นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ปู่อ้าย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเพิ่งไปเยี่ยมเพื่อนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี บังเอิญช่วงนั้นเป็นเทศกาลที่มีการบูชา “เจ้าปู่” ซึ่งเป็นผีหรือเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน รวมทั้งฉลองศาลเจ้าใหม่ซึ่งก่อสร้างเป็นตึกโถงขนาดใหญ่ มีการนิมนต์พระมาสวดมนต์ถวายภัตตาหารเพล เราเลยได้ร่วมฉลองศาลใหม่และได้กินอาหารที่ชาวบ้านร่วมกันจัดถวายพระ อร่อยจนลืมกลับบ้านทีเดียว

ชาวบ้านเล่าว่า งานเทศกาลจัดขึ้นในช่วงนี้ เพราะแต่ก่อนเมื่อใกล้หน้านา ชาวบ้านจะพากันมาบูชาถวายขนมต้มขาวต้มแดงเพื่อขอความคุ้มครองและขอพรให้ได้ข้าวดีในปีนั้น แต่บัดนี้ไม่มีใครทำนาในหมู่บ้านนั้นอีกแล้ว แต่ก็ยังจัดตามประเพณีสืบมา

“เจ้าปู่” จึงต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ แต่ก็ยังสามารถรักษาบทบาทที่สำคัญในหมู่บ้านสืบมาได้ ผิดจากผีหรือเทพารักษ์ (guardian spirits) ประจำหมู่บ้านหลายแห่งที่ผมเคยประสบมา แม้ชาวบ้านมีทุนจะสร้างศาลขึ้นใหม่ให้งดงาม แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีคนไปเคารพบูชาน้อยลงจนบางแห่งแทบไม่มีเอาเลย แม้แต่เทศกาลไหว้ผีประจำปีก็งดไปด้วย

แต่ถึงแม้ว่า “เจ้าปู่” ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านอยู่ แต่จะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไรไม่ทราบได้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่เราได้พบในงานคือผู้หญิง ข้อนี้ไม่แปลกอะไรนัก ผู้หญิงมีบทบาทนำใน “ศาสนา” ผีทุกแห่งทั่วประเทศไทย (จนบางคนเชื่อว่าพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ จากอินเดีย – ซึ่งต้องรวมอิสลามด้วย เพราะในระยะแรกอิสลามเข้าสู่ภูมิภาคนี้ผ่านอินเดีย ไม่ใช่ตะวันออกกลางโดยตรง – คือเครื่องมืออย่างดีของการแย่งชิงบทบาทนำทางจิตวิญญาณของผู้ชายจากผู้หญิง) แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ ทั้งหมดคือคนวัยกลางคนขึ้นไปทั้งสิ้น

ชาวบ้านอธิบายว่า หนุ่มสาวที่ไม่ได้ออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้านพากันไปคัดมังคุด เพราะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวพอดี เพราะฉะนั้น อย่างน้อยวิถีชีวิตในเศรษฐกิจตลาดสมัยใหม่ ก็ทำให้คนเหล่านี้ต้องห่างเหินไปจาก “เจ้าปู่” ในเชิงปฏิบัติ เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่า ในอนาคตข้างหน้าศาลของ “เจ้าปู่” จะยังมีผู้ใช้เพื่อการปฏิบัติบูชาอย่างคึกคักเข้มแข็งสืบไปหรือไม่

ในปัจจุบันนายกเทศมนตรีซึ่งคงเป็นหัวแรงอุดหนุนการสร้างศาลใหม่นี้ก็มองการณ์ไกล เพราะลานกว้างในศาลาโถงหน้าศาลนั้น เขาสร้างเตรียมไว้ให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านใช้ประกอบกิจกรรมออกกำลังกาย

ศาลผีหรือเทพารักษ์ประจำหมู่บ้านในปัจจุบันที่ผมเคยเห็นมา จะผ่านความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในท้องถิ่น จนกระทั่งยังมีผู้ศรัทธาเข้ามากราบไหว้อย่างคึกคักเช่นนี้ได้มีน้อย (เมื่อเปรียบเทียบกับศาลนัตในพม่าและรัฐชาน) ศาลผีท้องถิ่นใดที่ยังคึกคักอยู่ได้ ก็เพราะกลายเป็นที่นับถือของคนนอกชุมชนท้องถิ่น เช่น มีชื่อเสียงด้านใบ้หวยหรือรักษาโรค หรือ ฯลฯ จนรถทัวร์พาผู้ศรัทธาเหล่านี้จากทำเลห่างไกลมากราบไหว้บูชาและแก้บน

แต่ “เจ้าปู่” ไม่ใช่เทพารักษ์ที่ดังขนาดนั้น ยังไม่มีคนนอกเข้ามากราบไหว้บูชาเลย นอกจากพวกเรา

