วิกฤติศตวรรษที่21 | เครื่องมือต่อสู้ทางอุดมการณ์ของจีน เพื่อแสดงบทบาทการนำในโลก

วิกฤติประชาธิปไตย (54)

อารยธรรมนิเวศ-เครื่องมือต่อสู้ทางอุดมการณ์ของจีน

อารยธรรมนิเวศกล่าวในทางการต่อสู้ทางอุดมการณ์ เป็นประดิษฐกรรมสำคัญของจีน เพื่อเอาชนะสหรัฐ-ตะวันตกในทางอุดมการณ์

ทำนองเดียวกับสหรัฐ-ตะวันตกที่ชูอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตลาดเสรี เพื่อเอาชนะจีน

ซึ่งในขณะนี้แม้ปรากฏการเสื่อมถอยจนถึงขั้นรู้สึกกันว่าเกิดวิกฤติประชาธิปไตยในโลกตะวันตก มีการชูความคิดชาตินิยมจัด การเมืองใช้เงินตรา การเมืองเชิงอัตลักษณ์ ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ ประชากรคุกมีจำนวนนับล้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากตกต่ำลง ตกเป็น “ทาสหนี้สิน” ไปจนถึงการกีดกันทางการค้าที่เริ่มต้นโจ่งแจ้งในสหรัฐ

แต่ถึงกระนั้นก็รู้สึกกันว่าในสหรัฐ-ตะวันตกมีการประกันสิทธิเสรีภาพได้สูงกว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้รับการประกันดีกว่า

มีการสำรวจพบว่าบรรดาเศรษฐีจีนจำนวนไม่น้อยมีความคิดอพยพไปอยู่ประเทศตะวันตก มีสหรัฐ อังกฤษ ไอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น (ดูรายงานข่าวของ Robert Frank ชื่อ More than a third of Chinese millionaires want to leave China, here is where they want to go ใน cnbc.com 05.07.2018)

อารยธรรมนิเวศเกิดในเนื้อดินของจีนจากเหตุปัจจัยหลายประการ

ข้อแรก คือปัญหามลพิษและความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ การขยายตัวของทะเลทราย

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเกิด “หมู่บ้านมะเร็ง” อัตราเกิดของประชากรต่ำ แหล่งกำเนิดมลพิษในจีน (ที่สำคัญได้แก่โรงงาน) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี จาก 5.9 ล้านในปี 2010 เป็น 9 ล้านในปี 2018 จากการบริโภคที่มากขึ้นของชาวจีน ทั้งยังเป็นโรงงานโลกผลิตสินค้าในแก่ชาวโลกด้วย

ข้อต่อมา ได้แก่ ความต้องการผลักดันเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่อไป เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้หมดจด จำต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ใช้แร่ธาตุพลังงานลดลง ขณะที่ผลิตสินค้ามูลค่ามากขึ้น สร้างที่อยู่อาศัย สำนักงานและเมืองที่สะดวกสบาย และประหยัดพลังงาน จัดระเบียบการตั้งถิ่นฐาน เพื่อประกันไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน พัฒนาแรงงานให้มีความสามารถในการผลิตสูงขึ้น

และข้อท้ายสุด จากทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ ในสหรัฐ-ตะวันตกมีนักลัทธิมาร์กซ์จำนวนไม่น้อยที่ชี้ว่าลัทธิมาร์กซ์ไม่ได้สนใจแต่เรื่องความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน แต่จำต้องให้ความสนใจทางด้านนี้ก่อนเพราะเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือด

แต่มาร์กซ์ยังสนใจความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้ระบบทุนด้วย กล่าวได้ว่า ความขัดแย้งหลังนี้เป็นความขัดแย้งที่สองในระบบทุนนิยม

นักลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญที่สร้างลัทธิมาร์กซ์เชิงนิเวศ จอห์น เบลลามี ฟอสเตอร์ (เกิด 1953) นักสังคมวิทยาสหรัฐ ชี้ว่ามาร์กซ์ถือเรื่อง “รอยร้าวเชิงเมแทบอลิซึม” ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นแกนกลาง ในการวิพากษ์ทุนนิยมมาโดยตลอด เขาเผยแพร่หนังสือชื่อ “นิเวศวิทยาของมาร์กซ์ : วัตถุนิยมกับธรรมชาติ” ตั้งแต่ปี 2000 ชี้ว่า

(1) ทุนนิยมสร้าง “รอยร้าวที่ไม่อาจประสานได้” ใน “ปฏิสัมพันธ์เชิงเมแทบอลิซึม” ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขตลอดกาลของการผลิต

(2) ดังนั้น เรียกร้องให้มีการ “ฟื้นฟูระบบ” ที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์เชิงเมแทบอลิซึ่ม ในฐานะเป็น “กฎบังคับในการผลิตทางสังคม”

(3) อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการทำฟาร์มขนาดใหญ่และการค้าทางไกล (ตลาดโลก) ในระบบทุนนิยมยิ่งเพิ่มความเข้มข้นและขยายรอยร้าวเชิงเมแทบอลิซึ่ม

(4) การเสื่อมโทรมของสารอาหารในดิน สะท้อนในมลพิษและของเสียในเมือง มาร์กซ์ชี้ว่า “ในกรุงลอนดอน พวกเขาไม่สามารถหาวิธีใช้ประโยชน์สิ่งที่ผู้คนสี่ล้านครึ่งขับถ่ายออกมาได้ นอกจากทำให้แม่น้ำเทมส์เน่าเสีย ที่มีค่าใช้จ่ายแพง”

(5) อุตสาหกรรมและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรขนาดใหญ่ ยิ่งเร่งกระบวนการทำลายล้างนี้ โดย “อุตสาหกรรมและการค้าได้สนองสินค้าการเกษตรโดยวิธีทำให้ดินเสื่อม”

(6) ทั้งหมดนี้แสดงออกถึงความขัดแย้งแบบปรปักษ์ ระหว่างเมืองกับชนบทภายใต้ระบบทุนนิยม

(7) การเกษตรที่มีเหตุผล ที่อาจเป็นทั้งแบบเกษตรกรเสรีรายย่อยที่ทำกินของตนเองหรือการผลิตแบบรวมหมู่เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ภายใต้เงื่อนไขของนายทุนสมัยใหม่

(8) เงื่อนไขบังคับสำหรับความสัมพันธ์ที่มีเหตุผลระหว่างมนุษย์กับโลก อยู่พ้นสังคมทุนนิยม และจะเกิดขึ้นได้ในสังคมสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ (ดูบทความของ John Bellamy Foster ชื่อ Marx”s ecology in historical perspective ใน International Socialism Journal ฤดูหนาว 2002)

จีนรับรู้ทัศนะและแนวคิดอันหลากหลายเหล่านี้รวมทั้งแนวคิด “วัฒนธรรมนิเวศ” ที่เสนอโดยนักวิชาการสิ่งแวดล้อมสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ปี 1984 ว่าจุดมุ่งหมายของสังคมนิยมที่สุกงอมจะต้องผ่านสู่วัฒนธรรมนิเวศ ผสานเข้ากับสถานการณ์และความเป็นจริง สร้างเป็นอารยธรรมนิเวศของตนขึ้นมา

การเคลื่อนไหวด้านอารยธรรมนิเวศของจีน

ปี2007 ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของหูจิ่นเทาประกาศว่า จีนจะมุ่งพัฒนาประเทศอย่างทั่วด้าน สอดประสาน และเป็นอารยะทางสิ่งแวดล้อม และยังได้บรรจุเรื่องอารยธรรมนิเวศไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 12 (ใช้ระหว่างปี 2011-2015) แต่เป็นสีจิ้นผิงผู้นำจีนปัจจุบัน ที่ยกอารยธรรมนิเวศขึ้นสู่ระดับทางการ

