พิศณุ นิลกลัด / London Marathon : มาราธอนรักษ์โลก

พิศณุ นิลกลัด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา มีการแข่งขัน London Marathon ซึ่งเป็น 1 ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนรายการสำคัญของโลก

แชมป์ London Marathon 2019 คือเอลียูด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) ยอดนักวิ่งระยะไกลชาวเคนยา ซึ่งปัจจุบันอายุ 34 ปี เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 2 นาที 37 วินาที

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่คิปโชเกได้แชมป์ London Marathon

ปีนี้มีผู้ลงชื่อสมัครเพื่อลุ้นเข้าร่วมการแข่งขัน 414,168 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สมัครชาวสหราชอาณาจักร 347,876 คน และนักวิ่งจากต่างประเทศอีก 66,292 คน และได้ตอบรับให้เข้าร่วมวิ่งจำนวนกว่า 41,000 คน

 

ทุกปีมีนักวิ่งมาราธอนลงแข่งขัน London Marathon หลายหมื่นคน สิ่งที่มากขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนนักวิ่งก็คือจำนวนขวดน้ำพลาสติกที่แจกให้กับนักวิ่งดื่มระหว่างทาง แต่ละปีมีการแจกน้ำให้กับนักวิ่งราวๆ 700,000 ขวด

ปีที่แล้วจำนวนขวดน้ำพลาสติกที่ถูกทิ้งบนถนนในวันที่มีการแข่งขัน London Marathon มีมากถึง 47,000 ขวด

รวมแล้วมีขยะมากถึง 5,200 กิโลกรัม

และอีก 3,500 กิโลกรัม เป็นขยะแบบรีไซเคิล

 

ในปีนี้ทางผู้จัด London Marathon จริงจังมากกับการดำเนินการให้ London Marathon เป็นมาราธอนรักษ์โลก

โดยรับประกันว่าภายในเดือนธันวาคม 2020 จะไม่มีขยะจากการแข่งขันที่ต้องนำไปทิ้งฝังกลบดินและสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

ทางผู้จัดให้คำมั่นว่าจะเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกที่ทำให้การแข่งกีฬาที่มีผู้สนใจจำนวนมหาศาลรายการนี้มีความยั่งยืน (sustainability) มากขึ้น

โดยทดลองใช้แนวทางเพื่อความยั่งยืนต่างๆ เริ่มตั้งแต่การแข่งขัน London Marathon ปีนี้

หนึ่งในแนวทางที่ผู้จัด London Marathon ได้นำมาทดลองใช้คือโครงการรีไซเคิลแบบวงปิด (closed loop recycling project)

โดยรวบรวมขวดน้ำพลาสติกทั้งหมดที่เก็บได้บนเส้นทางการแข่งขัน ได้แก่ เส้นทางช่วงทาวเวอร์ แฮมเล็ตส์ (Tower Hamlets), กรีนิช (Greenwich), เซาท์เทิค (Southwark) และคานารี วอร์ฟ (Canary Wharf) แล้วส่งคืนไปยังโรงงานผลิตขวดน้ำเพื่อแปรสภาพให้เป็นขวดน้ำใหม่และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง ลดการผลิตพลาสติกเพิ่ม

ส่วนบนเส้นทางการแข่งขันที่เหลือก็มีการเก็บขวดน้ำพลาสติกไปรีไซเคิลเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้นำไปคืนสภาพให้เป็นขวดน้ำพลาสติกโดยตรงแบบระบบ closed loop

 

นอกจากนี้ยังลดจำนวนสถานีแจกน้ำดื่มจาก 26 จุด เหลือ 19 จุด ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขวดพลาสติกในการแข่งขันได้อย่างน้อย 215,000 ขวด

เครื่องดื่มให้พลังงานยี่ห้อลูโคเซด (Lucozade Sport) จัดสถานีแจกเครื่องดื่มให้พลังงานของตัวเอง 3 จุดของการแข่งขัน โดยใช้แก้วที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ทั้งหมด จึงสามารถนำกลับไปรีไซเคิลต่อได้

และช่วงกิโลเมตรที่ 37 เป็นจุดแจกเครื่องดื่มให้พลังงาน Lucozade ในถุงรูปหยดน้ำที่ถือพกพาได้ จำนวนมากกว่า 30,000 ถุง ซึ่งเป็นนวัตกรรมของทาง Ooho! Water ที่ผลิตหยดน้ำโดยใช้ส่วนประกอบของสาหร่ายและพืชผัก จึงสามารถรับประทานได้ทั้งถุงโดยไม่เป็นอันตราย

