คำ ผกา | ฉันคือคนโง่

คำ ผกา

เพิ่งเขียนเรื่องทำไมเราต้อง “อิน” กับการเมืองไปหยกๆ ก็มีอันต้องผ่านตาไปกับบทความหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามจะบอกว่า

“นี่ๆ พวกเธอ ทำไมไม่รู้จักช่วยตัวเองก่อน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีๆ ก่อน ก่อนจะไปเรียกร้อง นี่ นั่น โน่น ชีวิตตัวเอง กระไรจะเอาไปแขวนไว้กับคนอื่น ขายของไม่ดี แทนที่จะด่ารัฐบาล ทำไมไม่หันมาดูว่าสินค้าตัวเองมีอะไรบกพร่อง ทำไมขายสู้คนอื่นไม่ได้ เอาเวลาด่ารัฐบาลมาปรับปรุงตัวเองดีกว่านะ ชีวิตมันแย่ อันดับแรกควรดึงกะโหลกตัวเองขึ้น เชิดหน้า เข้มแข็ง แล้วสู้เข้าไปอย่าได้ถอย บลา บลา บลา

อ่านไปแว่บแรกก็อยากจะด่าคนเขียนว่าเอาอะไรคิด เพราะหากเรามีชีวิตในแต่ละวันแบบคนที่พยายามจะใช้สมองในการใคร่ครวญถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวเราอยู่บ้าง เราต้องรู้ว่า อาหารที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าการเมืองทั้งสิ้น

เวลาคนพูดเรื่องสิทธิทางการเมืองและความเสมอภาค เขาไม่ได้หมายถึงการที่พลเมืองทุกคนจะรำรวยเท่าๆ กัน หรือทุกคนสามารถมีกระเป๋าแอร์เมสคนละใบสองใบได้เหมือนกันทั้ง 70 ล้านคน

ไม่ได้หมายความว่าทุกคนอยากเป็นคนอายุน้อยร้อยล้านเหมือนกันหมด

แต่อย่างน้อยคนเกือบ 70 ล้านคน 77 จังหวัด ควรจะมี “โอกาส” ในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน บริการทางการศึกษา สาธารณสุข รวมไปถึงโอกาสในสะสมต้นทุนทางการศึกษา วัฒนธรรม ที่ใกล้เคียงกัน

เช่น ถ้าเรามีโรงเรียนอย่าง โรงเรียนดรุณสิกขาลัย หรือโรงเรียนเตรียมอุดมฯ โรงเรียนสาธิต เป็นหมุดหมายว่าด้วยมาตรฐานโรงเรียนที่ดีของสังคมไทย

คำถามที่สำคัญที่สุดคือ เรามีโรงเรียนแบบนี้อยู่กี่แห่งในประเทศไทย และมีอยู่ในจังหวัดไหนบ้าง?

ฉันไม่ได้บอกว่าคนไทยต้องรวยเท่ากัน แต่ฉันอยากรู้ว่าทำไมเราไม่มีโรงเรียนที่มี “คุณภาพ” แบบโรงเรียนเตรียมอุดมฯ” อยู่ในทุกอำเภอของประเทศไทย?

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเพราะเหตุใดจึงมีแต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทำไมในอีกหลายสิบจังหวัดที่เหลือไม่มี?

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องสวนสาธารณะ มิวเซียม โรงละคร ห้องสมุด – เรายอมรับกันไหมว่า ประเทศไทยขาดแคลนสาธารณูปโภคที่จะให้บริการเรื่องการศึกษาแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยมากถึงมากที่สุด

ปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นกับหลายสิบจังหวัดทั้งภาคเหนือนั้นได้รับความสนใจอย่างผิวเผิน หนักกว่านั้นยังถูกซ้ำเติมว่าเป็นเพราะชาวบ้านเผาป่า ชาวบ้านขาดความตระหนักรู้ เห็นแก่ได้ สร้างปัญหามาเป็นภาระของรัฐบาลไปโน่น

มันน่าสลดใจมากที่เราสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมืองที่เรียกว่า “ชาติ” นี้ได้อย่างไม่เคยเห็นหัวเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน เราไม่ตระหนักเลยหรือว่า ในสังคมการเมืองที่เรียกว่า “ชาติ” นี้เป็นหน่วยทางอธิปไตยที่เราไม่เพียงแชร์อำนาจกันอยู่ในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศร่วมกัน

