วิรัตน์ แสงทองคำ : งานใหญ่ซีพี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจกันพอสมควรทีเดียว เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ลาออกจากประธานกรรมการบริษัทหนึ่งในเครือซีพี

“นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีภารกิจมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาปฏิบัติงานให้กับบริษัทได้อย่างเต็มที่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562”

ข้อความหนังสือ (ลงวันที่วันเดียวกับวันพ้นตำแหน่ง) ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หากเป็นคนอื่น คงดูเป็นเรื่องปกติ แต่กรณีข้างต้น ทั้ง “ตัวตน” และเหตุผลที่ยกขึ้นมานั้นน่าสนใจทีเดียว

 

ผ่องถ่าย

เรื่องราวธนินท์ เจียรวนนท์ วัย 80 ปี กับบทบาทมากกว่า 6 ทศวรรษในเครือข่ายธุรกิจการเกษตรและอาหาร “ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การแปรรูปเนื้อสัตว์ และผลิตอาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งลงทุนในอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก” มีความหมายเป็นพิเศษ ผู้บุกเบิกธุรกิจดั้งเดิมตั้งต้น เป็นฐานในการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหญ่-เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) รวมทั้งสร้าง “ตัวตน” ของเขาเองในฐานะผู้นำธุรกิจผู้มีชื่อเสียง และร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในระดับภูมิภาค

ซีพีเอฟเป็นหนึ่งในสามบริษัทแกนในเครือข่ายธุรกิจหลักซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น ในขณะที่อีกสองแห่ง (ซีพีออลล์ และทรู คอร์ปอเรชั่น) ธนินท์ เจียรวนนท์ ยังคงเป็นประธานกรรมการ เชื่อว่ามีความสำคัญ มีความสัมพันธ์กับบทบาท ว่าด้วย “ภารกิจมากขึ้น” ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ในมิติกว้างๆ ว่าด้วยการบริหารกิจการที่ควรเป็นไป ธนินท์ เจียรวนนท์ ค่อยๆ ปรับบทบาทตนเองมาก่อนหน้า ตามแผนโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ เขาได้ก้าวลงจากตำแหน่งประธาน ไปเป็นประธานอาวุโสเครือซีพีมาตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อเปิดโอกาสให้บุตรทั้งสามขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารเครือข่ายธุรกิจใหญ่อย่างเป็นทางการ ภาพที่ปรากฏดูเหมือนเครือซีพีกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ค่อยๆ ถอยห่างจากธุรกิจเก่ามากขึ้นๆ

ความเป็นไปดังกล่าว เป็นไปตามแนวคิด ซึ่งเปิดเผยเป็นครั้งแรกๆ อย่างตั้งใจ ผ่านเรื่องเล่าของเขาเอง (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History โดยธนินท์ เจียรวนนท์ ตีพิมพ์ใน Nikkei Asian Review, September 2016)

 

“สําหรับแนวทางการสืบทอดธุรกิจ ผมได้ปรึกษากับพี่ชายทั้งสามคนแล้ว และกำหนดแนวทางคร่าวๆ ไว้ว่า ขั้นตอนแรก ผมจะดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สุภกิตดำรงตำแหน่งประธาน และศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอ โดยระหว่าง 10 ปีถัดจากนี้ไป เราต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ของเครือขึ้นมารับช่วงต่อ ผมคิดว่าผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระการบริหารงานที่ระยะเวลา 10 ปีจะเหมาะสมที่สุด เพราะ 5 ปีนั้นอาจสั้นเกินไป แต่หลังจาก 10 ปี ผมก็จะลงจากตำแหน่งประธานอาวุโส สุภกิตซึ่งเป็นลูกชายคนที่หนึ่งก็จะมารับตำแหน่งประธานอาวุโสแทนผม ส่วนศุภชัยลูกชายคนที่สามก็จะมาดำรงตำแหน่งประธานของเครือ ตำแหน่งซีอีโอที่ว่างลงหลังจากศุภชัยพ้นวาระ ก็จะมีผู้บริหารคนใหม่มาดำรงตำแหน่งต่อไป”