ทั้งยังช่วยลดปริมาณแก้วน้ำที่จะกลายมาเป็นขยะหลังจากดื่มเสร็จ

 

ทาง London Marathon ยังร่วมมือกับ Manhattan Portage แบรนด์กระเป๋าสะพายของสหรัฐอเมริกา ออกแบบสายคาดเอวที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 90% ซึ่งมีทั้งช่องใส่สิ่งของมีค่า และที่เก็บขวดน้ำดื่มขนาด 250 มิลลิลิตร แจกให้นักวิ่งมาราธอนจำนวน 700 คน ได้ลองสวมใช้งานในระหว่างแข่งขันปีนี้

และเฝ้าติดตามปริมาณการดื่มน้ำของนักวิ่งแต่ละคน เผื่อว่าในอนาคตจะสามารถกระตุ้นให้นักวิ่งแต่ละคนพกน้ำดื่มส่วนตัวมาเอง

ช่วยลดปริมาณการแจกน้ำดื่มในการแข่งขันลงได้อีก

และหลังแข่งผู้จัดก็เก็บรวบรวมสายคาดเอวทั้ง 700 ชิ้นมาทำความสะอาดเพื่อใช้ซ้ำในโอกาสต่อไป

ปีนี้ยังมีการทดลองแจกผ้าคลุมที่ออกแบบมาสำหรับใส่สัมภาระและเป็นเสื้อกันฝนให้นักวิ่ง 500 คน

โดยผ้าคลุมลักษณะนี้ก็มีการใช้ใน Berlin Marathon และ New York City Marathon มาแล้วก่อนหน้านี้

เพื่อให้นักกีฬาไม่ต้องพกถุงมาใส่อุปกรณ์เอง ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก ผ้าคลุมนี้จะรวบรวมไปทำความสะอาดหลังจบงาน

ในส่วนของการลงทะเบียนรายงานตัวในวันแข่งขันและเอกสารสำคัญต่างๆ ก็เปลี่ยนมาใช้รูปแบบดิจิตอลทั้งหมดเพื่อลดการใช้กระดาษ

และผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องปริ๊นต์หมายเลขแปะหน้าอกเสื้อด้วยตัวเองในงาน Virgin Money London Marathon Running Show เพราะก่อนหน้านี้ที่เคยมีการปริ๊นต์หมายเลขไว้ล่วงหน้าให้กับผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 52,000 คน ปรากฏว่ามีจำนวนกว่า 10,000 คนที่ไม่มาเข้าร่วมแข่งวิ่ง ทำให้ต้องทิ้งแผ่นป้ายไปโดยเปล่าประโยชน์

ฮิวจ์ แบรเชอร์ (Hugh Brasher) ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน London Marathon บอกว่า ทีมงานทุกคนมีความปรารถนาแรงกล้าเกี่ยวกับแนวคิดที่จะขจัด ตัดทอน และนำหลายๆ สิ่งกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปัจจัยที่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม

พวกเขาเชื่อว่าการแข่งขัน London Marathon กำลังเป็นผู้นำของโลกในการสร้างความยั่งยืนให้กับการแข่งขันกีฬาที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมหาศาล

 

การทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนและผู้บริหารในท้องถิ่นได้เกิดการพัฒนาแนวคิดริเริ่มต่างๆ ทั้งการลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์

ลดการใช้พาหนะขนส่งส่วนตัวของนักวิ่ง

ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและปริมาณพลาสติก

ซึ่งทำให้การแข่งขัน London Marathon ปีนี้มีความรักษ์โลกมากกว่าที่เคย

ทางผู้จัดทราบดีว่านักวิ่งมาราธอนก็มีความปรารถนาที่จะช่วยโลกและพร้อมให้ความร่วมมือทุกอย่าง ซึ่งก็เป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของผู้จัดที่ต้องรักษาสมดุลทั้งในด้านการให้ความสะดวกสบายอย่างเหมาะสมแก่นักวิ่ง พร้อมทั้งลดปัจจัยที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม

เป็นเรื่องยากที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จภายในการแข่งขันครั้งเดียว ปีเดียว แต่ความเปลี่ยนแปลงและการทดลองต่างๆ ที่นำมาใช้ในการแข่งขันปีนี้จะเป็นการแสดงศักยภาพว่ามนุษย์เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้การแข่งขันระดับใหญ่ๆ ได้อย่างไรในอนาคต

ที่แน่ๆ คือ ผู้เข้าร่วมทุกๆ คน ทั้งนักวิ่ง ผู้ชม อาสาสมัคร และพนักงานสามารถสร้างความแตกต่างได้