“เพื่อไทย” ไม่ถอดใจ สั่งขุนพลพร้อมสู้ทุกเกม

หลังจากว่างเว้นการประชุมพรรคมานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจการปกครองโดย คสช.เนื่องด้วยกฎระเบียบต่างๆ ของคณะรัฐประหารที่ออกมาสั่งห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและนักการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการจับกลุ่มถกกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” ได้นัดสมาชิกพรรคทั่วประเทศมาร่วมประชุมเพื่อรับรองงบประมาณ และรับทราบการดำเนินการของพรรคตลอดช่วงระยะเวลาหลายปี

การประชุมใหญ่ครั้งนี้นอกจากจะได้เห็นหน้าค่าตาของอดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตทั้ง 250 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคทั้ง 97 คน และสมาชิกพรรคเพื่อไทยทั่วประเทศจำนวนกว่าครึ่งพันแล้ว

ยังได้เห็นหน้าค่าตาของแกนนำ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ทุกรุ่น ทุกพื้นที่ด้วย

การกลับคืนรังเก่าอย่างพรรคเพื่อไทยของสมาชิกไทยรักษาชาตินั้นกลับมาครบ ทั้ง “บิ๊กเนม” “โนเนม” ทั้งอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ

โดยฝ่ายยุทธศาสตร์แนะให้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยทันทีชนิดที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติปุ๊บ วันถัดมาก็มายื่นใบสมัครเข้าพรรคเพื่อไทยปั๊บ

เหตุที่ต้องรีบยื่นใบสมัครสมาชิกกลับสู่รั้วบ้านเก่านี้ “ผู้ใหญ่” ให้เหตุผลว่า

“เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้มีอันต้องเลือกตั้งใหม่ ตัวบุคคลต่างๆ จะได้พร้อมลงสู้ศึกทันทีโดยไม่ติดขัดเรื่องเงื่อนเวลาการเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน”

บรรยากาศการประชุมใหญ่ “พรรคเพื่อไทย” ในวันนั้นจึงคึกคัก และพร้อมที่จะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อขับเคลื่อนพรรคในเกมการเมืองกระดานการเลือกตั้งปี 2562 นี้ร่วมกัน

ในที่ประชุมได้มีการให้สมาชิกยกมือแสดงความเห็น และสะท้อนสิ่งที่อยากให้พรรคดำเนินการแก้ไข

โดยเรื่องที่สมาชิกได้สะท้อนก็มีเรื่อง อาทิ การปรับตัวของพรรคเพื่อไทยว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้พรรคอยู่รอด

โดยมีคนเสนอว่า พรรคควรปรับวิธีการทำงาน ปรับภาพลักษณ์ และการปรับทัพโดยการกระจายงานให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน และมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานของพรรคมากขึ้น ไม่เช่นนั้นวันข้างหน้าพรรคเพื่อไทยจะไม่รอด

และหากมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งพรรคน้องใหม่อย่าง “อนาคตใหม่” มาแน่ และอาจจะมามากกว่าครั้งนี้จนเกินจะคาดเดา

เพราะหลายเขตที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย เช่น เขต 1 จังหวัดเชียงราย “นายสามารถ แก้วมีชัย” อดีต ส.ส.หลายสมัย ก็ยังพ่ายให้กับเด็กหนุ่มจากพรรคอนาคตใหม่แบบไม่คาดคิด

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยที่พรรคเพื่อไทยเอาชนะมาได้ด้วยคะแนนเพียงหลักร้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงสำคัญหนึ่งในการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่ทำให้สมาชิกทั้งห้องต้องเงียบแล้วตั้งใจฟังคือ แกนนำที่ประชุมได้มีการสั่งการให้สมาชิกทุกคนของพรรคกลับไปลงพื้นที่ตามเดิมเพื่อเข้าถึงพี่น้องประชาชน และเพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ไว้

โดยเฉพาะคนที่จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งให้เตรียมความพร้อมไว้ตลอด

โดยพรรคประเมินว่าอาจมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 คาดว่ารัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะไปเร็ว เพราะไม่มีเสถียรภาพ