ประธานเครือซีพีคนใหม่ สุภกิต เจียรวนนท์ บุตรคนโตของธนินท์ เจียรวนนท์ ในวัยเกิน 50 ปี ถือว่าได้ผ่านประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างโชกโชนพอตัว ดูเหมือนถูกวางตัวอย่างระแวดระวังแต่แรกในธุรกิจใหม่ๆ ท่ามกลางการขยายอาณาจักรซีพีดั้งเดิม ภายใต้ทีมงาน “ลูกหม้อ” จำนวนมาก

“สุภกิตซึ่งเป็นลูกชายคนโต เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเพื่อนฝูงมากมาย เขาเป็นคนดี คนที่รู้จักต่างก็ชอบเขา สุภกิตรับผิดชอบดูแล “ทรูวิชั่นส์” (True Vision; ธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) ตั้งแต่เริ่มต้น ปัจจุบันสุภกิตยังดูแลการลงทุนขนาดใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์และธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนอีกด้วย” ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวถึงบุตรคนโตไว้คร่าวๆ (อ้างแล้ว My Personal History โดยธนินท์ เจียรวนนท์)

กรณีทรูวิชั่นส์ที่อ้างถึงข้างต้น เป็นเรื่องราวย้อนกลับไปมากกว่า 2 ทศวรรษ หรือในช่วงสุภกิต เจียรวนนท์ ยังอยู่ในวัยหนุ่มไม่ถึง 30 ปี ตำนานเริ่มต้นเชื่อมโยงกับทักษิณ ชินวัตร กับสัมปทานทีวีแบบบอกรับ (Pay TV) ในนาม IBC ครั้งแรกในปี 2532 ขณะเครือซีพีได้เข้าร่วมวงเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจอีกราย ได้รับสัมปทานในธุรกิจเดียวกันในอีก 5 ปีต่อมา

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2541 เมื่อซีพีเข้าซื้อกิจการ IBC กลายเป็น UBC ก่อนจะมาเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นทรูวิชั่นส์ (True Visions) ในปัจจุบันในอีกราวทศวรรษต่อมา

ภาพใหญ่กว่านั้น สุภกิต เจียรวนนท์ มีส่วนร่วมในการบุกธุรกิจสื่อสารมาตั้งแต่ต้น ในฐานะกรรมการบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (เดิมชื่อเทเลคอมเอเชีย) มาแต่ต้นตั้งแต่ปี 2536

ส่วนธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย เขาได้เข้าเป็นกรรมการบริษัทซีพีออลล์เจ้าของเครือข่าย 7-Eleven และ Makro ตั้งแต่ปี 2546 ถือว่าต่อเนื่อง สัมพันธ์กับบทบาทในธุรกิจค้าปลีกในจีนแผ่นดินใหญ่

จากข้อมูลของ C.P. Lotus Corporation (www.cplotuscorp.com) ให้ภาพคร่าวๆ เกี่ยวเนื่องกัน ด้วยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2524 แต่กว่าไปจะดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีน ก็ล่วงมาในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 เปิดร้านค้าในโมเดล Hypermarket แห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้

ปัจจุบัน C.P. Lotus มีเครือข่ายค้าปลีก Hypermarket ในนาม Lotus ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ รวม 70 แห่ง รวมทั้งมี Shopping mall อีก 2 แห่ง

กิจการใช่ว่าจะราบรื่น ในช่วงปี 2549-2551 ต้องดำเนินปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ รวมทั้งยกเลิกกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และเครือข่ายค้าปลีกที่ไม่กำไร

สุภกิต เจียรวนนท์ เข้ามามีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกในจีนในฐานะกรรมการบริหารตั้งแต่ปี 2543 จากนั้นในปี 2555 ก็ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการ C.P. Lotus

สุภกิต เจียรวนนท์ มีตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก ในฐานะประธาน Chia Tai Enterprises International และรองประธาน C.P. Pokphand ทั้งสองบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นกัน รวมทั้ง Ping An Insurance Group แห่งประเทศจีน ซึ่งจดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้

กรณีเชื่อมโยงกับการลาออกของธนินท์ เจียรวนนท์ จากประธานกรรมการซีพีเอฟ เท่ากับเปิดทางให้สุภกิต เจียรวนนท์ เข้ามาเป็นกรรมการซีพีเอฟเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นไปตามจังหวะก้าวประธานเครือซีพีคนใหม่ เข้ามามีบทบาทในบริษัทหลักๆ อย่างครบถ้วน อย่างที่ควรจะเป็น

