ต่างประเทศอินโดจีน : เขื่อนจีนบนที่คะฉิ่น

โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “มยิตโสน” ของทางการเมียนมาที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีนยืดเยื้อมานานร่วมๆ สิบปีเข้าไปแล้ว และยังมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อเนื่องต่อไปอีก

เขื่อนขนาดใหญ่แห่งนี้สร้างขึ้นตอนเหนือ บริเวณต้นน้ำแม่น้ำอิรวดี ห่างจากจุดกำเนิดที่เป็นจุดบรรจบของลำน้ำเมลิ กับลำน้ำเม (บางที่เรียกแม่น้ำเมลิคะกับแม่น้ำเมคะ) ลงมาทางใต้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

จุดก่อสร้างอยู่ห่างจากตัวเมืองมยิตจินา เมืองเอกของรัฐคะฉิ่นเพียง 37 กิโลเมตร มูลค่าทั้งสิ้นของโครงการอยู่ที่ 3,600 ล้านดอลลาร์

เขื่อนมยิตโสน เป็นหนึ่งใน “อย่างน้อย” 7 เขื่อนที่กำหนดจะสร้างขึ้นในพื้นที่รัฐคะฉิ่น ทั้งหมดล้วนเป็นเขื่อนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจีนทั้งสิ้น

ทางการพม่าอนุมัติให้สร้างเขื่อนนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งเต็ง เส่ง นายทหารยศนายพลยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมียนมา ทั้งประเทศยังคงตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทหาร

ทั้งๆ ที่ชุมชนและประชาชนคัดค้าน

 

กลุ่มที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้ มีตั้งแต่กลุ่มชาวคะฉิ่นในท้องถิ่นเอง เรื่อยไปจนถึงภาคประชาสังคมระดับประเทศที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพรรคการเมืองอย่างพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่มีผู้นำพรรคมากบารมีอย่างออง ซาน ซูจี

ในปี 2011 สถานการณ์การต่อต้านการสร้างเขื่อนมยิตโสนยกระดับขึ้นสู่ความรุนแรง ถึงขั้นมีการบาดเจ็บเสียชีวิต ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มีคำสั่งให้ระงับการสร้างเขื่อนดังกล่าว โครงการจึงค้างเติ่งมาจนถึงปีนี้

เหตุผลของกลุ่มต่อต้านนั้นชัดเจนอย่างยิ่งว่า ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

ตามข้อมูลของเครือข่ายการพัฒนาแห่งคะฉิ่น (เคดีเอ็นจี) เป็นเพราะเพื่อการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับให้ประชาชนอย่างน้อยที่สุด 15,000 คน โยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่

ชุมชนที่เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของรัฐคะฉิ่น อย่างเช่นหมู่บ้านอองมินทาร์ อันเป็นสถานที่ตั้งคริสตจักรแบ็บทิสต์คะฉิ่น “นยุต ลุง” จะถูกกลืนหายไปกับสายน้ำ พร้อมๆ กับมรดกทางธรรมชาติอื่นๆ

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ย่ำแย่และต่อเนื่องยาวนานพอๆ กัน

 

บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) สถาบันการเงินในเครือธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เคยจัดทำการประเมินเชิงยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไว้ เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2018 มีการประเมินเขื่อนมยิตโสนไว้เป็นหัวใจสำคัญ ระบุว่า ตามแผนการก่อสร้างที่เป็นอยู่

“จะเปลี่ยนระบบอุทกวิทยาของแม่น้ำ (อิรวดี), การเคลื่อนย้ายตะกอนแม่น้ำ, ธรณีสันฐานของแม่น้ำจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง…การเชื่อมต่อระหว่างลำน้ำต่างๆ จะถูกตัดขาด ระบบการไหลของน้ำในแม่น้ำถูกปรับเปลี่ยน และสภาพการตกตะกอนในท้องน้ำจะขยายขนาดขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพริมฝั่งและระบบนิเวศทางน้ำไปทั่วทั้งภูมิภาค”

สำนักรัฐศาสตร์แห่งย่างกุ้งเคยทำสำรวจออกมาเมื่อปลายปี 2016 พบว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของชาวเมียนมาไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนขนาดมหึมาแห่งนี้

และทั้งๆ ที่ในเมียนมาเอง สัดส่วนประชากรที่มีไฟฟ้าใช้มีเพียง 44 เปอร์เซ็นต์ 90 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่มยิตโสนผลิตได้ ต้องส่งขายให้กับจีนเท่านั้น

ดังนั้น จนถึงขณะนี้เครือข่ายกลุ่มท้องถิ่นคะฉิ่น และภาคประชาสังคมระดับประเทศก็ยังคงยืนกรานที่จะคัดค้านการสร้างเขื่อนแห่งนี้ต่อไป

 

สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจำนวนไม่น้อย แสดงท่าทีสนับสนุนการรณรงค์ต่อต้านดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าท่าทีและน้ำเสียงต่อเขื่อนแห่งนี้ของออง ซาน ซูจี จะเปลี่ยนแปลงไป

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งหลังการเดินทางไปร่วมประชุมการประชุมแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) เมื่อ 25 เมษายนที่ผ่านมา

เธอกลับมาบอกว่า ชุมชนชาวคะฉิ่นซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อน” ควรคำนึงถึงโครงการนี้จากมุมมองที่กว้างไกลออกไปกว่าเดิมบ้าง

เธอบอกว่า การตัดสินใจเรื่องเขื่อนนี้ ต้องดีทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและต้องยั่งยืน

ทุกคนไม่เข้าใจที่ซูจีพูดเท่าใดนัก รู้แต่ว่ารัฐบาลพม่าชุดที่มาจากการเลือกตั้งนี้กำลัง “รีสตาร์ต” โครงการสร้างเขื่อนนี้แน่นอนแล้ว

หรือเวลาเปลี่ยน คนต้องเปลี่ยนด้วยจริงๆ