ทำเอาบรรดาว่าที่ ส.ส.ถึงกับหลุดอุทานคำว่า “อื้อหือ” ออกมา

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขณะนี้การเลือกตั้งที่แล้วเสร็จไป แต่ยังไม่มีการรับรองผลอย่างเป็นทางการ พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.เพียง 137 ที่นั่ง เป็น ส.ส.เขตเพียวๆ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สอบตกกันถ้วนหน้า

เพราะ ส.ส.เขตทำคะแนนโอเวอร์แฮงก์ เกินจำนวน ส.ส.ที่พรรคพึงมีไปมาก การไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยนี้ทำให้การเคลื่อนทัพของพรรคเพื่อไทยยากขึ้น เพราะตัวแกร่งและตัวจี๊ดในฝั่งของพรรคไม่ได้เข้าสภาเลยแม้แต่คนเดียว ทั้ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ทั้ง “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ทั้ง “นายภูมิธรรม เวชยชัย” ฯลฯ

ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็เป็นงานง่ายไม่มีปัญหา

แต่หากต้องเป็นฝ่ายค้าน การนำทัพเพื่องัดข้อกับรัฐบาล จำต้องมีการตั้ง “หัวหน้าพรรคคนใหม่”

แน่นอน ต้องหยิบเอา 1 จาก 137 ส.ส.เขต มานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 106 บัญญัติไว้ว่า

“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง ส.ส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และ ส.ส.ที่มิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่งมีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

ดังนั้น ก่อนหน้าวันประชุมพรรคเพียง 1 วัน จึงมีกระแสข่าวลือหนักว่าจะมีการเปลี่ยน “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ที่ “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” ขับเคลื่อนนำทัพมาตลอดยุคการครองอำนาจของรัฐบาล คสช. เป็น “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 5 เพื่อเตรียมรับศึกในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน

แม้กระแสข่าวนี้ บรรดาแกนนำพรรคจะออกมาปฏิเสธว่าในวันดังกล่าวยังไม่มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แต่อย่างใด เพราะพรรคเพื่อไทยยังมีสิทธิโดยชอบที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ และเสียงที่รวมได้คร่าวๆ ขณะนี้ ฝั่งของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำก็ยังสูสีกับฝั่งของพรรคพลังประชารัฐ

แม้จะพูดแบบนี้ แต่หากมองไปที่โครงสร้างการทำงานของพรรคจริงๆ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ด้วยโครงสร้างอย่างไรก็ต้องมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เพราะพรรคการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจำเป็นต้องมีหัวหน้าพรรคในสภาที่เป็น ส.ส. เมื่อ “พล.ต.ท.วิโรจน์” ไม่ได้เข้าสภา

ดังนั้น ไม่ช้าก็เร็ว พรรคเพื่อไทยต้องมีการดำเนินการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคอยู่ดี ไม่ใช่การยอมแพ้หรือถอยอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อปรับเกมสู้ในรูปแบบต่างๆ และด้วย “คุณสมบัติ” ของคนที่เพื่อไทยวางไว้ว่าอย่างน้อยจะต้องเป็นคนที่มีแรง (ทั้งแรงทุน และแรงบารมีที่มากพอที่จะทำให้คนฟัง) มีกำลัง (ทางการเมือง) มีชั้นเชิง เจรจากับทุกฝ่ายได้ และมีกลุ่มสนับสนุน

ไล่ชื่อดูจาก 137 คนที่ได้เป็น ส.ส. ก็ไม่เห็นใครที่มีจะครบเครื่องไปกว่า “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์”

จากวันที่มีชื่อปรากฏจนถึงวันนี้ แม้เจ้าตัวจะยังไม่คอนเฟิร์ม แต่ลำดับที่นั่งในการประชุมใหญ่ของพรรคที่อยู่หน้าสุด ใกล้ชิดกับที่นั่งของแคนดิเดตนายกฯ และการออกหน้าเดินสายทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงหลังวันการประชุมพรรคก็สะท้อนให้เห็นนัยยะบางอย่างได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น วันนี้สำหรับพรรคเพื่อไทย หากมองแค่เรื่องในพรรคก่อนก็ยังมีปัญหา และยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องยกเครื่องใหม่ แม้จะยังทำไม่ได้เต็มที่นัก

เพราะผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนยังไม่ออกมา ไหนจะใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ ที่ยังอาจจะตามมาเช็กบิลได้ตลอดเวลา