แต่เรายังเสียภาษีด้วยกันทุกผู้ทุกคน

ยกเรื่องภาษีเงินได้ออกไป เราย่อมรู้ว่า งบประมาณบริหารประเทศนี้มาจากภาษีของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ที่ไม่ได้แปลว่าคนชั้นกลางอย่างเราจ่ายมากกว่าคนอื่น ชาวไร่ชาวนาซื้อปุ๋ย ซื้อน้ำมัน เขาก็จ่ายภาษี ความเป็นธรรมเบื้องต้นที่ควรจะเกิดขึ้นคือ ภาษีเหล่านี้จะต้องถูกบริหารโดยมีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นที่ตั้ง

งบประมาณไม่ควรถูกโหมประโคมมาอยู่แค่ที่เมืองหลวงแบบที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ – ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เราเห็น คือ กรุงเทพฯ มีทุกอย่างตั้งแต่สนามบิน รถเมล์ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน โรงเรียนที่ดีที่สุด โรงพยาบาลที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ส่วนอีกหลายสิบจังหวัดในประเทศแค่จะมีน้ำ มีไฟ มีถนน มีโรงเรียนที่พอใช้ได้ ยังยาก

แต่แทนที่เราจะเห็นความไม่เป็นธรรมของการบริหารเงินภาษี การกระจายทรัพยากรและความเจริญอันนี้ เรากลับมีคำอธิบายว่า จังหวัด อำเภอ หมู่บ้านที่เป็น “บ้านนอก” นั้น เป็นเพราะคนขี้เกียจ เป็นเพราะคนขาดการศึกษา

หนักกว่านั้นคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า เมื่อเป็นต่างจังหวัด หรือเป็นบ้านนอก มันก็ต้อง “บ้านนอก” สิ มันไม่อาจจะเป็นอย่างอื่นไปได้

คนชั้นกลาง ไม่ต้องยกตัวอย่างอื่นไกล ตัวฉันเองนี่แหละ ไม่อาจเคลมความสำเร็จของตนเองได้ว่ามาจาก “ตัวเอง”

ฉันไม่ได้ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่สุขสบายเพราะฉันขยันกว่าคนอื่น

ฉันไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะฉันมีวินัยกว่าคนอื่น

ฉันไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะฉันสู้ชีวิตมากกว่าคนอื่น

ฉันไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะฉันมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่น

แต่ฉันประสบความสำเร็จได้เพราะฉันมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอันสูงลิ่วนี้ต่างหาก

ฉันประสบความสำเร็จเพราะครอบครัวมีความสามารถส่งฉันไปเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุดในจังหวัด

ด้วยความได้เปรียบทางการเรียน ทางทรัพยากร เวลา การเรียนพิเศษ การอ่านที่มากกว่าคนอื่น ทำให้ฉันได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี

ทำให้ฉันได้ไปเรียนต่างประเทศ

และในความเหลื่อมล้ำทั้งปวงนี้ ที่คนอีกสามในสี่ของประเทศไม่มีโอกาสเหมือนฉัน

ดังนั้น โอกาสที่มีมากกว่าคนอื่นนิดเดียว คุณก็ส่งตัวเองไปอยู่ในจุดที่เป็นชนชั้นกลางอันพอจะสุขสบายได้อย่างง่ายดาย

มันเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมากว่า ชนชั้นกลางในสังคมไทยที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากนัก โดยมากแล้วพึงใจกับสภาวะที่ฉันอยากเรียกว่าเป็น status quo ของตนเอง

นั่นคือ พวกเขาอาจจะต้องผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดฯ ผ่อนรถ เป็นหนี้

ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีอภิสิทธิ์พอสมควรจากสังคมอันเหลื่อมล้ำนี้ นั่นคือ ชนชั้นนี้แหละที่สามารถกระเสือกกระสนเอาลูกไปเข้าโรงเรียนที่ค่อนข้าง exclusive อย่างสาธิตต่างๆ หรือโรงเรียนทางเลือก หรือเอาลูกเข้าโปรแกรมพิเศษต่างๆ ได้

ในความมีเงินอย่างปริ่มๆ น้ำ พวกเขาสามารถใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนพอไหว ในความมีเงินปริ่มๆ น้ำ พวกเขาสามารถมีไลฟ์สไตล์ที่โดยเปรียบเทียบกับคนอีกร้อยละ 60 ของประเทศ ก็ถือว่าเป็นไลฟ์สไตล์ที่ดู “ไฮโซ” แล้ว ในความมีเงินปริ่มน้ำพวกเขาสามารถจ้างคนทำงาน หรือมีบริวารทำงานให้ตามสมควรทั้งจากการจ้างแรงงานต่างด้าว และจากการที่คนอีกจำนวนไม่น้อยยากจนลงเรื่อยๆ

