บทวิเคราะห์ : บทบาท AI ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท โฮมดอทเทค จำกัด และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธอส.

ในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค ธุรกิจเอกชน และเศรษฐกิจมหภาค

2 ปีที่ผ่านมา บริษัท โฮมดอทเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโฮมบายเออร์กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทำโครงการศึกษาวิจัย Chula-HOMEdotTECH โดยนำข้อมูลการค้นหาที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคจากเว็บ home.co.th เดือนละกว่าล้านคน และข้อมูลจากเครื่องมือออนไลน์อื่นๆ มาทำการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

มีวัตถุประสงค์เพื่อนำความรู้นี้ไปสร้างเครื่องมือการค้นหาที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกินกว่าประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลจะทำได้

ขณะเดียวกันก็จะจัดทำรายงานเพื่อให้บริษัทอสังหาฯ เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ซื้อ สามารถตอบสนองและค้นหาผู้ซื้อที่ตรงกับสินค้าที่อยู่อาศัยได้แม่นยำขึ้น

 

สําหรับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC นั้น มีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยียุคใหม่ Data science; Machin learning และ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นภารกิจของ REIC ความร่วมมือกับคณะวิศวะ จุฬาฯ และบริษัทโฮมดอทเทคซึ่งมีเทคโนโลยีและบุคลากรเหล่านี้อยู่แล้ว จึงเป็นทางเลือกที่ดี

จะเป็นการนำข้อมูลมหาศาลด้าน Demand side ที่แสดงถึงพฤติกรรมความต้องการของผู้ซื้อ มาร่วมกับข้อมูลด้าน Supply side จากการสำรวจภาคสนาม การนำข้อมูลทั้งแบบมีโครงสร้าง (Structured Data) ข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Data) ข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลจากการสำรวจของ REIC มาร่วมวิเคราะห์

ผลการวิเคราะห์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน บริษัทอสังหาฯ และประชาชนทั่วไป

อาทิ การสร้างดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่อาศัยที่สามารถสะท้อนทัศนคติของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วในแต่ละช่วงเวลา การสร้างแบบจำลองพยากรณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับปัจจัยต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือส่งสัญญาณให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับตัวทั้งด้านดีมานด์และด้านซัพพลายให้สอดคล้องกันเป็นการป้องกันปัญหา

หรือใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยฟองสบู่ล่วงหน้าได้

 

ที่ผ่านมา REIC ได้รายงานผลสำรวจและวิเคราะห์อสังหาฯ รายครึ่งปี รายปีอย่างต่อเนื่องซึ่งได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการปรับตัวได้ดีขึ้นระดับหนึ่ง หากมีข้อมูลครบถ้วนมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น ย่อมทำให้การส่งสัญญาณให้เกิดการปรับตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ AI มาใช้กับอสังหาฯ มีทั้งระดับการให้บริการแก่บุคคลในการใช้ชีวิตภายในที่อยู่อาศัย ซึ่งเริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการเหล่านี้เข้าสู่ตลาดบ้างแล้ว

ในขั้นการค้นหาที่อยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมามีเครื่องมือค้นหาตามที่ผู้ค้นหา “คิดไว้” และต่อไปกำลังจะมีเครื่องมือการค้นตาม “ไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิต” ของผู้จะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเครื่องมือจะประมวลผลข้อมูลจราจรการเดินทาง ลักษณะความชื่นชอบ (persona) และระดับราคา

โดยจะได้ผลลัพธ์เป็นข้อมูลโครงการต่างๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดให้เลือก

 

เครื่องมือดังกล่าวตั้งชื่อว่า homehop ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นที่เป็นต้นแบบ (prototype) เพื่อการพัฒนาต่อไปให้มีประสิทธิภาพและสะดวกในการใช้งานให้มากขึ้น

ในระดับมหภาคจากความร่วมมือ 3 ฝ่ายดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีความริเริ่มที่จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการประมวลและวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานที่มีบทบาทกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์

อนาคตอาจมีมาตรการอะไรใหม่ๆ จากภาครัฐมากกว่ามาตรการเดิมๆ ที่ใช้กัน ก็เป็นได้