สมหมาย ปาริจฉัตต์ : Super Leader / Super Teacher 2019 นวัตกรรมการเรียนรู้หลากหลาย (7)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เดินชมนิทรรศการผลงานนักเรียน สะท้อนนวัตกรรมการเรียนรู้อันหลากหลาย ผู้เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 4 ต่างคนต่างแยกย้ายกันเข้าห้องประชุมวิชาการ 17 ห้อง 17 หัวข้อ เลือกตัดสินใจกันเองตามที่ถนัดและชอบหัวข้อไหน อยากได้ความรู้ ความคิดใหม่ๆ อะไร สุดแต่ใจจะไขว่คว้า

เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมเวทีได้รับข้อมูลครบถ้วน ได้รับรู้บรรยากาศ ยั่วให้รู้สึกเสียดายที่พลาดโอกาสไปด้วย ต้องแจกแจงหัวข้อสัมมนาวิชาการกันเป็นรายห้องกันเลยละครับ

1. อบรมโครงการโรงเรียนผู้ปกครองรุ่นที่ 9 หลักสูตรการเลี้ยงลูกในยุคไทยแลนด์ 4.0

2. Super Leader/Super Teacher 2019 เสนอนวัตกรรมด้านการบริหารและด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ผ่านการคัดเลือก

3. เทคนิคการตั้งคำถามในเด็กปฐมวัย

4. การอบรมเชิงปฏิบัติการ Makerspace การเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21

5. ถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้หลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ และการท่องเที่ยวเชียงใหม่เชิงอนุรักษ์กับการสร้างความรู้เพื่อการมีงานทำ

6. สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยในกลุ่มเด็กและเยาวชน

7. พหุภาษา นวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์

8. การเรียนรู้แบบบูรณาการฐานท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของเยาวชนในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา การจัดการต้นยางนา

9. เรียนสุข สนุกสอน (sQip)

10. วรรณกรรมพหุวัฒนธรรมพื้นถิ่นล้านนา เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาปฐมวัย

11. ศึกษาศาสตร์ มช.กับศาสตร์การสอนแนวใหม่ ข้อค้นพบในการลงพื้นที่ชุมชน

12. นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการประเมินตามสภาพจริง เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม

13. เยาวชนเชียงใหม่กับการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์

14. STEM & ROBOT EDUCATION

15. กิจกรรมการแข่งขันเกม The Choice ทางเลือก-ทางรอด

16. จาก Active Learning สู่ PLC

17. พลังบวกในมุมมืดของ “เด็กหลังห้อง”

 

อ่านหัวข้อแล้ว คอการศึกษาคิดอย่างไร ครับ ทันสมัย น่าสนใจขนาดไหน

แต่ละห้อง นักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร ภูมิปัญญาชุมชน จับจองที่นั่งเต็มหมด อยู่กันตั้งแต่เช้ายันบ่าย ถึงเย็น เก็บสาระ ความรู้ ความคิดใหม่ๆ กันไป และพากันบ่นเสียดายหัวข้อที่น่าเข้าร่วมแต่ไม่สามารถแยกร่างได้

เพื่อให้การจัดเวทีวิชาการงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เกิดผลยั่งยืน เจ้าภาพน่าจัดทำเอกสารรวบรวมสาระสำคัญเป็นบทสรุปเผยแพร่ให้กว้างขวาง และบันทึกไว้ให้เห็นความก้าวหน้าของเวทีแต่ละปี โดยใช้งบประมาณจากเงินบริจาคกองทุน 10 บาทในส่วนของการบริหารจัดการประชุม นั่นแหละ เป็นต้นแบบกับเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปอีกด้วย

ในฐานะนักสังเกตการณ์ ผมประสบปัญหาเช่นเดียวกับแฟนคลับปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ท่านอื่นๆ คือ มีหัวข้อที่น่าสนใจมาก แต่เข้าร่วมได้ไม่หมด

เลยตัดสินใจปักหลักที่ห้องลีลาวดี 1 หัวข้อ Super Leader/Super Teacher 2019 เสนอนวัตกรรมด้านการบริหารและด้านการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ผ่านการคัดเลือก เพราะสอดรับกับแนวหลักของเวทีปีนี้เกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษานั่นเอง

 

เป็นห้องที่เปิดโอกาสให้ครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา นำเสนอนวัตกรรมการศึกษาที่ผ่านการคัดสรรแล้วมานำเสนอ โดยมีทีมนักวิชาการคอยวิจารณ์และให้ข้อเสนอแนะ

นวัตกรรมแรก การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกการดูแลรักษาน้ำแม่ข่า โดยว่าที่ร้อยตรี ดร.เอกพจน์ เกษมกุลทรัพย์ ผู้อำนวยการ กศน. อ.เมืองเชียงใหม่

นวัตกรรมที่ 2 การพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ด้วยนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวคิด STAR STEM หน่วยการเรียนรู้ YRC HERBS HEALTH (Y2H) โดยนายมงคล ปัญญารัตน์ ครูชำนาญการ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

นวัตกรรมที่ 3 การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดกองทราย ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการสร้างทีมงาน โดย ว่าที่ร้อยตรีถนอม ทาคำแปง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกองทราย สพป.เชียงใหม่ เขต 4

นวัตกรรมที่ 4 การจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยระบบดิจิตอล ห้องเรียนออนไลน์ โดยนายพิทยา ธาตุอินจันทร์ ครูชำนาญการ กศน. อ.สันทราย เชียงใหม่

นวัตกรรมที่ 5 การสอนคณิตศาสตร์แบบ active learning ด้วยกระบวนการ 5 STEP เรื่อง ทฤษฎีกราฟ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยนางสุกัญญา เหมืองสอง ครูชำนาญการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

นวัตกรรมที่ 6 การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนแบบองค์รวมโดยใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นฐาน เพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยนายจีระเดช อินทขัติย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าก๊อ สพป.เชียงใหม่ เขต 3

นวัตกรรมที่ 7 สื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนากิจกรรมสภานักเรียน โดยนายนราธิป อินทรปัญญา ครู คศ.1 โรงเรียนบ้านมูเซอ สพป.เชียงใหม่ เขต 5

นวัตกรรมที่ 8 การบริหารจัดการขยะในโรงเรียนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนางบุญธิดา เทวาพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่าศาลา สพป.เชียงใหม่ เขต 1

นวัตกรรมที่ 9 การสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยนางศิราณี บุญเกิด ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านใหม่หนองบัว สพป.เชียงใหม่ เขต 3

นวัตกรรมที่ 10 การพัฒนาการสอนออนไลน์ด้วยกระดานแสง OBS Studio และ Google Classroom โดยนายนิโรจน์ แก้วชะเนตร ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

 

เนื้อหาสาระ บรรยากาศ การนำเสนอของกระบี่มือหนึ่งทางการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่แต่ละท่านเหล่านี้เป็นอย่างไร น่าสนใจเพียงไร ค่อยเล่าสู่กันฟังต่อไป

แต่บอกได้เลยว่า แค่ได้ฟังคำกล่าวเปิดของประธานห้อง สะท้อนแนวคิด ปรัชญาการศึกษายุคปฏิรูปที่คมเฉียบ วิพากษ์กระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา แสบๆ คันๆ ก็คุ้มเกินคุ้มแล้วครับ

ครูของครู ผู้นี้เป็นใคร พูดว่าอย่างไร ตอนหน้าห้ามพลาด แล้วจะเสียดาย