สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูแท้แพ้ไม่เป็น จากครูเรฟ-ครูไทย (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ฟังคุณครูใหญ่ท่านแรกให้แง่คิดหลัง ครูเรฟ เอสควิท เล่าประสบการณ์ “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ” จบลง ถึงคิวครูใหญ่ท่านต่อไป

ครูนคร ตังคะพิภพ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน เชี่ยวชาญพิเศษ สะท้อนว่าการเสวนาทำให้เกิดภาพสะท้อนหลักๆ สองภาพ คือภาพความสุขของเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้จากครูที่ดี และภาพของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ไม่นำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของการสอน

“ความสุขของเด็กเกิดได้จากการใช้เทคนิคและวิธีการของครู เพื่อทำให้เด็กสนใจและสนุกไปกับการเรียนรู้ ครูต้องมีพลังในการสอนและทุ่มเทอยู่ตลอดเวลา เด็กๆ ในชั้นเรียนหนึ่งอาจมาจากพื้นภูมิหลังที่แตกต่างกันทั้งด้านฐานะ ชนชั้นทางสังคม ภาษา ฯลฯ แต่ครูต้องเป็นผู้ลดช่องว่างเหล่านี้เพื่อสร้างความสุขให้กับเด็กให้ได้”

“ครูต้องมีความเข้มแข็งและอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ ในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการศึกษาที่บีบบังคับให้ครูต้องสอน “วิชา” ไม่ใช่สอน “นักเรียน” ครูส่วนใหญ่มีจิตใจแห่งความเป็น “ครูแท้” กล่าวคือ ครูต้องการสอนนักเรียนให้มีทักษะชีวิตที่ดีและเป็นคนดี ไม่ใช่การสอนให้เด็กๆ สามารถทำข้อสอบได้ดีเพียงอย่างเดียว การปฏิรูประบบการศึกษาไทยจึงควรเริ่มจากการให้อิสระแก่โรงเรียนต่างๆ ในการจัดการเรียน การสอน โดยจัดตั้งโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน และให้โรงเรียนต่างๆ รับมอบหมายงานจากส่วนกลางและนำไปปฏิบัติอย่างอิสระภายใต้บริบทของโรงเรียนนั้นๆ เอง”

 

จากนั้นเป็นรายการเปิดเวทีถามตอบ เสวนาสมาชิกสะท้อนประเด็นสำคัญหลากหลาย อาทิ

“การดุหรือพูดจาไม่ดีกับเด็กไม่ใช่การสั่งสอนที่ถูกต้อง ครูเรฟจะไม่โต้เถียงกับเด็กที่ทำผิดและจะไม่ทำโทษ การทำโทษอย่างเดียวของครูเรฟคือการทำบทเรียนให้มีคุณค่าและสนุกสนานมากจนกระทั่งหากเด็กคนใดพลาดบทเรียนนั้นไป นั่นจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากสำหรับเด็กคนนั้น ตัวอย่างเช่น ในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น หากเด็กคนใดใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้องหรือมีกิริยาไม่ดี ครูเรฟจะเชิญให้เด็กคนนั้นออกไปอยู่ที่มุมห้อง ไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อน จนกว่าเด็กคนนั้นจะเห็นว่ากิจกรรมนั้นน่าสนุกและต้องการโอกาสกลับเข้ามาร่วมกิจกรรมอีกครั้ง ซึ่งครูเรฟจะให้โอกาสเด็กคนนั้นในวันต่อไป”

“แนวคิดดีๆ หลายอย่างที่ครูเรฟใช้ในการสอนนั้นได้มาจากการพูดคุยและการสังเกตการสอนของครูคนอื่น ครูควรสร้างเครือข่ายของครูด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และควรหาเวลาว่างเพื่อไปเยี่ยมเยียนห้องเรียนของครูคนอื่นบ้าง เพราะเพื่อนครูที่อยู่ใกล้ตัวอาจมีวิธีการสอนที่น่าสนใจที่สามารถนำมาปรับใช้กับห้องเรียนตนเองได้”

“มีครูดีๆ อยู่มากมายที่ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ หรือได้รับความสนใจจากเด็กหรือผู้ปกครองเด็กเลย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ครูมีความสุขอย่างแท้จริง ความสุขที่แท้จริงของครูคือการได้ทำงานในทุกๆ วันให้ดีที่สุด”