“เจ้าปู่” ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร จึงน่าสนใจมาก

บังเอิญเราได้พบกับร่างทรงของ “เจ้าปู่” ซึ่งสนิทสนมกับกลุ่มเครือญาติของเพื่อน โดยเฉพาะคุณแม่ซึ่งเป็นเหมือน “ประธาน” ของผู้นับถือ “เจ้าปู่” ของหมู่บ้านด้วย ร่างทรงได้กรุณาเล่าประวัติของ “เจ้าปู่” ให้ฟัง ซึ่งผมขอสรุปอย่างย่อๆ ดังนี้

“เจ้าปู่” นั้นเป็นไทยใหญ่ อพยพมาจากเมืองแพร่แต่ผู้เดียว และได้กลายเป็นทหารเอกคนหนึ่งของพระเจ้าตากสิน มีชื่อตัวว่า “อ้าย” ครั้นเมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จกลับเข้าตีกรุงศรีอยุธยาคืนแล้ว ปู่อ้ายก็มิได้ติดตามไปเอาตำแหน่งใหญ่โต แต่ขออยู่ที่เมืองจันท์ต่อไป จึงได้มาพบทำเลซึ่งจะกลายเป็นหมู่บ้านตำบลอันเป็นภูมิลำเนาของเพื่อน

ขณะนั้นทำเลนี้ยังถูกน้ำทะเลท่วมถึง จึงเป็นเกาะแก่งต่างๆ จำนวนมาก ทว่าไม่มีเกาะใดที่มีน้ำจืดเลย นอกจากเกาะซึ่งจะกลายเป็นหมู่บ้านนี้ เพราะมีหนองน้ำจืดอยู่บนเกาะ มีทางเข้า-ออกได้ทางเดียว ปู่อ้ายเห็นเป็นทำเลที่เหมาะสมทางยุทธวิธีจึงขึ้นมาอยู่อาศัยแต่ผู้เดียว นานต่อมาประชาชนชาวชองจึงมาขออยู่อาศัยด้วย และต่อมาก็มีทั้งไทยและจีนเข้ามาขอสมทบอยู่อาศัยกับพวกชอง และคงผสมกลมกลืนจนกลายเป็นชาวบ้านของตำบลนี้ในเวลาต่อมา

เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าตากสิน เกิดราชวงศ์ใหม่ (ร่างทรงใช้คำว่า “รัชกาล” ใหม่) จำเป็นต้องทำพิธีบูชายัญทั่วพระราชอาณาจักร มีคนของหลวงเข้ามาในหมู่บ้านประกาศหาคนดีมีวิชา ปู่อ้ายก็แสดงตนว่าเป็นคนดีมีวิชา เขาจึงเอาตัวปู่อ้ายไปบูชายัญ ด้วยการขุดหลุมแล้วเอาซุงท่อนใหญ่กระทุ้งให้เลือดสาดกระจายขึ้นมาจนทั่วปากหลุม ปู่อ้ายยินยอมให้ทำโดยไม่ปริปากร้อง จนเสียชีวิตแล้วเขาก็กลบหลุมนั้นเสีย

ผมคิดว่าตำนานของปู่อ้ายตามที่คนทรงเล่านั้นมีแก่นเรื่องหลักอยู่สองอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับมโนภาพตัวตนของชาวบ้านในปัจจุบัน หนึ่งคือความโดดเดี่ยวไม่ข้องแวะกับคนอื่น และสองคือนัยยะสำคัญของตัวตนนั้นที่มีต่อสังคมในวงกว้าง อันเป็น “ตัวตน” ที่จำเป็นต้องมี เมื่อชุมชนได้เข้าไปผูกสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมกับโลกภายนอกของประเทศไทยแล้ว

ในแง่ความโดดเดี่ยวนั้นเห็นได้ชัดจากการก่อตั้งชุมชนขึ้นบนเกาะ เพื่อนซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนมาตั้งแต่เกิดเล่าให้ฟังว่า ตำบลของตนนั้นเคยเป็นแหล่งทำนา (คือไม่ใช่ประมง หรือค้าขาย และไม่ใช่สวนผลไม้) จึงมีฐานะค่อนข้างยากจน เมื่อเทียบกับอีกหลายตำบลและอำเภอของจันทบุรี เป็นทำเลที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ค่อยถึง คุณพ่อของเธอเมื่อหนุ่มนั้นเป็น “ไอ้เสือ” ที่มีชื่อมาก แม้แต่แม่บ้านของโรงแรมที่เราไปพัก อยู่ห่างไกลคนละอำเภอกัน ก็รู้จักชื่อคุณพ่อของเธออย่างดีว่าเป็นหนึ่งในสาม “ไอ้เสือ” ที่ลือชื่อของจันทบุรี

