โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (2)

เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และข้าราชบริพาร หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ บุตรชายแหม่มแอนนา

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (2)

ตามข้อตกลงระหว่างแอนนา เลียวโนเวนส์ กับคิงมงกุฎ เธอจะมีหน้าที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับฝ่ายในอันได้แก่เจ้าจอมและโอรสธิดาของคิงมงกุฎ

แต่เมื่อมาถึงเข้าจริงๆ เธอกลับต้องสวมหลายบทบาท พระมหากษัตริย์ได้เพิ่มหน้าที่ให้เธอเป็นผู้เขียนและตรวจเอกสารภาษาอังกฤษของกษัตริย์อีกด้วย

เธอจึงมิได้อยู่ในฐานะครูสอนภาษาธรรมดา แต่ได้เข้าไปคลุกวงในรู้เรื่องการเมืองและความเป็นไปในราชสำนักบ่อยครั้ง จากการทำหน้าที่ร่างหนังสือให้กษัตริย์

“ฉันมีลูก 67 คน” พระองค์บอกเมื่อเรากลับมาที่ท้องพระโรง

“เธอต้องสอนพวกเขากับบรรดาเมียๆ ของฉันที่อาจอยากเรียนภาษาอังกฤษ และฉันมีจดหมายที่ต้องตอบเยอะ เธอต้องช่วยด้วย นอกจากนั้น ฉันลำบากกับการอ่านและแปลจดหมายภาษาฝรั่งเศส…ยังมีจดหมายต่างประเทศที่ฉันอ่านลายมือไม่ค่อยออก เธอต้องคัดลอกเป็นลายมือบรรจงให้ฉันอ่านได้ง่ายๆ”

อีกบทบาทที่ไม่ได้คาดคิดคือการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และเพ็ดทูลกษัตริย์เวลาฝ่ายในเดือดร้อน

แหม่มแอนนามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ “ฝ่ายใน” และกลายเป็นเพื่อนกัน โดยเฉพาะบรรดาเจ้าจอมนั้นเวลาที่มีปัญหาก็จะมาหาเธอให้ช่วยเหลือเพ็ดทูลให้

กลายเป็นว่าไม่มีใครทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าเธอ เป็นเพราะด้วยฐานะของกษัตริย์ที่อยู่สูงสุดและทรงพระราชอำนาจ ยิ่งโดยเฉพาะกับพวกสตรีฝ่ายในที่ไม่เคยจะเป็นอะไรอื่นได้นอกจากเชื่อฟัง ไม่มีใครกล้าทูลอะไร ความเป็นคนตะวันตกที่กล้าพูดกล้าเถียง กล้าเรียกร้อง ในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง

จึงทำให้แหม่มแอนนาอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างคิงมงกุฎกับแหม่มแอนนานั้นเป็นอย่างที่เรียกว่าทั้งนับถือ ทั้งชังน้ำหน้า เพราะแห่มมคนนี้หัวแข็ง มีเรื่องเอามาให้กษัตริย์ปวดหัวอยู่เรื่อย

ด้วยจุดยืนที่ต่างกัน สิ่งไรก็ตามที่กษัตริย์คิดว่าให้เกียรติแก่เธอเป็นพิเศษ แต่แอนนากลับรู้สึกว่าทำให้อึดอัดใจ กษัตริย์ต้องการให้เธอพักอยู่ในวัง แต่เธอกลับไม่ต้องการ เรียกว่าขัดแย้งกันตั้งแต่เริ่มแรก และกษัตริย์ก็ใช้อำนาจกับเธอตามความเคยชิน แต่แอนนาก็ไม่รู้สึกว่าเธอต้องยอมตามทุกอย่าง

พระองค์เข้ามาหาฉัน พูดด้วยเสียงวางอำนาจ

“พวกเรายินดีที่เธอจะพำนักอยู่ในวังนี้กับครอบครัวของเรา”

ฉันตอบว่าคงเป็นไปไม่ได้เลย

“หม่อมฉันหวังว่าพระองค์จะจำได้ถึงข้อความในจดหมายอันกรุณาที่พระองค์สัญญาว่าจะจัดหาที่พักติดเขตพระราชวัง ไม่ใช่อยู่ข้างใน”

“เธอต้องพำนักในวัง” พระองค์ทรงตะเบ็งเสียง

ฉันหันหลังและเดินไปยังประตู

 

นั่นเป็นช่วงแรกที่แอนนาและคิงมงกุฎมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ความสัมพันธ์ของกษัตริย์และผู้หญิงที่ห่างไกลกับคำว่าว่านอนสอนง่ายแบบที่พระองค์เคยชินเป็นไปในทำนองนี้ตลอด 5 ปีของการทำงาน

