่มณฑลกว่างซี ไปที่มหาวิทยาลัย Pudan มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้

นี่ก็ราว 5 ปีต่อเนื่องแล้วที่ผมไปประชุมลักษณะนี้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่ทุกครั้งเป็นการประชุมในเชิง “โฆษณา” กล่าวคือ มีคนร่วมงานเป็นพันคน เป็นการประชุมเพื่อรับกับนโยบายของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ เรื่อง South and Southeast Asia เรื่อง One Belt One Road (OB0R) ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น Belt and Road Initiative (BRI)

ส่วนใหญ่เป็นคำประกาศ เป็นการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ เป็นการกล่าวถึงสิ่งท้าทาย (Challenge)

แต่พูดไปพูดมามีแต่กล่าวถึงโอกาส (Opportunity) มากกว่าอย่างอื่น มากกว่าการมองนโยบาย การหยิบประเด็นจุดอ่อน หรือการวิพากษ์วิจารณ์

แต่คราวนี้การประชุมเป็นอีกลักษณะหนึ่งครับ คือเป็นเชิงวิชาการ เป็นการกล่าวถึงนโยบายเชิงวิจารณ์

 

มังกรผงาด

ความจริงผมและเพื่อนๆ ทีมงานศึกษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาบทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ด้านการเมืองการทูต รวมทั้งการเคลื่อนย้ายของคนจีนเข้ามาในภูมิภาคนี้ได้ 2 ปีกว่าแล้ว

แต่การประชุมคราวนี้ผมกลับได้รับข้อมูลทั้งมากและครอบคลุมประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่าที่ผมคิด

 

ในเชิงพื้นที่

ผมเพิ่งทราบว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้ามาลงทุนโดยตรงหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ไกลถึงออสเตรเลีย

ไกลเท่านั้นไม่พอ สาธารณรัฐประชาชนจีนมี FDI มากจนสร้างความไม่พอใจจากผู้ประกอบการและรัฐบาลออสเตรเลีย เหมือนว่ามีการลงทุน FDI ในออสเตรเลียมากไป

จนกระทั่งมีการออกกฎหมายสกัดกั้นโดยอ้างถึงประเด็นผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) ประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ (national security)

แปลกนะครับ ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยกลับส่งเสริม FDI จากต่างประเทศมาก รวมทั้งจีนด้วย ทั้งการให้สิทธิพิเศษ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลประเทศเหล่านี้อ้างถึงความต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

แต่ตรงกันข้ามกับออสเตรเลีย ออสเตรเลียคงไม่ใช่การอ้างถึงรายได้และความเจริญของประเทศ

แต่กลับเป็นประเทศที่อ้างถึงความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศ

โดยมีการให้ความเห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศเขาแล้วกระทบต่อความมั่นคงของออสเตรเลียหรือไม่

ประเด็นนี้คล้ายๆ กับกรณีการเข้าไปลงทุนโดยตรงของสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศนิวซีแลนด์

ปรากฏว่าบริษัทจีนเข้ามาลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรม Diary product ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เนย ซึ่งแท้จริงแล้วคนนิวซีแลนด์เป็นเจ้าของกิจการ อีกทั้งมีเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ

แต่เป็นไปได้ว่า บริษัทจีนเข้ามาลงทุนโดยตรงแล้วไปกระทบกับเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์ในเรื่องของผลิตภัณฑ์และเรื่องการตลาดของ Diary product ในนิวซีแลนด์

 

ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

ผมทราบมาว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบาย BRI ที่ครอบคลุมในหลายทวีปทั้งเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

หลายคนวิเคราะห์ว่า เป็นนโยบายเชิงวัฒนธรรมอันสะท้อนความยิ่งใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งการรื้อฟื้น “เส้นทางการค้า” ของจีนตั้งแต่สมัยโบราณอีกด้วย

นักวิเคราะห์บางคนมีคนเห็นการตอบสนองที่ดีในการร่วมสร้าง ความเชื่อมโยง ทั้งการค้า การลงทุนและการเคลื่อนย้ายของคนจีนในยุโรป รวมทั้งยุโรปตะวันออก

แต่จากการสัมมนาครั้งนี้ งานวิจัยหลายชิ้นวิเคราะห์ว่ามีแรงต่อต้านอย่างมากจากรัฐบาลในยุโรป ทั้งรายประเทศและทั้งสหภาพยุโรป

ในกรณีของสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปพยายามในองค์กรของตนต่อรองเรื่องการค้าและการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเข้มข้น

มีการนำเสนอมาตรการกีดกันทางการค้า จำกัดการลงทุน

น่าแปลกนะครับ ใครๆ ก็อธิบายว่า สหภาพยุโรปสนับสนุนระบบพหุนิยม (multilateralism) สนับสนุนการบูรณาการภูมิภาค (regional integration) อีกทั้งเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการบูรณาการภูมิภาคของโลกด้วย

แต่ในทางตรงกันข้าม สหภาพยุโรปกำลังต่อรองกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างหนักและต่อเนื่องจากการเข้ามาของจีนในภูมิภาคยุโรป

 

เรื่องอำนาจอธิปไตย (sovereignty)

สําหรับผม เรื่องที่น่าติดตามคือ ผมได้เห็นการฉายภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็น foot print อันครอบคลุมออกไปทั่วโลกและทุกหนแห่ง

ผมได้ความคิดว่า ไม่มีที่ไหนเลยในโลกที่ไม่มีสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การค้าขาย การลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการ การให้ความช่วยเหลือทางการศึกษา การให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ในทางด้านการทหาร จีนมีความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงกับหลายประเทศทั่วโลก

คนจีนย้ายถิ่นเข้าไปอยู่เกือบทุกแห่งหนใดในโลก ยิ่งในกรณีของทวีปแอฟริกาซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือและพัฒนาก่อนใครอย่างน้อย 4 ทศวรรษมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม บทบาทของจีนในทวีปแอฟริกามีมากกว่าที่เราคิด คือเรื่องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมัน เหมืองแร่ต่างๆ เช่น ทองคำ เพชร ทองแดง เป็นต้น

นอกจากนี้ ทวีปแอฟริกายังเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวแหล่งใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย

ที่สำคัญ บทบาทในหลายด้านของสาธารณรัฐประชาชนจีนนี่เองที่ก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้านจากคนแอฟริกันในหลายๆ ประเทศ

คนท้องถิ่นพวกนี้มีการกล่าวถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศตนว่ามีความเป็นอิสระหรือไม่

นั่นหมายความว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างๆ ในแอฟริกาได้ตกอยู่ในมือของต่างชาติอันไกลโพ้นแล้วหรือ ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศมีที่ตั้งห่างกันมาก แต่คนแอฟริกันกังวลกับเรื่องอธิปไตยของประเทศเขามาก

เมื่อย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา ประเทศไทยอยู่ใกล้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนนิดเดียว บทบาทของจีนต่อไทย เช่น ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการทหาร แทบไม่ต่างอะไรกับบทบาทสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป และแอฟริกา

แต่ที่แอฟริกาอันไกลโพ้นประชาชนท้องถิ่นกังวลถึงอำนาจอธิปไตยกันแล้ว แต่ในประเทศไทยเราพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังร่วมดำเนินการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เป็นรถไฟความเร็วสูงอันแรกของไทย แต่อาจเป็นมรดกของหลายสิ่งหลายอย่างด้วย ทั้งการเชื่อมต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง

น่าแปลก เราพูดถึงอำนาจอธิปไตยของไทยน้อยมาก

โดยเฉพาะฝ่ายนโยบายด้านความมั่นคง