แต่ “ไอ้เสือ” ของเขาหมายถึงนักเลงใหญ่มากกว่าโจรที่ยังชีพด้วยการปล้นสะดม คือเป็นคนที่ใช้ปืนและลูกน้องในการปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านไม่ให้ใครมารังแกได้ ในแง่นี้ “ไอ้เสือ” จึงเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองตนเอง โดยถูกอำนาจรัฐแทรกแซงน้อยมาก จนคนแถบนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนดุ ไม่ค่อยมีคนนอกเข้ามาข้องแวะมากนัก ขนาดที่คนทรงเล่าว่า ด้วยเหตุดังนั้น จึงมักแต่งงานกันเองในหมู่บ้านตำบลเท่านั้น กลายเป็นญาติกันไปหมด

(อันที่จริงผมคิดว่าคือสภาพของชุมชนหมู่บ้านไทยในอดีตโดยทั่วไป ก่อนที่รัฐจะขยายอำนาจเข้ามาถึง)

แม้ตำนานปู่อ้ายอาจเก็บเรื่องจริงไว้ด้วย แต่ที่ยังเล่ากันสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ผมคิดว่าความโดดเดี่ยวในตำนานนี้ยังมีบทบาทในการผดุงความเป็นปึกแผ่นของชาวบ้านไว้ด้วย

ความเป็นปึกแผ่นสำคัญอย่างไรแก่ชาวบ้าน? ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของตำบลอาจพออธิบายได้บ้าง

เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เมื่อธุรกิจบ่อกุ้งขยายเข้ามา ชาวบ้านเลิกทำนาแต่หันมาขุดบ่อเลี้ยงกุ้งแทน ทุกครั้งที่เก็บเกี่ยวก็จะได้เงินเป็นหลายล้าน ทำให้ตำบลของเธอมั่งคั่งขึ้นอย่างฉับพลัน แต่อีก 10 ปีต่อมาบ่อก็โทรมจนเลี้ยงกุ้งไม่ได้ผลอีก แต่ชาวบ้านมีเงินเก็บจากกำไรมหาศาล จึงเปลี่ยนบ่อกุ้งมาสู่ธุรกิจโฮมสเตย์ ซึ่งให้กำไรพอสมควร ตลอดเส้นทางถนนหลวงในละแวกนั้นจึงเต็มไปด้วยโฮมสเตย์สีสันแปลกตา รวมทั้งร้านกาแฟหรูๆ ของโฮมสเตย์ด้วย แต่เป็นโฮมสเตย์ที่ไม่เกี่ยวกับ “โฮม” ของเจ้าของเลย เพราะสร้างขึ้นใหม่นอกชุมชน

ผมคิดเอาเองว่า ทั้งธุรกิจบ่อกุ้งและโฮมสเตย์ต้องการแรงงานที่ไว้ใจได้ เพราะผมได้เคยพบเจ้าของบ่อกุ้งในบางจังหวัดบ่นว่า แรงงานคนนอกที่เขาใช้ในบ่อกุ้งนั้น แอบช้อนกุ้งไปขายอยู่เสมอจนแทบไม่เหลือกำไร โฮมสเตย์และร้านกาแฟยิ่งต้องการความไว้วางใจ เพราะต้องไม่ขโมยของลูกค้าและไม่อมค่ากาแฟ (เขาลือกันว่าร้านกาแฟในปั๊มนั้น พนักงานอมค่ากาแฟกันเป็นทีม จึงจับได้ยากยิ่ง)

แต่แก่นเรื่องที่สองคือนัยยะสำคัญของชาวบ้านต่อโลกภายนอกนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ การเอาหมู่บ้านตำบลของตนไปเชื่อมโยงกับพระเจ้าตากสินซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาติผ่านประวัติของปู่อ้าย เป็นตัวตนที่ชาวบ้านย่อมภาคภูมิใจ ประวัติส่วนนี้จะจริงหรือไม่ก็ไม่สู้สำคัญนัก เพราะหากพระเจ้าตากสินทรงระดมกำลังสร้างอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นจริง (และอู่ดังกล่าวก็อยู่ไม่ไกลจากตำบลนี้มากนัก) ถึงอย่างไรก็ต้องเกณฑ์ชาวบ้านตัดไม้มาส่งอู่ต่อเรืออย่างแน่นอน จะแสดงบทบาทชาวบ้านเหล่านี้อย่างไรได้ดีไปกว่าการเป็นทหารเอกล่ะครับ

