เทศมองไทย : สะพานรถไฟ เชื่อม “ใจ” ไทย-กัมพูชา

พิธีเปิดสะพานรถไฟเก่าแก่เชื่อมต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมานั้น โดยทั่วไปแล้วถูกมองว่ามีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาให้มากขึ้น

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มมูลค่าการค้าข้ามแดนระหว่างสองประเทศให้สูงขึ้นเป็นสองเท่าให้ได้ภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้

มีแต่มาซายูกิ ยูดะ แห่งนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ที่เขียนถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ที่มองว่านัยสำคัญของเรื่องนี้มีมากกว่าเรื่องการค้าขายระหว่างสองประเทศปกติธรรมดา

 

มาซายูกิให้ข้อมูลเอาไว้ว่า สะพานรถไฟข้ามชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วนี้นั้นถูกทิ้งร้างไร้ประโยชน์ใดๆ มาเป็นเวลา 45 ปีแล้ว ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะร่วมกันประกอบพิธี “เปิดใช้งานใหม่” อีกครั้งเมื่อ 22 เมษายน

สะพานรถไฟแห่งนี้ที่เชื่อมเส้นทางรถไฟข้ามฝั่งจากอรัญประเทศของไทยไปยังจังหวัดปอยเปตของกัมพูชา โดยเจตนาแต่เดิมเมื่อครั้งเปิดใช้งานเป็นปฐมฤกษ์ในปี 1941 นั้น เส้นทางรถไฟสายนี้กำหนดจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของไทยกับกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา

แต่จำเป็นต้องปิดการใช้งานลงโดยสิ้นเชิงในปี 1974 หลังจากที่เส้นทางรถไฟส่วนที่อยู่ในฝั่งกัมพูชาเสียหายอย่างหนักจากการสู้รบซึ่งกันและกันเองของเขมรฝ่ายต่างๆ ในสงครามกลางเมืองยืดเยื้อของที่นั่น

เป็นความคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนเองที่มีคำสั่งให้การรถไฟกัมพูชาดำเนินการซ่อมแซมเส้นทางรางที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นจนแล้วเสร็จ สามารถกลับมาใช้การได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา รวมระยะทางทั้งสิ้น 370 กิโลเมตร

แต่ก็มาชะงักกันอยู่ที่สะพานเชื่อมเส้นทางรถไฟ ซึ่งเพิ่งมีการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เปิดใช้งานได้เมื่อ 22 เมษายนนี่เอง

 

ในปี 2015 พล.อ.ประยุทธ์กับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ร่วมกันลงนามในความตกลงทางการค้าทวิภาคี ที่กำหนดจะขยายการค้าระหว่างชายแดนของประเทศทั้งสองให้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 15,000 ล้านดอลลาร์ให้ได้ภายในปี 2020 โดยผ่านการขยายเส้นทางเชื่อมต่อซึ่งกันและกันทั้งที่เป็นเส้นทางถนนและเส้นทางรถไฟ

ในปี 2018 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การค้าไทย-กัมพูชา รวมมูลค่าทะลุถึง 7,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 245,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2017 ก่อนหน้านั้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์

ในทัศนะของมาซายูกิ ขอเพียงแค่การค้าระหว่างกันขยายตัวในระดับเดียวกันกับปีนี้ เป้าหมาย 15,000 ล้านดอลลาร์ ก็น่าจะบรรลุได้ไม่ยากเย็น ทั้งๆ ที่การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกันยังจำเป็นต้องรออีกระยะหนึ่ง เพราะรัฐบาลของไทยกับรัฐบาลกัมพูชายังไม่ตกลงกันอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ แต่การเชื่อมต่อในอนาคตก็จะเอื้อให้เกิดวิธีการขนส่งสินค้าแบบใหม่ระหว่างกันขึ้นมา จากเดิมที่คอยพึ่งพาแต่รถบรรทุกเป็นหลักเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่มาซายูกิมองว่าเป็นนัยที่มีเหนือกว่าความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีก็คือ สะพานและเส้นทางรถไฟสายนี้ยังถือเป็น “สัญลักษณ์” ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมากระหว่างประเทศทั้งสอง ที่เคยระหองระแหง ขึ้นๆ ลงๆ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1200 เลยทีเดียว

ความขัดแย้งหลังสุดที่ทำให้สัมพันธภาพเสื่อมทรามลงถึงจุดต่ำสุดคือการปะทะกันด้วยอาวุธในพื้นที่ขัดแย้งเขาพระวิหารนั่นเอง

 

แต่หลังจากรัฐบาลทหารก้าวขึ้นมามีอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2014 ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ฟื้นฟูดีขึ้น ในการประชุมร่วมคณะกรรมการชายแดนเมื่อเดือนมีนาคมปี 2018 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ถึงกับยืนยันตรงกันว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นดีกว่าทุกๆ ขณะที่ผ่านมา

ถึงเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ไทยกับกัมพูชายังลงนามในความตกลงเชื่อมต่อท่าเรือเกาะสมุยกับท่าเรือกัมโพธเข้าด้วยกันหากท่าเรือกัมโพธแล้วเสร็จตามแผนของกัมพูชาในตอนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

มาซายูกิเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงเข้ากับเพื่อนบ้านรอบทิศของไทยทั้งเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่ต่างกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงด้วยกันทั้งสิ้น

ในขณะที่ไทยมีตลาดที่พัฒนาไปมากกว่าและมีเทคโนโลยีสำหรับนำเสนอให้กับประเทศเหล่านี้

รวมทั้งอาจมีโอกาสได้ขยายธุรกิจกับจีนที่กำลังครอบงำประเทศเหล่านี้ด้วยเงินช่วยเหลือมหาศาลด้วยอีกต่างหากนั่นเอง