พวกเขาสามารถหาอาหารข้างถนนราคาถูกกินได้ พวกเขายังพออยู่ได้ เพราะค่าแรงในภาคส่วนต่างๆ ยังถูกกดเอาไว้ ทำให้ค่าครองชีพของพวกเขายังอยู่ในสภาพที่พอจะทานทน

เมื่อมีปัญหาอันเกี่ยวกับนโยบายรัฐ คนเหล่านี้สามารถ get away with it easily เช่น ฝุ่นพิษ ชั้นก็ซื้อเครื่องกรองอากาศ แล้วอยู่แต่ในห้องแอร์ หรือไปอยู่จังหวัดอื่นชั่วคราว

รถติดก็ไม่เป็นไร เพราะติดอยู่ในรถส่วนตัว ไม่ต้องไปติดหรือไปยืนตากแดดตากฝนรอรถเมล์ มีปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในอาหาร ก็กินอาหารออร์แกนิกส์ หรืออีกทีก็ไม่สี่รู้แปดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไปเลย

พูดง่ายๆ ว่าสำหรับชนชั้นกลาง ระหว่างสร้างสังคมเสมอภาค กับการรักษาความเหลื่อมล้ำ และการคงสภาพคนส่วนใหญ่ในโง่ จน เจ็บ คนชั้นกลางเอ็นจอยอภิสิทธิ์ที่ได้จากสังคมเหลื่อมล้ำมากกว่า

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมมีความเสมอภาค มีโรงเรียนคุณภาพดีเยี่ยมในทุกตำบล ทุกจังหวัดมีความเจริญ ทุกจังหวัดที่ร้านกาแฟดีๆ มีโรงหนัง มีร้านหนังสือ มีตลาด มีห้างสรรพสินค้าดีๆ สวยๆ เหมือนกันไปหมด คนทุกอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกัน

สิ่งแรกที่คนชั้นกลางผู้มีเงินเพียงปริ่มน้ำจะสูญเสียไปเลยคือความรู้สึกว่าฉันคือผู้เหนือกว่า ดีกว่า สะอาดกว่า รอบรู้มากกว่า เห็นโลกกว้างกว่า

สิ่งเหล่านี้จะไม่เหลือ เพราะทุกคนจะดูสามัญธรรมดาเหมือนกันไปหมด

การได้รับการรักษาพยาบาลตามคุณภาพที่ควรจะเป็น โรงเรียนที่ดีอย่างที่ควรจะดี การเสพศิลปะ วัฒนธรรม ละคร ภาพยนตร์ ดนตรี ต่างๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่รสนิยมพิเศษที่เอาไว้ใช้อวดโอ่กัน

มันจะไม่ใช่สังคมที่มีบัตรเบ่ง มี fast track มีเส้นมีสาย ไปโรงพยาบาลมีเลาจน์วีไอพี

– ซึ่งการไม่มีสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนชั้นกลางไทยหัวใจสลายไปได้เลย เพราไม่รู้จะเอาตัวเองไปยึดโยงกับอะไร

คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยของสังคมไทย เป็นกลุ่มคนที่มีเงินน้อยแต่มีอภิสิทธิ์มากและเสพติดการมี fast track จากการใช้เส้นสายเพียงเล็กน้อย ได้ถึงจุดสุดยอดหรือ orgasm จากการได้เอาลูกไปเรียนในโรงเรียนที่ลูกคนอื่นเข้าไม่ได้

คนเหล่านี้จึงกลัวสังคมเสมอภาค

กลัวการกระจายอำนาจ

กลัวประเทศไทยจะไม่มีคนบ้านนอก กลัวเมืองไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ต่างจังหวัด” และคนเหล่านี้จึงกลัวประชาธิปไตยและเลือกจะสมาทานแนวคิดเรื่อง

“ฉันได้ดีเพราะฉันขยันและฉันสู้ชีวิตเพราะฉันช่วยตัวเอง”

เพราะแนวคิดนี้ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงกว่าการไปนั่งคิดว่า เอ๊ นี่เราสุขสบายบนความทุกข์ บนการเอารัดเอาเปรียบคนอื่นอยู่หรือเปล่า

มันง่ายที่จะบอกว่า คนอื่นจนเพราะขี้เกียจและโง่ และมันยากที่จะยอมรับว่า ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างในสังคมนี้ทำให้คนโง่อย่างเรามีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ เลยเว้ย เฮ้ยยย