การศึกษา / เปิดงานวิจัย ‘เวิลด์แบงก์’ แนะไทย ‘ปฏิวัติ’ การศึกษาครั้งใหญ่

การศึกษา

 

เปิดงานวิจัย ‘เวิลด์แบงก์’

แนะไทย ‘ปฏิวัติ’ การศึกษาครั้งใหญ่

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก (The World Bank) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเพื่อดำเนินโครงการทบทวนรายจ่ายด้านการศึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้ไปศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และลดการสิ้นเปลืองของงบประมาณ โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

โดย ก.พ.ร.ได้สรุปผลการศึกษาดังกล่าว เสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ดังนี้

 

1.ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จากผลการประเมินผู้เรียนในระดับชาติ และการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือพิซ่า ไทยอยู่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

  1. นักเรียนไทยกว่าครึ่งขาดทักษะขั้นพื้นฐานด้านการอ่าน และการคิดวิเคราะห์ แม้อยู่ในระบบการศึกษาถึง 9 ปี และแม้ค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวผู้เรียนจะเพิ่มขึ้นถึง 48% แต่ทักษะของผู้เรียนมีแนวโน้มลดลง
  2. ความไร้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทย เกิดในโรงเรียนขนาดเล็กระดับประถม ที่มีห้องเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก มีสัดส่วนนักเรียนต่อครู 17:1 ใกล้เคียงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฯลฯ แต่การบริหารจัดการด้านการศึกษาของประเทศ ทั้งครู และทรัพยากร กลับไม่เพียงพอ
  3. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มแย่ลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างของทักษะวิชาวิทยาศาสตร์ระหว่างคนรวยและคนจน ยิ่งห่างออกไป ช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนชนบท เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่ เกิดระดับประถม โดยมีค่าใช้จ่ายรายนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ระหว่างครอบครัวที่มีรายได้สูงสุดและครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ มีแนวโน้มแย่ลง เกิดช่องว่างคุณภาพการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ
  4. โรงเรียนขนาดเล็กเป็นสาเหตุของคุณภาพการศึกษาที่ถดถอย สัดส่วนโรงเรียนประถมที่มีนักเรียนน้อยกว่า 50 คน เพิ่มสูงขึ้นจาก 17.4% เป็น 23.7% ขณะที่โรงเรียนประถมของไทยมีขนาดห้องเรียนที่เล็กที่สุด เมื่อเทียบกับ 39 ประเทศในโลก เป็นสาเหตุของความถดถอยของคุณภาพ เพราะมีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ รับจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพอ และนักเรียนด้อยโอกาสส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ยิ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งแย่ลง
  5. ผลการวิจัยของธนาคารโลก ชัดเจนว่าการขาดแคลนครูเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส และเป็นปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่สูง ถ้าจัดสรรครู และทรัพยากรให้เพียงพอกับทุกห้องเรียน ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล

และหากมีห้องเรียนจำนวนมาก จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มสูงขึ้น

 

7.แนวทางแก้ปัญหา คือ สพฐ.ควรควบรวมโรงเรียนตามแผน และนโยบายที่กำหนด จะลดจาก 30,506 โรง เหลือ 17,766 โรง จาก 344,009 ห้อง เหลือ 259,561 ห้อง ขนาดห้องเรียนเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 14 คน เป็น 24 คน ในระดับประถม ทำให้ใช้อุปกรณ์การเรียนได้เหมาะสม และคุ้มค่า

  1. การควบรวมโรงเรียนจะเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการบุคลากร เพราะครูจะลดลง จากเดิม 475,717 คน เหลือ 373,620 คน จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาได้อย่างมหาศาล ช่วยรัฐประหยัดทรัพยากรที่ส่วนใหญ่เกิดจากการลดโรงเรียนประถมจาก 20,990 แห่ง เหลือ 8,382 แห่ง ช่วยลดภาระงบรัฐมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
  2. ไทยลดครูให้สอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนที่น้อยลงได้ แต่ต้องวางแผนบุคลากรที่ดี เชื่อมั่นว่ามาตรการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษา แก้ปัญหาการขาดแคลนครูอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
  3. ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่ โดยการปฏิวัติการศึกษา ต้องปรับแนวคิดคนทั้งระบบ เนื่องจากประสิทธิภาพประสิทธิผลการทุ่มงบลงทุนการศึกษาประเทศไทยต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว
  4. ควรปรับโครงสร้างการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยใช้จังหวัด/ พื้นที่เป็นฐานการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งแก้ไขคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ในห้องเรียน กระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปสู่สถานศึกษาท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาบริหารจัดการ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่
  5. ในทางปฏิบัติการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องได้รับการยอมรับในพื้นที่ พิจารณาบริบทของข้อกฎหมายต่างๆ
  6. การควบรวม หรือลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ.เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดข้อหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาด้านประสิทธิภาพให้คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะจากข้อมูลของธนาคารโลก จำนวนครูต่อนักเรียนของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก คือ 1:17

แต่เมื่อลงลึก กลับพบว่าครูขาดแคลน

 

โดยผลการศึกษาของธนาคารโลก สรุปได้ว่า รายจ่ายด้านการศึกษาของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์ และผลประเมินผู้เรียนระดับชาติ และระดับนานาชาติ ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นักเรียนไทยขาดทักษะอ่าน และวิเคราะห์

รวมถึงคุณภาพการศึกษาไทยลดลง ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาแย่ลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่องว่างคุณภาพการศึกษาระหว่างคนรวย และคนจน ห่างขึ้นไปอีก

ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็ก และห้องเรียนขนาดเล็ก ทำให้คุณภาพการศึกษาถดถอย

ธนาคารโลกได้เสนอแนะด้วยว่า ให้ “ควบรวม” หรือ “ลด” โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะจะช่วยเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากร โดยเฉพาะ “ครู” จะมีจำนวนลดลง

ที่สำคัญ ต้อง “ปฏิวัติ” ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทยครั้งใหญ่ โดยต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดคนในระบบการศึกษาใหม่

เรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ข้อมูลของธนาคารโลก เป็นข้อมูล “เก่า” และ “ผิด” เพราะผลการประเมินระดับชาติที่ผ่านมาของนักเรียนไทย “สูงขึ้น” แต่ก็มีส่วนที่ถูก อาทิ ความไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้งบฯ มากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ อีกทั้งผลการประเมินที่ลดลง เพราะโรงเรียนขนาดเล็กถูกนำมาประเมินด้วย ทำให้ดึงค่าเฉลี่ยต่ำลง และมีปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า เป็นต้น

ซึ่ง ศธ.พยายามแก้ปัญหานี้มายาวนาน และการปฏิรูปการศึกษา จะทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง

นพ.ธีระเกียรติยังทิ้งท้ายว่า ส่วนปัญหาควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของคนในพื้นที่ด้วย จะตัดเสื้อตัวเดียวกัน แล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน ทุกภาคส่วนค่อยๆ พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ การควบรวม หรือการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาของ ศธ.ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากนักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2561 สพฐ.มีข้อมูลยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 100 โรง เนื่องจากไม่มีนักเรียนเข้าเรียน และโรงเรียนกว่า 3 หมื่นโรงที่สังกัด สพฐ.มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ประมาณ 1.5 หมื่นโรง ในจำนวนนี้มีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน ประมาณ 1 พันโรง

ล่าสุด คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นชอบยุบอีก 10 โรง ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2562 เนื่องจากนักเรียนลดลงเรื่อยๆ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิษณุโลก เขต 1 จำนวน 5 แห่ง สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 จำนวน 4 แห่ง และ สพป.ระนอง 1 แห่ง และควบรวมอีก 2 โรง สังกัด สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 และ สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1

   ต้องติดตามว่า การศึกษาไทยภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ จะเดินไปในทิศทางใด!!