จรัญ มะลูลีม : เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (5)

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของไทยและชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตัน

ในการศึกษาด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์พบว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยและพื้นที่ชายแดนตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ถือเป็นสนามวิจัยทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความเหลื่อมล้ำทับซ้อนกันระหว่างความเป็นชาติและความเป็นชาติพันธุ์

การกำหนดพรมแดนแห่งรัฐระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในปี 1909 ทำให้กลุ่มชนเชื้อสายมลายูจำนวนมากกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทย ขณะเดียวกันกลุ่มชนเชื้อสายไทยส่วนหนึ่งได้กลายเป็นพลเมืองของประเทศมาเลเซีย

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนทั้งสองกลุ่ม มีความแตกต่างจากชนส่วนใหญ่ของประเทศตน และคล้ายคลึงกับชนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ขณะที่กลุ่มชนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอยู่ในสังคมร่วมกับชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างสงบสุข

แต่ชาวไทยเชื้อสายมลายูต้องดำรงอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรง

การสำรวจวรรณกรรมที่ศึกษากลุ่มชนทั้งสองกลุ่มพบว่าแม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับชนทั้งสองกลุ่มในหลายประเด็นแต่การศึกษาที่มุ่งเจาะลึกถึงแก่นของการแสดงออกที่มีต่อกันระหว่างกลุ่มชนผ่านการสื่อสารอันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหรือลดความขัดแย้งระหว่างกันยังคงมีช่องว่างขององค์ความรู้อยู่มาก

 

บันทึกประวัติศาสตร์และการหยิบใช้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยเชื้อสายมลายูมักมีลักษณะเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน

แต่สำหรับชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยกลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ค้นพบกับแนวคิดการขัดเกลาทางสังคมจะพบว่าในประเทศมาเลเซียทั้งระบบการศึกษา

(รัฐบาลมาเลเซียจัดสวัสดิการด้านการศึกษาให้กับคนมาเลเซียทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกัน การศึกษาภาคบังคับทุกคนต้องจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 กรณีมีฐานะยากจน รัฐจะมีกองทุนพิเศษให้การช่วยเหลือ พ่อแม่ที่ไม่ส่งลูกไปเรียนก็จะมีความผิดตามกฎหมาย และในกรณีที่ต้องการจะเรียนในระดับสูงขึ้นไป รัฐก็จะมีกองทุนให้ความช่วยเหลือและต้องใช้คืนเมื่อมีงานทำแล้ว ภาษาที่ใช้ในการเรียนจะมี 2 ภาษาคือภาษาอังกฤษและภาษามลายู เด็กที่มีเชื้อชาติใดก็จะเรียนภาษาของเชื้อชาตินั้น เช่น ภาษาจีน ฮินดี (อินเดีย) มลายู เป็นต้น แต่เด็กมาเลเซียเชื้อชาติไทยไม่ได้เรียนภาษาไทย จึงต้องเรียนภาษาไทยที่วัด ซึ่งสอนโดยพระภิกษุหรือสอนโดยพ่อแม่ (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในต้นยำกุ้ง : สถานภาพของคนไทยในมาเลเซียใน Check & Balance, (กรุงเทพ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2007), หน้า 7)

และครอบครัวของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยต่างช่วยกันขัดเกลาให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่เกิดในรัฐกลันตันเติบโตมาด้วยความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตนและประวัติศาสตร์แห่งชาติมาเลเซีย เนื่องจากมีสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันอื่นๆ ทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ในการขัดเกลาทางสังคม

แต่ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูกลับเป็นประวัติศาสตร์ปกปิด

สถาบันครอบครัวส่วนใหญ่ก็ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตนเอง

ส่วนสถาบันการศึกษาก็สอนแต่เพียงประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ค่อนข้างจะไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายู

สิ่งนี้ทำให้สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาไม่สามารถทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนในการขัดเกลาทางสังคมให้กับเยาวชนชาวไทยเชื้อสายมลายูได้

ขณะเดียวกันตัวแทนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนก็มักนำเสนอภาพของความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์อยู่เสมอ

(ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในพีรยุทธ โอรพันธ์ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมลายูในภาคใต้ของไทย และมาเลเซียเชื้อสายไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย วิทยานิพนธ์ (คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2007))

 

การศึกษายังพบว่าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยมักถูกนำไปใช้ในเชิงบวก แต่เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมลายูมักถูกนำไปใช้ในเชิงลบ ส่วนภาพลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเชิงลบ แต่ภาพลักษณ์ของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยมักมีลักษณะเป็นเชิงบวก

เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชนทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกันจะค้นพบความแตกต่างที่สำคัญคือมโนทัศน์ที่อธิบายพฤติกรรมการสื่อสารของชาวไทยเชื้อสายมลายูที่มีต่อชาวไทยเชื้อสายไทยได้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการสื่อสารในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่

แต่มโนทัศน์ที่อธิบายพฤติกรรมการสื่อสารของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่ค้นพบกลับแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการสื่อสารในเชิงบวกมากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการสื่อสารในลักษณะที่เป็นการปรับตัวเข้าหากันและแยกตัวออกจากกัน

 

เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมักเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความไม่ลงรอยกันในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวไทยเชื้อสายมลายูมีพฤติกรรมการสื่อสารที่พยายามปรับตัวเข้าหากันในเชิงรักษาสายสัมพันธ์ภายใต้สถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่

แต่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยกลับแสดงการปรับตัวเข้าหากันในเชิงเพิ่มความสัมพันธ์อันดีให้มีมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยแสดงการแยกตัวออกจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูเมื่อต้องมีการติดต่อสื่อสารในเรื่องศาสนา

(คนมาเลเซียเชื้อชาติไทยประมาณร้อยละ 49 นับถือศาสนาพุทธและมีวัดในประเทศมาเลเซีย รวม 89 วัด มีวัดอยู่ในรัฐกลันตันมากที่สุดคือ 42 วัด งบประมาณในการบำรุงวัดส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากคนมาเลเซียเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาพุทธ) และวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ชาวไทยเชื้อมลายูนอกจากจะแสดงพฤติกรรมแยกตัวออกจากชาวไทยเชื้อสายไทยด้วยเหตุผลทางศาสนาและวัฒนธรรมแล้วยังมีเหตุผลเรื่องอำนาจของคู่สื่อสารและผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของชนทั้งสองกลุ่ม แต่ในปัจจัยย่อยที่เป็นรายละเอียดของแต่ละปัจจัยหลักนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรโดยความแตกต่างดังกล่าวสามารถจำแนกได้เป็นสองประเด็นได้แก่ ประเด็นหลักเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และประเด็นรองเกิดจากอำนาจที่มีมากกว่าของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งน้ำหนักอยู่ที่ประเด็นหลังมากกว่า

ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของชนทั้งสองกลุ่มมีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกั