อภิญญา ตะวันออก : จากฮานอยถึงปักกิ่ง สู่ลัทธินิคมใหม่ในฮุน เซน โมเดล

อภิญญา ตะวันออก

อาการนิยมจีนคอมมิวนิสต์ในกลุ่มผู้นำเขมรมีมาให้เห็นตั้งแต่อดีต

ในสมัยสีหนุราษฎรนิยมนั้น โอรสอย่างน้อยถึง 2 องค์ที่ศึกษาในปักกิ่งเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พอประเทศเป็นประเจียประนิต(คอมมิวนิสต์) จริงก็สังเวยชีวิตสูญหายอย่างไร้ร่องรอย

พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันก็เจริญรอยราชอันตุกะพิเศษเช่นพระบิดา ที่ต้องเสด็จประทับพระราชวังฤดูร้อน ณ กรุงปักกิ่งคราวละนานๆ และปีละหลายครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ที่กล่าวนี้ก็ค่อนมาครึ่งศตวรรษแล้ว

ในสมัยเขมรแดงนั้น สัญญาใจที่ให้กันระหว่างผู้นำคอมมิวนิสต์ทั้งสอง และราวกับเป็นภารกิจลับในทุกประเด็นแห่งความสัมพันธ์นั้น สำหรับเขมรแดงที่คนทั้งโลกชิงชัง แต่สำหรับผู้นำจีนแล้ว พวกเขาปกป้องไม่ว่าจะเป็น พล พต, เอียง สารี, เขียว สัมพัน และคนอื่นๆ ในทุกมิติที่ผู้นำสูงสุดพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะดำเนินตามพันธสัญญาไม่ทอดทิ้งกัมพูชา

กลับเป็นช่วงเวลาที่ความร่วมมือระหว่างพล พต-สีหนุ-และผู้นำระดับสูงของจีน : โจว เอิน ไหล-เหมา เจ๋อ ตุง-เติ้ง เสี่ยว ผิง อย่างแนบแน่น และพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเองก็จงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์บางประเทศ

โดยไม่ว่าจะมีเหตุแตกหักทางการเมืองที่รุนแรงต่อผู้นำเขมรเช่นใด กระนั้นก็ตาม ข้อเสนอของปักกิ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การปรองดองในที่สุด (เช่นกรณีสีหนุ-เขมรแดง) การแสดงออกซึ่งนำมาของความเป็นบริวารที่ไม่เคยแปรพักตร์ และซาบซึ้งเสมอต่อการหยิบยื่นความช่วยเหลือของจีนใดๆ ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ควรค่าที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะระลึกและให้การตอบแทน

ดังที่สมประโยชน์ซึ่งกันทางนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และนั่นเองที่เส้นทางบก-ทางน้ำและน่านฟ้าอากาศของกัมพูชาเริ่มขยายตัวออกไป จากเดิมที่คือถนนเหนือทะเลสาบที่ตัดตรงไปในจังหวัดเปรียะวิเหียร์-เขตสัมปทานพิเศษด้านเกษตรกรรมเพียงเส้นเดียว

จากนั้นเม็ดเงินลงทุนของจีนก็สยายออกไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ตามด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบในเขตสีหนุวิลล์รวมทั้งสนามบินนานาชาติและท่าเรือน้ำลึกของจังหวัดเกาะกง

 

ความก้าวหน้าในการลงอย่างเป็นระบบองคาพยพนี้ มาจาก 3 กองทุนหลักของจีนที่พร้อมสนองความต้องการของกัมพูชาและต่อโอกาสของนักลงทุนจีน ที่มาพร้อมกับนโยบายทางการเมือง

นั่นคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (เขมรเรียกธนาคารแห่งชาติจีน) ธนาคารเพื่อโครงสร้างพื้นฐานแห่งภูมิภาคเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank/AIIB) และตลาดหลักทรัพย์ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่สนุกกับการอนุมัติเม็ดเงินในโครงการเมกะโปรเจ็กต์แห่งกัมพูชาอย่างสนุกสนาน

ยังไม่นับรวมเม็ดเงินงบประมาณพิเศษที่รัฐจีนมอบให้ (หรือมิฉะนั้นก็ด้วยเงื่อนไขแลกเปลี่ยนพิเศษ) เช่น การสร้างพหุกีฬาสถานแห่งชาติเดโชสเตเดี้ยม เงินให้เปล่าเพื่อการเลือกตั้ง และอื่นๆ

ต่างอย่างสิ้นเชิงในเงื่อนไขหยุมหยิมและจับผิดแต่การคอร์รัปชั่นของธนาคารพัฒนาเอเชีย (The Asian Development Bank) ที่มักชะลออนุมัติโครงการต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการพัฒนา และแน่นอนปัญหาหลักคือเรื่องคอร์รัปชั่น

ต่างกับจีนที่ก่อตั้งธนาคารเอไอไอบีขึ้นมาเมื่อ 5 ปีก่อนพร้อมกับนโยบายบดขยี้เอดีบี กล่าวคือ เอไอไอบีนี้เองที่อนุมัติเม็ดเงินมหาศาลแก่กัมพูชาในหลายโครงการ ทั้งนั้นทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) นโยบายที่จะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำของประชาคมโลก

และโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น กัมพูชากลายเป็นโมเดลตัวอย่างของการพัฒนาตามแนวพลวัตเศรษฐกิจใหม่ของจีน ตัวอย่าง ในความสำเร็จโครงการไตรมาสที่ 2 ของปี 2019

ก่อนหน้านั้น ตอนที่รัฐบาลกัมพูชาลงนามสัญญายกสนามบินทหารเก่ากำปงฉนังให้นักลงทุนจีนไปพัฒนา ดูจะไม่เกินความคาดหมายของหลายฝ่าย

ทว่ายุทธศาสตร์ความร่วมมือจีน-เขมร ที่ไปไกลถึงการลงทุนสร้างสนามบินชายแดนจังหวัดอย่างมณฑลคีรี ขอกล่าวเลยว่า นี่เป็นการยกระดับการพัฒนาจากภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรมสู่ภาคการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และครบสรฺ๊กหรือทั่วทั้งประเทศกัมพูชาอีกด้วย

อภิมหาโปรเจ็กต์ 2019 ทั้งทางบก-อากาศและทางทะเลทั่วราชอาณาจักรกัมพูชานี้ ยิ่งกว่าการเดินทางในโครงการพัฒนาการของกัมพูชาตลอด 2 ทศวรรษ

และรุดหน้ากว่านั้น อาจกล่าวได้ว่า นี่คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม-โลจิสติกส์ ที่ปักหมุดทุกหัวเมืองภูมิภาคกัมพูชา

 

ประเจียประนิต-แห่งลัทธินิคม

ความเป็นชาติที่ปกครองและเคยปกครองแบบคอมมิวนิสต์ (ประเจียประนิต) นั่น คือสิ่งที่ปลูกฝังมากับผู้นำกัมพูชาเต็มไปด้วยพัฒนาการอันพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จฮุน เซน ได้รับโอกาสทางวิสัยทัศน์จากระบอบทุนนิยมสมัยใหม่ด้วยแล้ว

เท่ากับว่า สมเด็จฮุน เซน ได้กระโดดจากร่องทางคอมมิวนิสต์แบบฮานอยไปสู่ระบอบประเจียประนิตแบบปักกิ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยแบบแผนแห่งการพัฒนาด้านการลงทุน และนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย

หลายฉากชั้นในพัฒนาการ ที่ไม่มีใครรู้ซึ้งเกินกว่าสมเด็จฮุน เซน ผู้ซึ่งปรารถนาอย่างลึกซึ้งจะดำรงสถานะผู้นำโลกสมัยใหม่ ทว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ โซ่ตรวนอดีตในระบอบประเจียประนิตที่ตรึงมายาวนานได้ถูกปลดเปลื้องออกไป