ในปี 2012 ที่เขาขึ้นเป็นผู้นำพรรค ได้มีการบรรจุอารยธรรมนิเวศไว้ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นเสาหลักหนึ่งในห้าของแผนการพัฒนาทั่วด้านของจีน

ประกอบด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และอารยธรรมนิเวศ

อารยธรรมนิเวศเชื่อมั่นในหลักการสำคัญ คือการเคารพ การป้องกัน และการปรับตัวสู่ธรรมชาติ โดยรวมคือสร้างการสอดประสานระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ในทางปฏิบัติเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การป้องกัน การนำมาใช้ใหม่ การใช้คาร์บอนต่ำ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สีกล่าวว่า “แม่น้ำที่ใสสะอาด ภูเขาเขียวชอุ่ม มีค่าเท่ากับทองและเงิน”

ชนชั้นนำจีนและมีสีจิ้นผิงเป็นแกน เห็นว่าอารยธรรมนิเวศเป็นสาระสำคัญในการฟื้นเยาวภาพให้แก่ชาติ เพราะว่าหากยังฝืนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมตามแนวเดิมต่อไป สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเสื่อมโทรม จนทั้งประเทศไม่น่าอยู่ การสร้างความเติบโตยิ่งมีราคาแพงขึ้น ประชากรจีนก็แก่ตัวลงทุกวัน

การที่จีนในฐานะที่เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองของโลก เข้ามามีบทบาททางด้านสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญมากต่อโลก

ความก้าวหน้าทางนิเวศวิทยามีความสำคัญต่ออนาคตของจีนและของโลก ในปี 2016 “ศูนย์การนำเพื่อการปฏิรูปที่เข้มขึ้น” ได้ออกแผนปฏิรูป 20 แผน เร่งความก้าวหน้าทางสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยคำชี้แนะในการชดเชยความเสียหายในสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้กฎหมาย การเงินสีเขียว การสร้างอุทยานแห่งชาติ การปรับปรุงลุ่มน้ำสำคัญ การขีดเส้นแดงทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมความเข้มแข็งในการป้องกันสิ่งแวดล้อม และการเข้มงวดในโครงการด้านอุตสาหกรรม (ดูบทความชื่อ Xi leads ecological civilization ใน chinadaily.com.cn 22.03.2017)

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนเห็นในเชิงลบว่า อารยธรรมนิเวศที่ปฏิบัติในจีน ก่อนอื่นทำให้จีนเป็นอิสระจากลัทธิสิ่งแวดล้อมของตะวันตก โดยกล่าวว่าแรงขับเคลื่อนด้านนี้เกิดขึ้นภายใน ไม่ใช่ภายนอก และอารยธรรมนิเวศก็คืออารยธรรมการค้า ทำให้เกิดการสอดประสานระหว่างผลประโยชน์ทางนิเวศกับการค้า

นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า การต่อสู้เพื่อเป็นผู้นำโลก เป็นเรื่องของ “วิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ ความบากบั่น การทูตที่เชี่ยวชาญ และบ่อยครั้งต้องใช้เงินสดที่จ่ายคล่อง” เป็นเรื่องที่จะต้องดูต่อไปว่าจีนจะมีความบากบั่นและมีเงินสดจ่ายคล่องมือเพียงใด

อย่างไรก็ตาม พบว่าโลกต้อนรับแนวคิดอารยธรรมนิเวศดีพอสมควร เช่น โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวอารยธรรมนิเวศของจีนหลายครั้ง โดยชี้ว่าชาติต่างๆ สามารถมี “นวัตกรรมทางสถาบัน” ตามความสามารถและความจำเป็นของตนได้

เมื่อสหรัฐสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยภูมิอากาศ กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นการ “แหกตา” ของจีน

ประกาศสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหิน การขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำ

ชูคำขวัญ “อเมริกันเหนือชาติใด” และ “อเมริกันต้องกลับมาใหญ่อีกครั้ง”

ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำจีนแสดงตนเป็นผู้นำในด้านสิ่งแวดล้อม

เศรษฐกิจนิเวศในตะวันตก

ในตะวันตกมีความเข้มแข็งทั้งทางวิชาการและขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น ระดับชาติและภูมิภาค และระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะยกระดับสู่อารยธรรมนิเวศเหมือนในจีน

ทำได้อย่างมากเพียงสร้างวิชาและทฤษฎีทางเศรษฐกิจนิเวศขึ้น ซึ่งก็เป็นเพียงสาขาวิชาทางเลือก พูดคุยกันอยู่ในวงนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว ไม่ได้ใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ชี้ว่าอุดมการณ์ทุนนิยมเสรี การเน้นบทบาทของตลาดและการเติบโตอย่างไม่สุดสิ้นยังคงมีอิทธิพลสูงมากในตะวันตก รวมถึงซากเดนลัทธิอาณานิคม ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ ความพิเศษของชาติสหรัฐ-ตะวันตก ที่ควรเป็นผู้จัดระเบียบโลก

แนวคิดเศรษฐกิจนิเวศมีผู้นำเสนอตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และมั่นคงขึ้นในทศวรรษ 1980 เมื่อมีการจัดประชุมนักวิชาการทางด้านนี้ ความต้องการที่สำคัญก็คือต้องการให้นำเอาประเด็นทางนิเวศวิทยามารวมกับวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่สำคัญคือการนำค่าใช่จ่ายทางนิเวศวิทยามาคิดรวมเป็นต้นทุนในการผลิตด้วย ไม่ใช่ให้ธรรมชาติเป็นผู้จ่าย และเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ

นักวิชาการที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องยาวนานได้แก่ เฮอร์แมน เดลี่ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐ (เกิด 1938) เขาเสนอแนวคิด “เศรษฐกิจคงตัว” ตั้งแต่ปี 1973 เป็นเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ไม่ขึ้นลงเร็ว อยู่ในขอบความจำกัดทางนิเวศวิทยา มีลักษณะยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ถึงเป็นเศรษฐกิจคงตัว ก็เห็นว่าเป็นเพียงการยืดเวลาออกไปเท่านั้น

ทฤษฎีตัวกรองใหญ่และการล่มสลายของอารยธรรม

ทฤษฎีตัวกรองใหญ่เสนอว่า ในกระบวนการเกิดขึ้นของอารยธรรมแบบมนุษย์ในปัจจุบัน ต้องการตัวคัดกรองเพื่อความอยู่รอดหลายขั้นตอน เช่น การมีระบบดวงดาวที่เหมาะสม มีสารอินทรีย์ การเกิดสิ่งมีชีวิตจากเซลล์เดียวเป็นหลายเซลล์ การเกิดสัตว์ที่รู้จักสร้างเครื่องมือและมีสมองใหญ่ จนเป็นไปได้ยากมากที่จะอุบัติขึ้น

ดังนั้น แม้มนุษย์จะพยายามค้นหาสัญญาณแห่งอารยธรรมขั้นสูงมานาน แต่ก็ไม่เคยพบจักรวาลนี้เหมือน “ไร้ชีวิต”

โรบิน แฮนซัน (เกิด 1959) นักฟิสิกส์-เศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐ เสนอทฤษฎี “ตัวกรองใหญ่” (ค.ศ.1998) เพื่อเป็นการเตือนว่า อารยธรรมมนุษย์ก็กำลังผ่านตัวกรองใหญ่ ที่อาจไม่ผ่านรอดได้ ตัวกรองใหญ่ของอารยธรรมมนุษย์ขณะนี้ได้แก่ “ภาวะโลกร้อน” อารยธรรมนิเวศของจีนอาจฟื้นเยาวภาพของจีนและโลกได้ก็แต่เพียงชั่วคราว

สงครามอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ประชาชนชาวรากหญ้าต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองประเทศจริงจังมากขึ้น และนี่คือพลังขับเคลื่อนโลกที่สำคัญ

ฉบับต่อไปเป็นบทลงท้ายและบทสรุปว่าด้วยวิกฤติประชาธิปไตย