เช่นเดียวกับการเสียสละเพื่อบูชายัญซึ่งคนทรงเล่าว่า จะทำให้บ้านเมืองเข้มแข็งไม่มีใครมารบกวนและเกิดความเจริญรุ่งเรือง และนี่คือบทบาทของชาวบ้านที่ประวัติศาสตร์ชาติไม่เคยพูดถึง นั่นคือบ้านเมืองจะเข้มแข็งและรุ่งเรืองได้ก็ด้วยกำลังเสียสละของชาวบ้าน พื้นที่ในประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองจากอดีต แต่เกิดขึ้นได้เพราะมีคนไปแผ้วถาง

หากชาวบ้านอยากมีพื้นที่ของตนบ้าง ก็ต้องแผ้วถางให้แก่ตนเอง ด้วยงานวิชาการก็ได้ ด้วยนวนิยายและละครทีวีก็ได้ ด้วยตำนานของเทพารักษ์ประจำหมู่บ้านก็ได้ ไม่ต่างกันนักครับ

ผมตั้งใจพูดถึงประวัติของปู่อ้ายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในหมู่บ้าน เพราะผมเชื่อว่าประวัติของปู่อ้ายที่คนทรงเล่านั้น เป็น “สำนวน” หนึ่งซึ่งได้แปรเปลี่ยนไปจากสำนวนเดิม ผมเคยพบศาลผีประจำหมู่บ้านจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เสื่อมความนับถือไปแล้ว ไม่มีประวัติของเจ้าพ่อครับ ชาวบ้านบอกแต่ว่าก็นับถือกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ก็นับถือกันไป ผมออกจะสงสัยโดยไม่เคยลงมือสืบสวนจริงจังว่า ผีหรือเทพารักษ์เริ่มมีประวัติก็น่าจะหลัง ร.5 ลงมาแล้ว เมื่อคนไทยเริ่มมองผี (หรือแม้พระพุทธเจ้า) เป็นคนหรือบุคคล

เช่นจนถึงทุกวันนี้ ใครเคยรู้ประวัติของเจ้าพ่อหลักเมือง, พระทรงเมือง, พระเสื้อเมืองของกรุงเทพฯ บ้างว่าเป็นใครมาจากไหน

มีอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนจะส่อว่า ตำนานของปู่อ้ายน่าจะมีการต่อเติมมาเรื่อยๆ (ถ้าเคยเป็นบุคคลจริงมาก่อน) เช่นเป็นทหารเอกของพระเจ้าตากสิน, เสียชีวิตเมื่อเปลี่ยนราชวงศ์, เป็นไทยใหญ่ แต่ทำไมจึงมาจากเมืองแพร่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่น่าจะเป็นไทยยวนผสมไทยกาวมากกว่า ถึงอาจมีไทยใหญ่อยู่บ้างก็จำนวนน้อย จนเมื่อมีการทำป่าไม้เชิงพาณิชย์ในสมัย ร.5 แล้ว และเป็นที่เลื่องลือรู้จักกันในหมู่คนไทยสยาม รวมทั้งคนเมืองจันท์ ก็ต่อเมื่อเกิด “กบฏ” เงี้ยวแล้วเท่านั้น

ใครเป็นคนแต่งตำนานของผีและเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน ตอบให้ถึงที่สุดคือชาวบ้านเอง แม้จะแต่งผ่านปากของคนทรงก็ตาม เพราะคนทรงเป็นเหมือนอาลักษณ์ของชาวบ้าน ถึงจะเล่าตำนานตามที่ได้รู้มาระหว่างประทับทรง แต่หากตำนานนี้ไม่ถูกใจชาวบ้าน (เพราะไม่อาจเอาไปใช้ประโยชน์ในทางสังคมได้) ถ้าไม่ถูกเปลี่ยนคนทรง ก็ต้องเล่าใหม่จนกว่าชาวบ้านจะถูกใจและเอาไปเล่าต่อจนกลายเป็นตำนานที่รู้กันทั่วไปในชุมชน

และนี่คือเหตุที่ตำนานผีและเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน (ถ้ามี) ก็จะไม่หยุดนิ่งเป็นอันขาด แต่จะปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมหมู่บ้านไปเรื่อยๆ

สักวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อวัยรุ่นในหมู่บ้านต้องสอบคัดเลือกบ่อยขึ้น (เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย หรือเพื่อเข้างาน) ประวัติของปู่อ้ายในแง่ที่ประสบความสำเร็จ(?)ในการถูก “เลือก” ก็จะได้รับการเน้นและขยายความให้เด่นขึ้น นับตั้งแต่ถูก “เลือก” ให้เป็นทหารเอก, ให้เป็นผู้ก่อตั้งชุมชน, ให้เป็นคนดีมีวิชาที่พึงเสียสละแก่บ้านเมือง ฯลฯ จึงน่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อำนวยความสำเร็จในการเลือกให้แก่ผู้คนได้ดี