นั่นเอง ที่มาของการปลดแอกตนเองออกจาก “ฮานอย” ของสมเด็จฮุน เซน อย่างสะเด็ดน้ำ

ในทันทีที่ฉันได้ยินข่าวสนามบินมณฑลคีรีและรัตนคีรีที่นักลงทุนจีนกำลังเข้าไปพัฒนา ธุรกิจท่องเที่ยวธรรมชาติแบบองค์รวม

และนี่คืออิทธิฤทธิ์ของนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนที่สามารถทำให้ระบบความสัมพันธ์แบบประเจียประนิต “พนมเปญ-ฮานอย” ต้องถึงกาลขาดลง

ยังไม่นับสนามบินและท่าเรือน้ำลึกเกาะกงว่าจะเป็น “ริบบิ้นเพชฌฆาต” ทางการเมืองระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศมหาอำนาจในอนาคตกาลหรือไม่?

 

ถึงตอนนี้ ฉันยอมคำนับศิโรราบอย่างสิ้นสงสัยในหมากกลการเมืองของสมเด็จฮุน เซน ที่ยิ่งใหญ่

นี่คือความปราดเปรื่องที่เกินกว่าจะปรามาสการปลดแอกครั้งนี้ของฮุน เซน เสียมิได้ สำหรับกับดักการเมืองที่ติดมายาวนานในนาม “สหพันธ์อินโดจีนแห่งระบอบประเจียประนิต” อันเป็นที่ยอมรับอย่างไม่เป็นทางการว่า 1 ในฮานอย-ยุทธศาสตร์คือประเทศกัมพูชา

นัยที ฉันแอบยินดีต่ออิสรภาพของเขาที่สามารถประกาศตนเป็นอิสระอย่างสมดุลภาพ สำหรับ 40 ปีประเจียประนิต นับแต่ 7 มกราคม 1979 ที่พลเมืองกัมพูชาจำนวนมากประสบเคราะห์กรรมจากนโยบายนี้

และการที่ฮุน เซน อาศัยความช่วยเหลือจากฮานอยในต่างกรรมต่างวาระจนถูกตราหน้าจากฝ่ายต่อต้านว่าเป็น “จอมเผด็จการ” “สุนัขรับใช้คอมมิวนิสต์” หรืออื่นๆ ซึ่งลูกหลานตระกูลเซนต่างรับคำครหามายาวนาน

แน่นอน หรืออย่างน้อยก็วาระนี้ ผู้อุปถัมภ์รายใหม่ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้า จะสามารถหนุนนำฮุน เซน ให้พ้นจากภาพลักษณ์เดิม

กระนั้น ฉันกลับรู้สึกหวั่นหวาดต่ออำนาจของระบบความสำเร็จระยะสั้นแบบฮุน เซน ที่กำลังใช้ประเทศเดิมพันทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแลกกับผลประโยชน์มหาศาลของตนเองและอีกฝ่าย

อย่างไรนั้น ต้องตีความด้วยว่า นี่อาจเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์เฉพาะกัมพูชาเท่านั้น ต่อความจำเป็นในตรรกะสมยอมของการ “จำนำประเทศ” ในแบบฮุนเซนโมเดล

กระนั้น ความรู้สึกหวั่นๆ เกรงๆ ว่า ในแบบจำลองของผู้นำเขมรนี้อาจส่งผลต่อแนวคิดของผู้นำบางประเทศในอาเซียน ที่กำลังเดินหน้าแลกด้วยอำนาจจากการ “จำนำประเทศ” ในรูปการลงทุนผ่านโครงการ-BRI

“ขอต้อนรับ-อาณานิคมใหม่แห่งจีนโพ้นทะเล”