เศรษฐกิจ / แล้งนี้!! ใครพยากรณ์แม่นสุด เอกชนฟันเชื่องช้า ศก.วิกฤตแน่ ฟากรัฐสวนมั่นใจแผนล้อมคอก

เศรษฐกิจ

 

แล้งนี้!! ใครพยากรณ์แม่นสุด

เอกชนฟันเชื่องช้า ศก.วิกฤตแน่

ฟากรัฐสวนมั่นใจแผนล้อมคอก

 

หลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เจอภาวะอากาศร้อนและแล้งรุนแรงขึ้นทุกปี

สำหรับในไทยเจ้าภาพของการบริหารจัดการและเตรียมพร้อมไม่พ้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน

ซึ่งในแต่ละปีได้ทำแผนจัดสรรแหล่งน้ำให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกพืช ซึ่งได้ทำคู่ขนานไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ต้องเช็กข้อมูลปริมาณน้ำในแหล่งต่างๆ ทั้งลุ่มน้ำโขง เขื่อนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ แหล่งน้ำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนรายงานเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากเห็นว่าวิกฤตแล้ว ก็ต้องออกแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลืออย่างไรต่อไป

แม้หลายฝ่ายต่างรับรู้คาดการณ์แล้วว่าปี 2562 จะเข้าสู่ “เอลนิโญ” ปรากฏการณ์ร้อนแรง แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจนเข้าเดือนพฤษภาคมแล้ว รับเปิดเทอมการศึกษาใหญ่ของปี ในไทยมักเริ่มเข้ามีฝนประปราย แต่ปีนี้อากาศยังร้อนอบอ้าวเกือบทั้งประเทศ

ผลเสียที่เกิดตามมาจากอากาศร้อนแรงต่อเนื่อง กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมีมากมาย กลายเป็นปัจจัยลบแล้วทั้งภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจ!!

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาระบุว่า ผลสำรวจไทยเจออากาศร้อนและแล้งต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2562 จะทำให้รายได้เกษตรกรช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีแนวโน้มไม่ดีนัก เพราะความร้อนแรงกระทบต่อผลผลิตเกษตรเสียหาย ต้นทุนเพาะปลูกเพาะเลี้ยงแพงขึ้น แต่การขยับราคาอาจทำไม่ได้เพราะกำลังซื้อไม่ดี ประเมินว่าร้อนแล้งรอบนี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพีประเทศ และกระทบต่อรายได้เกษตรกรภายรวมจะติดลบมากขึ้นถึง 1.2-1.6% จากเดิมคาดว่าเข้าไตรมาสสองความร้อนแรงจะคลายลงและติดลบเพียง 0.4-0.8%

ผลสำรวจระบุอีกว่า หากร้อนแล้งยังไปต่อเนื่อง 1-2 เดือนจากนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะยิ่งสูงขึ้นๆ อาจถึงขั้นทำลายสถิติอีกครั้งในรอบ 5 ปี

สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ระบุว่า เดิมนั้นมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า กิจกรรมเศรษฐกิจยังสอดคล้องกับศักยภาพ และยังมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนในครึ่งปีหลัง รวมถึงหลังตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว จะมีความต่อเนื่องของแรงส่งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ ซึ่งกระทบต่อความต่อเนื่องของโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน

แต่ที่สำคัญก่อนสิ่งใดๆ คือ ผลจากภาวะภัยแล้ง อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้างหน้า ควรเป็นเรื่องแรกๆ ที่หยิบขึ้นแก้ไข พร้อมหามาตรการช่วยเหลือในระยะยาวโดยเร็ว

 

ด้านความคิดเห็นจากฟากเอกชน “ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่า เรื่องเร่งด้วยไม่ว่ารัฐบาลเก่าหรือใหม่ ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในตอนนี้ คือ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ควรเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านผลผลิตทางการเกษตร ปีนี้เผชิญภัยแล้งและผลิตได้น้อยมาก แต่ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ดีขึ้นมาก

ดังนั้น ควรดูต้นเหตุและหาวิธีกระตุ้นทำให้ราคาสินค้าไม่เพียงแต่สินค้าเกษตร รวมถึงปศุสัตว์ต้องผลักดันให้ราคาสูงขึ้นด้วย เร่งหาวิธีกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงชุมชน โดยเชื่อว่าจะเป็นวิธีช่วยเหลือที่ดีกว่าการแจกเงิน เพราะเกรงว่าประชาชนจะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

ที่สำคัญไม่รู้ว่าร้อน แห้งแล้ง จะคงยาวแค่ไหน ไม่ว่าจะปีนี้หรือปีถัดไป!!

 

ย้อนมาดูความพร้อมภาครัฐในการเตรียมพร้อมเรื่องน้ำ “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤต และให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้ง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นศูนย์กลางการอำนวยการ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องจัดหมวดหมู่การช่วยเหลือ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยและการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมถึงให้หน่วยงานพิจารณาโครงการที่จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาด้านภัยแล้ง ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว

ครั้งนี้ สทนช.ได้รับมอบหมายให้นำสภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 มาวางแผนปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกที่ไม่มีการระบุพื้นที่ด้านการเกษตร ขอบเขตที่ชัดเจน โดยให้ประกาศพื้นที่การเพาะปลูกให้ชัดเจนในระดับตำบล ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ทั้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ และนอกเขตชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ การวางแผนการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ไม่ได้ระบุแหล่งน้ำที่ใช้ การบริหารจัดการน้ำมีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนด ต้องมีการระบุแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทานให้ชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบดำเนินการนอกเขตชลประทาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งนำพื้นที่ภัยแล้งที่อยู่ในพื้นที่เกาะมาพิจารณาวางแผนบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

“การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันยับยั้งการประกาศพื้นที่ภัยแล้งไม่ให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2562 ตามปฏิทินการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2562 โดยกำหนดมาตรการเป็นรายพื้นที่และสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในแหล่งเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย โดยนำเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำที่ปรับปรุงใหม่สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบตั้งแต่กลางเดือนนี้เป็นต้นไป”

“โดยคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะเริ่มสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม”

 

ก็ต้องดูว่าการทำนายข้างต้น! คงต้องดูว่าเสียงเอกชนและภาคเกษตรยังไม่มั่นใจต่อการมาของน้ำฝน และเร่งให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังแล้ว

เพราะหวั่นว่าหากล่าช้า เมื่อออกมาตรการมาแล้วก็อาจไม่ทันการและเศรษฐกิจชุมชนอาจพังได้

แม้ทางการจะยืนยันว่าแผนจัดการนั้นเอาอยู่แน่ และไม่ต้องกังวลน้ำกินน้ำใช้เพียงพอและไม่ถึงขั้นวิกฤต

ไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนี้ คงได้รู้ว่าใครแม่นกว่ากัน!!!