หลายครั้งขณะสั่งงานแหม่มแอนนาจะมีข้อโต้แย้ง “แหม่ม เธอนี่เป็นตัวสร้างปัญหาจริงๆ นะ ฉันเอาอกเอาใจเธอสารพัด แต่เธอก็ช่างหัวดื้อเหลือเกิน ไม่ใช่เรื่องฉลาดเลย ทำไมถึงทำตัวเป็นปัญหานัก เป็นผู้หญิงแท้ๆ ทำตัวหัวแข็งเช่นนี้แย่มาก คราวนี้เธอจะยอมเขียนจดหมายถึงเซอร์จอห์นและบอกเขาว่าฉันเป็นสหายที่แสนดีของเขาได้หรือยัง หรือขัดข้องประการใดอีก”

ไม่แปลกใจเลยที่ชาวตะวันตกรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวระหว่างแหม่มแอนนากับคิงมงกุฎจนเอาไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์ที่มีสีสัน ก็เพราะเรื่องราวเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างตัวเอกสองตัวตลอดเวลา

และยังภาพคอนทราสต์ระหว่างพระราชวังที่โอ่อ่ากับบ้านเมืองในโลกตะวันออกที่งามอย่างธรรมชาติ ทว่าป่าเถื่อนทรุดโทรมก็ยังเป็นฉากหลังที่แปลกออกไป

 

เรื่องราวที่ซาบซึ้งที่สุดคือตอนที่แหม่มแอนนาลากลับอังกฤษหลังจากทำงานมาห้าปี

“แหม่ม เธอเป็นที่รักของคนทั่วไป รวมทั้งทุกคนในวังและลูกๆ ของฉันนะ ทุกคนเป็นทุกข์ที่เธอต้องจากไป แม้แต่เจ้าอาลักษณ์ เจ้าเลขานุการติดฝิ่นนั่นก็เสียใจมากเพราะเธอจะจากไป คงเป็นเพราะเธอเป็นสุภาพสตรีที่แสนดีและจริงใจนี่เอง ฉันเองก็โกรธและอารมณ์เสียใส่เธออยู่บ่อยๆ แต่ฉันก็เคารพยกย่องเธอมาก ถึงกระนั้นเธอก็ควรต้องรู้นะว่าเธอเป็นผู้หญิงที่รั้นและรั้นเกินกว่าปกตินัก แต่เธอจงลืมและกลับมาทำงานให้ฉันอีก เพราะฉันไว้เนื้อเชื่อใจเธอมากขึ้นทุกวันนะ ลาก่อน”

มีเหตุการณ์เล็กๆ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันเกี่ยวกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ผู้ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ว่า ระหว่างการให้การศึกษาแก่เจ้านายพระองค์น้อยๆ แหม่มแอนนาได้สอดแทรกหนังสือชื่อ Uncle Tom’s Cabin ให้เด็กได้อ่าน และต่อมามีอิทธิพลต่อรัชกาลที่ 5 ในการเลิกทาส

สำหรับเรื่องนี้แหม่มแอนนาได้เขียนไว้ถึงเหตุการณ์ตอนที่นางลาจากเจ้านายพระองค์น้อยลูกศิษย์ของนางว่า

“สำหรับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ฉันรู้สึกผูกพันกับเจ้าชายวัยเยาว์พระองค์นี้เป็นอย่างมาก พระองค์มักคร่ำครวญกับฉันบ่อยๆ ถึงความโหดร้ายที่พวกทาสถูกกระทำ และแม้จะยังมีพระชนม์น้อย ก็แสดงออกถึงพระเมตตาเหลือล้นที่แสดงต่อผู้คนเหล่านี้ที่รับใช้พระองค์ ทรงเป็นเด็กหนุ่มที่รู้ผิดรู้ชอบ ใคร่ครวญ ครุ่นคิด และอารมณ์อ่อนโยน ฉันเคยนำคนยากจนมากมายที่ช่วยเหลือจนพ้นภัยมาได้ไปฝากให้เป็นข้ารับใช้พระองค์โดยเฉพาะนายตี๋เด็กหนุ่มชาวจีน มีอยู่วันหนึ่งพระองค์รับสั่งกับฉันเรื่องทาสว่า ‘คนพวกนี้ไม่ใช่ทาสหรอก แท้จริงแล้วถือว่าเขาเป็นผู้สูงส่ง เพราะรู้จักอดทน พวกเราที่มีศักดิ์สูงต่างหากเล่าควรจักต้องเรียนรู้ว่าสิ่งไหนสมควรเรียกว่าสูงส่งกว่ากัน ระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่'”

ถ้าเราไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เราจะทราบหรือไม่ว่าอะไรอยู่ในเบื้องลึกของพระหฤทัยตลอดมา และสะสมจนทำให้พระองค์ทรงเลิกทาสในที่สุด