“งานของครูไม่ใช่งานที่สามารถทำได้เพียงลำพัง เพราะครูต้องเผชิญกับวันที่ยากลำบากอยู่บ่อยครั้ง ครูควรมีเพื่อนคู่ใจเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ญาติพี่น้อง หรือพ่อแม่ เพราะเพื่อนคู่ใจคนนั้นจะสามารถเปลี่ยนวันที่แย่ที่สุดของครูให้กลายเป็นวันดีที่สุดได้”

 

เวทีถามตอบจบ ต่อด้วยการอภิปรายถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดโดยครูนักคิด นักปฏิบัติ นายวีระยุทธ เพชรประไพ ครูรางวัลยิ่งคุณ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และ นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม มี คุณสรวงมนต์ สิทธิสมาน เป็นผู้ดำเนินรายการ ในหัวข้อ “กลยุทธ์การสร้างลักษณะนิสัยและทักษะในศตวรรษที่ 21 : ประสบการณ์และบทเรียนการทำงานของครูไทย”

วิทยากรสะท้อนมุมมองประเด็นสำคัญๆ น่าคิดทีเดียว ระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมามีสิ่งที่เรียกว่า “กับดักทางการศึกษา” ที่ครูต้องเผชิญมายาวนานหลายยุคสมัย

กับดักทางการศึกษานั้นได้แก่ ระบบการศึกษาที่บีบบังคับให้ครูต้องทำงานมากมายนอกเหนือจากการสอน ทำให้ครูไม่มีเวลาให้ความสำคัญกับการพัฒนาการสอนอย่างจริงจัง และปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของครู โดยบังคับให้การเรียนรู้ของเด็กต้องเกิดขึ้นในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

ครูไม่มีโอกาสที่จะจัดการเรียนการสอนอย่างยืดหยุ่นเพื่อผสมผสานการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนเข้าด้วยกัน

“แนวคิดของผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กๆ มาช้านาน ผู้ใหญ่มักห้ามเด็กๆ ไม่ให้ใส่ใจเรื่องราวในชุมชนรอบตัวเพราะเห็นว่าการพัฒนาสังคมเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ส่วนเด็กควรสนใจการเรียนในห้องเรียนเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้เด็กที่มีความสนใจในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไม่มีโอกาสได้ค้นคว้าและลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาจริงๆ”

ในขณะที่บริบทของศตวรรษที่ 21 มีทักษะชีวิตใหม่มากมายที่เด็กจำเป็นต้องสร้าง ซึ่งการเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงลำพังไม่สามารถทำได้ ภายใต้กรอบของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน

ครูควรทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นไปจากกับดักทางการศึกษานี้ และพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อไปได้

 

จากประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนานของครูวีระยุทธและครูพรรณิภา สิ่งที่ทำให้คุณครูทั้งสองสามารถก้าวข้ามกับดักทางการศึกษาเหล่านี้ไปได้คือ ความกล้าที่จะคิดนอกกรอบและกล้าลงมือทำ ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียน

“การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนเพื่อให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชีวิตจริงให้เด็กเห็นเป็นรูปธรรมว่า ทักษะที่ได้เรียนรู้ไปจะมีประโยชน์อย่างไรในอนาคต หลักการนี้นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่ม “ครอบครัวศิลปะ” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้ศิลปะและต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคต”

กิจกรรมนอกระบบเพื่อให้ความรู้และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มจากการจัดทำโครงการพัฒนาเล็กๆ ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ตัวอย่างเช่น โครงการอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลา เพื่อให้เด็กในท้องถิ่นร่วมกันสร้างเครือข่าย คิดหาวิธีการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน และทำความเข้าใจในคุณค่าของชุมชนอย่างถ่องแท้

การที่ครูจะพัฒนาลูกศิษย์ให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ ครูต้องเข้าใจในทักษะเหล่านั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน และครูต้องเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูเอง ส่วนเป้าหมายหลักสี่ประการที่ครูควรทำให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก คือ

1. ความสุขในชีวิต

2. ความรู้และสติปัญญา

3. คุณลักษณะแห่งการเป็นพลเมืองที่ดี

และ 4. ทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพ

 

ครับ สาระหลักจากวงเสวนาที่ทีมงานคณะผู้จัดประมวลไว้ เป็นอย่างที่ผมเก็บมาถ่ายทอดต่อนี่แหละ

ส่วนเนื้อหาในหนังสือ “ครูแท้แพ้ไม่เป็น” สนุก เฉียบคม ลึกซึ้ง โดนใจแค่ไหน ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถาม สสค. ได้ที่ 0-2619-1811 www [email protected] และสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา กำลังพิมพ์จำหน่าย

เป็นหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งที่นักการศึกษาและครูไทยไม่ควรพลาดทีเดียว