ในประเทศ / ปิดบัญชีเลือกตั้ง 24 มี.ค. ส.ส.แบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ กกต.แจกเก้าอี้พรรคเล็ก เหมือนจะจบ แต่ไม่จบ?

ในประเทศ

 

ปิดบัญชีเลือกตั้ง 24 มี.ค.

ส.ส.แบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์

กกต.แจกเก้าอี้พรรคเล็ก

เหมือนจะจบ แต่ไม่จบ?

 

การเมืองเข้มข้นตามลำดับ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต 350 เขต 349 คน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม

1 เขต ไม่ได้รับประกาศรับรองคือเขตเลือกตั้งที่ 8 เชียงใหม่ เนื่องจาก กกต.มีมติแจก “ใบส้ม” นายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และสั่งจัดเลือกตั้งใหม่ 26 พฤษภาคม

ต่อมา 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

ศาลลงมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า

รัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณและคิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 วรรคหนึ่ง (2)

แม้บทบัญญัติ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 บัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ดังปรากฏรายละเอียดตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคหนึ่งและวรรคสามแล้ว

จึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91

ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 

วันเดียวกัน ก่อน กกต.ประกาศผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน ในลำดับถัดไป ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.

นายปิยบุตรกล่าวว่า หลังรับฟังคำวินิจฉัย ศาลไม่ได้วินิจฉัยเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ดังนั้น กกต.สามารถนำกฎหมายทั้ง 2 มาตรามาคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้

โดยวิธีคำนวณต้องคิดจากจำนวน ส.ส.พึงมีก่อน ที่ 71,574.98 คะแนน หมายความว่าพรรคใดจะมี ส.ส.ในสภาต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 71,000 เว้นพรรคที่มี ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.พึงมี คือพรรคเพื่อไทย ส่วนอนาคตใหม่มีคะแนนดิบ 6,265,950 จะได้ ส.ส.ทั้งหมด 87 คน

การคำนวณต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 คือห้ามเกิน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค จะนำพรรคได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 มาคำนวณไม่ได้ ดังนั้น จะมีเพียง 16 พรรคที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หาก กกต.ยืนยันใช้สูตร 27 พรรคจะทำให้อนาคตใหม่มี ส.ส.เหลือ 80 คน คิดเป็นคะแนนดิบหายไปประมาณ 600,000 คะแนน 600,000 เสียงของประชาชนที่เลือกอนาคตใหม่หายวับไปกับตา

ส่งผลตามมาหลายประการคือ ความไม่เป็นธรรมจากคะแนนที่หายไป เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้สมัครแบบแบ่งเขต หลายเขตผู้สมัครต้องได้ 30,000-40,000 คะแนนถึงได้เป็น ส.ส. แต่นี่บางพรรคได้ 30,000-60,000 จากทั้งประเทศ กลับได้ ส.ส. 1 คน

รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคฝ่ายต้านการสืบทอดอำนาจ เสียง ส.ส.จะหายไปเกือบ 10 คน หมายความว่าเสียงข้างมากในสภาจะเปลี่ยนไปทันที พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะมีไม่ถึง 250 เสียง

“หากการใช้อำนาจของ กกต.ขัดกับรัฐธรรมนูญจะมีโทษทางกฎหมาย ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. มีบทลงโทษหนัก จึงถือว่าสุ่มเสี่ยงหาก กกต.ใช้สูตร 27 พรรค ที่สำคัญคือกระทบกับทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลและเสียงประชาชนที่เลือก”

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์สรุป เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ตามที่มีพรรคหรือบุคคลแสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเท่ากับรับรองว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อคือสูตรที่แจกพรรคเล็กนั้น พรรคเห็นว่าเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง พรรคยังยืนยันการคำนวณ ต้องกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 โดยเคร่งครัด

กล่าวคือ ต้องไม่มีผลให้พรรคใดได้ที่นั่ง ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ส.ส.พึงมี (ส.ส.พึงมี 1 คนเท่ากับประมาณ 71,000 คะแนน)

