วิกฤตศรัทธา! ฝ่าทางตัน “รัฐบาลพิเศษ-นายกฯ คนสำคัญ” เซ็ตซีโร่ “ระบบเลือกตั้งใหม่” ?

สถานการณ์หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา นอกจากการงัดข้อทางกฎหมายของพรรคและขั้วต่างๆ เพื่อร้องเรียนและตรวจสอบคู่ตรงข้ามแล้ว อีกสิ่งที่ตามมาคือ “วิกฤตศรัทธา” ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่ถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมาก

ถือเป็นอีก “แรงสะวิง” ที่ตีกลับไปยัง คสช.กับรัฐบาล รวมทั้งถูกโยงไปถึงพรรคพลังประชารัฐ เพราะมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ

ทำให้ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการมองข้ามช็อตไปว่าเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะกลายเป็น “โมฆะ” หรือไม่

แม้ว่าทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้ตีตกคำร้องนี้ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการพิจารณาในแง่มุมอื่นเพื่อให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคมเป็นโมฆะนั้น จะเป็นไปไม่ได้

ท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมาย้ำว่าอย่าคิดถึงแต่ความต้องการกับความถูกต้องของตัวเองเป็นหลัก และที่ผ่านมา กกต.ก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ ในเขตที่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนมาแล้ว

“วันนี้ขอให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย อย่าคิดถึงแต่ความต้องการและความถูกต้องของตัวเองเป็นหลัก เราควรต้องเอากฎหมายกระบวนการยุติธรรมมาพิจารณา ดูแล ซึ่งหลายอย่างถ้าเราคิดกันไปคนละทางสองทาง ก็จะเลอะเทอะไปเรื่อย เลือกตั้งใหม่ ให้นับคะแนนใหม่ ก็ทำแล้ว ก็นับให้ ทำให้แล้ว ยังไม่พอใจกันอีก ก็ไม่รู้จะทำยังไง วันนี้มันเป็นคะแนนเสียงของประชาชน จึงขอร้องทุกคน อย่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำงานการเมืองโดยยึดถือ 3 สถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งประเทศชาติจะต้องมีความสงบโดยรวม ทุกคนต้องช่วยกัน”

ในสภาวะที่หลายฝ่ายมองว่า หลังเลือกตั้งแล้ว “การเมืองยังคงไม่แน่นอน” นั้น พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าทุกอย่างมีความแน่นอน เพราะมีการกำหนดสิ่งต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลได้กำหนดโรดแม็ปออกมาแล้ว

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้แง้มช่องเผื่อ “ความไม่แน่นอนถ้าเกิดขึ้น” ออกมาด้วย

“หากความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมา คงเป็นเพราะพวกเราหลายๆ คนที่คิดต่างไปคนละทางสองทาง บางทีก็ไม่ยึดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก คิดแต่กฎหมายที่เข้าข้างตัวเองโดยตลอด อย่างนี้ก็ไปไม่ได้ทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เองก็มีท่าทีที่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้และสามารถเลือกนายกฯ ตามกลไกของสภาแบบปกติ

ในห้วง 1 เดือนมานี้ ทั้งฝั่งพรรคเพื่อไทย-พรรคพลังประชารัฐต่างก็พยายามรวมเสียงตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยชิงความได้เปรียบที่ได้เก้าอี้ ส.ส.อันดับ 1 จับมือตั้งรัฐบาลขั้วต้าน คสช. พร้อมลงนามสัตยาบัน ในส่วนพรรคพลังประชารัฐก็อาศัยได้ Popular Vote อันดับ 1 ย้อนศรตั้งรัฐบาลสู้เช่นกัน

จนมีกระแสข่าว “งูเห่าออกฤทธิ์” หรือ “พรรคโป๊ะแตก” ขึ้นตามมา โดยเฉพาะการเจาะ-ล้วงเข้าไปในขั้วต้าน คสช.

แต่ไม่ว่าจะขั้วใด ก็จะได้ “รัฐบาลปริ่มน้ำ” เพราะเสียงเกิน 251 เสียงมาไม่มาก มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล จึงมีการออกมาเสนอโมเดล “รัฐบาลแห่งชาติ-นายกฯ คนกลาง” ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา

โดยมีจุดสำคัญที่จะดึงทุกพรรคทุกขั้วเข้าร่วมคือการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปลดล็อกหรือเซ็ตซีโร่ทางการเมือง แต่ข้อจำกัดของการมี “รัฐบาลแห่งชาติ” คือจะไม่มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุล

รวมทั้งการยอมรับ “นายกฯ คนกลาง” ที่จะเป็นใครมาจากไหน

ในเวลาต่อมาจึงเริ่มมีการพูดถึงชื่อ “นายกฯ คนกลาง” ขึ้นมา โดยกล่าวถึง 4 องคมนตรี ที่เป็นอดีตข้าราชการและอดีตนายทหาร ที่มากด้วยประสบการณ์และความสามารถ ได้แก่ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นายพลากร สุวรรณรัฐ อดีตข้าราชการฝ่ายปกครอง, พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ., พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1

ซึ่งจุดสำคัญของ “นายกฯ คนกลาง” จะต้องเป็นที่ยอมรับจากสังคม รวมทั้งสามารถเข้ามาบริหาร “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่รวมหลายขั้วพรรค เข้ามาอยู่ด้วยกันได้

ในเวลานี้ฟากฝั่งทางการเมืองต่างก็จับทิศทางสถานการณ์หลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ กกต.จะประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ไม่น้อย จึงทำให้ “พรรคตัวแปร” หลายพรรคยังไม่ตัดสินใจทางการเมืองหรือประกาศสิ่งใดออกมา เพราะต่างเห็นทิศทางลมที่อาจได้เห็น “บิ๊กเซอร์ไพรส์” อีกรอบหรือไม่