 

บทบาทใหม่

ภาพที่ใหญ่กว่า ภาพที่สั่นสะเทือนสังคมไทยย่อมมีด้วย เป็นไปตามพัฒนาการเครือซีพีซึ่งเชื่อมโยงกับบริบทสังคมไทยอย่างแยกไม่ออก

ภาพใหม่ๆ ภาพใหญ่ที่ว่านั้น ค่อยปะติดปะต่อมาระยะหนึ่งแล้ว

ไม่มีใครเชื่อว่าธนินท์ เจียรวนนท์ จะวางมือในฐานะนำเครือซีพี หากแต่จะเป็นบทบาทใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ ในการเปิดพื้นที่ สร้างโอกาสใหม่ ภายใต้แรงขับเคลื่อนอย่างมีพลัง เชื่อมโยงกับความเป็นไปทางสังคม อย่างกรณี “ผู้นำซีพีมีความมุ่งมั่นอย่างมั่นคง ในความพยายามก้าวเข้าสู่เกษตรกรรมไทยพื้นฐานที่สุด” (ผมเคยเสนอไว้เมื่อกันยายน 2561)

จากบทสนทนาที่น่าสนใจอย่างจริงจัง ครั้งแรกๆ (มกราคม 2561) “ผมกำลังศึกษาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างเมืองขนาดใหญ่ ประชากร 3-4 แสนคนมาอยู่รวมกัน โดยคนที่อยู่ในเมืองนี้สามารถทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งปลูกพืชเกษตร ทำปศุสัตว์ …โมเดลใหม่จะเป็นเมืองขนาดใหญ่” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวในงานเป็นประธานมอบที่ดินให้ข้าราชการตำรวจที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

อีกครั้ง เขากล่าวกับสื่อไทย ระหว่างการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (สิงหาคม 2561) มีสาระเจาะจงเรื่องข้าว อย่างจับต้องได้มากขึ้น

—ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวมากเกินไป มีปัญหาเรื่องตลาดโลกและราคา ด้วยมีคู่แข่งมากขึ้น ควรลดพื้นที่ลง แล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่

—เครือซีพีพร้อมจะเช่าที่ทำนาแทน โดยให้ผลตอบแทนมากกว่าเดิมอีก 10% ตามโมเดลใหม่ เครือซีพีจะไม่ดำเนินการเอง หากจะหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เชื่อว่าเป็นโมเดลคล้ายๆ กับฟาร์มพันธสัญญา (Contract farming)

—เครือซีพีให้ความสำคัญและเน้นการทำนาไม่ใช้สารปราบศัตรูพืช เป็นไปตามแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค ด้วยระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และใช้เครื่องจักรเน้นว่าต้องเป็นระบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ถึงจะคุ้มกับการลงทุน

ขณะที่โมเดล “เกษตรกรรมแปลงใหญ่” โดยกระทรวงเกษตรฯ ไทย มีการส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง “เป็นระบบส่งเสริมเกษตรแบบหนึ่งที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area based) ในการดำเนินการลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)” นโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยรัฐที่ว่า ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2559

ที่น่าสนใจยิ่งกว่า ก่อนการประกาศลาอออกจากตำแหน่งประธานซีพีเอฟไม่นาน มีข่าวใหญ่เครือซีพีได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการโครงการใหญ่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 3 แห่ง ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คาดกันว่าจะมีลงนามในสัญญาภายในเดือนพฤษภาคมนี้

โครงการดังกล่าวไม่เพียงเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของเครือซีพี ซึ่งมากกว่า 2 แสนล้านบาท

หากเชื่อกันว่าเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ใหม่ทางธุรกิจ เชื่อมโยงกับธุรกิจแห่งอนาคตอย่างหลากหลายและซับซ้อน ถึงขั้นจะเป็นพัฒนาการขั้นใหญ่อีกขั้นในประวัติศาสตร์เครือซีพี

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้บริบททางสังคมกำลังเปลี่ยนผ่านเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจที่เรียกขาน “One Belt One Road”

เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างแท้จริง จะขอกล่าวเพิ่มเติมในตอนต่อไป