การคำนวณที่ต่างไปจากนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคขนาดเล็กที่ได้คะแนนประมาณ 30,000 คะแนน จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส. และอดีต กกต. เคยส่งสัญญาณเตือนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ “จุดตาย” ของ กกต.ชุดปัจจุบัน อาจนำไปสู่การถอดถอนและความผิดทางอาญา

เนื่องจากสูตรคำนวณที่แตกต่างกันและทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างน้อยสองแบบ การตัดสินใจแบบใดแบบหนึ่ง หากพิสูจน์ได้ว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองใดชนะเลือกตั้งและสามารถตั้งรัฐบาลได้

จะเข้าข้อหากระทำการเพื่อให้เกิดความได้เปรียบของพรรคการเมืองหนึ่งทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงเป็นเรื่องที่ 7 กกต.ต้องคิดและรับฟังจากทุกฝ่ายให้รอบคอบ เพราะมีพรรคที่ได้ มีพรรคที่เสีย และเขาฟ้องแน่

กรณีสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแต่พลังประชารัฐที่ไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก

“เป็นเรื่องที่ กกต.จะเป็นผู้พิจารณา หาก กกต.มีแนวทางอย่างไร เราก็พร้อมเดินตามนั้น” นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าว

มีการตั้งข้อสังเกต ถึงอ้างไม่รู้ว่า กกต.จะใช้สูตรคำนวณใด แต่แกนนำพลังประชารัฐไม่ว่านายอุตตม สาวนายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็แสดงออกถึงความมั่นใจอย่างยิ่ง เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งสองระบบเป็นทางการแล้ว

พลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน

 

ไม่เพียงสอดรับกระแสข่าวหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม ซึ่งปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้รับเลือก ส.ส.เขตเข้ามาเป็นพรรคอันดับ 1 จำนวน 137 ที่นั่ง กกต.ก็รู้ทันที จำเป็นต้องใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาแบบใด

ความมั่นใจของพลังประชารัฐยังคล้องจองความเคลื่อนไหวผ่องถ่ายสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย ไปสู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน เพื่อทำภารกิจสำคัญโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับสู่อำนาจอีกครั้ง

ช่วงเย็นวันที่ 8 พฤษภาคม กกต.ประกาศรับรองผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน จาก 26 พรรค (ตามกรอบร้อยละ 95) ดังนี้

พลังประชารัฐ 18, อนาคตใหม่ 50, ประชาธิปัตย์ 19, ภูมิใจไทย 12, เสรีรวมไทย 10, ชาติไทยพัฒนา 4, เศรษฐกิจใหม่ 6, ประชาชาติ 1, เพื่อชาติ 5, รวมพลังประชาชาติไทย 4, ชาติพัฒนา 2, พลังท้องถิ่นไท 3, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2, พลังปวงชนไทย 1 และพลังชาติไทย 1

ส่วนพรรคคะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน แต่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน มีจำนวน 11 พรรค ได้แก่ ประชาภิวัฒน์ ไทยศรีวิไลย์ พลังไทยรักไทย ครูไทยเพื่อประชาชน ประชานิยม ประชาธรรมไทย ประชาชนปฏิรูป พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ พลังธรรมใหม่ และไทรักธรรม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยกล่าวถึงไทม์การตั้งรัฐบาลใหม่ว่า การประกาศผลเลือกตั้ง 7 และ 8 พฤษภาคม จะมีผลถึงวันรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาที่ต้องทำภายใน 15 วันตั้งแต่วันประกาศผลและการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ ส.ว. ต้องทำภายใน 3 วันนับจากวันที่ 8 พฤษภาคม

ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ไม่มีกรอบเวลาตายตัว

เนื่องจากสิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา คือการประชุมแต่ละสภา เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภา และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป

ส่วนรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาพรรคการเมืองที่จะมาร่วมรัฐบาลและตั้งรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการน่าจะอยู่ในเดือนมิถุนายน

สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนกับเหรียญสองด้าน

      ด้านหนึ่งอาจมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือจุดหมายปลายทางโรดแม็ปและรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อให้คนคนเดียวได้อยู่ต่อในอำนาจ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ได้เช่นกัน