ในช่วงที่บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อยในช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญ เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของตัวแปรสำคัญคือ “ทักษิณ ชินวัตร” นิ่งลงและโลว์โปรไฟล์ตัวเองมา 1 เดือนแล้ว

รวมทั้งท่าทีฝั่ง “ตระกูลชินวัตร” ที่นิ่งลงด้วย มีเพียงบทบาทของพรรคเพื่อไทยที่ทำหน้าที่ตอบโต้ เดินเกมทางการเมือง โดยเฉพาะการตรวจสอบการทำงานของ กกต.และยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ ที่มีการวิเคราะห์กันว่าจะกลายเป็น “โดมิโน” ทั้งกระดานหรือไม่

ในบางพรรคการเมืองก็เริ่มมีการมองอนาคตว่าอาจมี “รัฐบาลพิเศษ-นายกฯ คนสำคัญ” ขึ้นมาแก้วิกฤต แต่เป็นเพียงการมองสถานการณ์ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้เท่านั้น เพื่อให้ “รัฐบาลพิเศษ” มาจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย แล้วให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่

จึงเป็นที่มาของ “บางพรรคการเมือง” ที่ยังมีท่าทีแทงกั๊กอยู่ในเวลานี้ อีกทั้งพร้อมปรับตัวไปตามทางลมตลอดเวลาด้วย

ย้อนกลับไปที่ “โมเดลรัฐบาลแห่งชาติ” มีการเปิดโมเดลมาว่าจะมีวาระประมาณ 1 ปี เพื่อเข้ามาเซ็ตระบบทั้งหมดแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งโมเดลนี้ย่อมมีผู้ได้เปรียบและเสียเปรียบเกิดขึ้นในแต่ละพรรค แต่ก็เป็นโอกาสที่หลายพรรคจะได้ “แก้มือ” ในการเลือกตั้งด้วย เพราะต่างรู้จุดอ่อน-จุดแข็งของพรรคตัวเองและคู่แข่ง

แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็ต้องคิดหนักจะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะโจทย์สำคัญคือการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 และแก้ระบบการเลือกตั้ง ส่วนพรรคอนาคตใหม่ได้พูดปิดประตูตัวเองไปแล้วว่าไม่เข้าร่วม

ประกอบกับการที่มีกระแสข่าว “ทักษิณ” ดัน “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีต รมว.ยุติธรรม ขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย แซง “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กรณีดังกล่าวถูกนำไปตีความว่านี่คือการปรับทิศโดยใช้เรื่อง “กฎหมายนำการเมือง” เพราะการเมืองอยู่ในช่วงการงัดข้อทางกฎหมาย

อีกทั้ง “ชัยเกษม” ก็ตอบโจทย์ถ้ามีการเซ็ตซีโร่ระบบการเมือง-เลือกตั้งด้วย จึงมีการมองว่าไม่เช่นนั้นพรรคเพื่อไทยจะใส่ชื่อ “ชัยเกษม” มาเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อสิ่งใด

ล่าสุดท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยอมรับว่า “เหนื่อย” ออกมา โดยในช่วงที่ผ่านมามีข้อสังเกตจากคนใกล้ชิดว่า พล.อ.ประยุทธ์นิ่งขึ้นและวางตัวเป็นนักการเมืองเต็มขั้น งดการตอบโต้การเมืองลงไปมาก รวมทั้งแสดงความเข้มแข็งในการทำงานออกมาอยู่ตลอด

โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวความในใจออกมากับสื่อ หลังถูกถามว่าเหนื่อยไหม

“ดีแล้วที่ไม่เหนื่อย แต่นายกฯ เหนื่อย แต่ว่ายังแข็งแรง ยังทำงานอยู่เหมือนเดิม” พล.อ.ประยุทธ์ตอบก่อนจะกล่าวด้วยว่า

“แค่แกล้งพูดไปอย่างนั้นว่าเหนื่อยเฉยๆ ไม่เหนื่อย เธอไม่เหนื่อย ฉันจะเหนื่อยได้ไง”

อาจต้องตีความด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ “เหนื่อยกาย” หรือ “เหนื่อยใจ” กันแน่ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้จะมีพรรคพลังประชารัฐเป็นกองหนุนพยายามฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลและดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อ

แต่เหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีความโดดเดี่ยวไม่น้อยที่ต้องฝ่ากระแสกดดันเช่นนี้ แม้คะแนนเสียง “พลังประชารัฐ” จะมาอันดับที่ 1 เป็นกองหนุนให้ก็ตาม

ดังนั้น บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป เพราะถ้าไม่ได้เป็นนายกฯ จะมีสถานะใดรองรับ

เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อ คสช.ลงจากอำนาจจริง อาจต้องเผชิญกับการเช็กบิลย้อนหลัง โดยเป็นวาระที่ประกาศออกมาจากพรรคอนาคตใหม่ หลัง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” 2 แม่ทัพพรรค ประกาศชัดท้าชน คสช.มาตลอด

ในสภาวะเช่นนี้จึงมีโจทย์ที่ต้องวิเคราะห์ทางเลือก ระหว่างตั้งรัฐบาลใหม่กับเลือกนายกฯ ในสภาได้ หรือเลือกตั้งโมฆะ หรือรัฐบาลพิเศษกับนายกฯ คนสำคัญ”

เพราะสถานการณ์ผลักให้มีโจทย์เพิ่มมากขึ้น หลัง 9 พฤษภาคมนี้ ทุกอย่างจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

แม้ในเวลานี้ชื่อ “บิ๊กตู่” ยังเต็งหนึ่ง แต่กลับไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดิมอีกแล้ว