คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สยาม-ภารต (1) : แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนำมาใช้ประกอบพิธี

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มิตรสหายบางท่านอยากให้ผมเขียนเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะข้อมูลจากทางฝั่งอินเดีย เพราะทราบว่า พระราชพิธีนี้มีองค์ประกอบหลักเป็น “พิธีพราหมณ์”

ผมได้แต่ยิ้มตอบและสารภาพกับเขาไปว่า พิธีนี้ในอินเดียค้นคว้ายากหนักหนา ด้วยว่าอินเดียไม่ได้มีกษัตริย์มานานแล้ว ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองก็เป็นมุสลิม เมื่ออินเดียกลายเป็นสาธารณรัฐ แม้จะมีเจ้าหรือมหาราชาตามแคว้นต่างๆ อยู่ แต่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ในทางวัฒนธรรม มิได้มีอำนาจทางการปกครองแต่อย่างใด บางแว่นแคว้นจึงยังมีพิธีราชาภิเษกบ้างแต่มักจะทำเป็นการภายในไม่ได้เป็นงานพิธีของรัฐ หลักฐานที่เห็นได้ชัดจึงยากลำบาก และในปัจจุบันพราหมณ์เองมีน้อยนักที่จะรู้พิธีนี้

ส่วนมาก ความรู้เกี่ยวกับบรมราชาภิเษกในอินเดียก็มักเหลือหลักฐานอยู่ในรูปของคัมภีร์โบราณเป็นหลัก ซึ่งพอไม่มีพิธีจริงๆ ให้เทียบดู ผมจึงไม่ค่อยแน่ใจว่าได้มีการปฏิบัติอย่างไร ตรงกับคัมภีร์มากน้อยแค่ไหน

ผมจึงขออนุญาตท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่า จะขอเขียนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจากทางฝ่ายอินเดียเท่าที่จะค้นคว้าได้

ซึ่งอาจไม่ถูกต้องที่สุดเป็นที่ยุติทางวิชาการ เป็นแต่เพียงข้อสังเกตเบื้องต้นในเชิงเปรียบเทียบระหว่างสยามกับอินเดียในรายละเอียดเท่านั้นเองครับ แต่ส่วนข้อมูลทางคัมภีร์โบราณของอินเดียนั้น มีบางท่านได้ศึกษาค้นคว้าไว้บ้าง ค้นหาได้ไม่ยากครับ

ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบพระคุณ คุณมัลดีฟ (ศรีเวทชนนีทาส) ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตและคัมภีร์โบราณของอินเดียที่กรุณาช่วยค้นคว้าข้อมูลต่างๆ และแบ่งปันความรู้ให้ นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง

 

พิธีราชาภิเษกมีหลักฐานเก่าถึงยุคพระเวท มีปรากฏในคัมภีร์พราหมณะ หรือคัมภีร์พิธีกรรมของยชุรเวท โดยเฉพาะ “ศตปถพราหมณะ” และมักถูกกล่าวถึงในวรรณคดียุคหลัง เช่น มหาภารตะและรามายณะด้วย

พิธีบรมราชาภิเษกนั้น บางครั้งในทางฝ่ายอินเดียเรียกว่า “ราชาภิเษก” หรือ “ราชยาภิเษก” (Rajyabhisheka) คือการรดน้ำให้เป็นพระราชา

ที่จริงตัวพิธีที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายอินเดีย ประกอบด้วยหลายพิธี เช่น การรดน้ำเรียกว่า “อภิเษกจนียะ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งพิธีประกาศความเป็นพระราชาที่เรียกว่า “ราชสูยะ” อันมีทั้งการเซ่นสรวงแก่เทพ การถวายมหาทาน เป็นต้น

หลังยุคพระเวท ระเบียบพิธีได้มีการปรับเปลี่ยนไป โดยปรากฏในคัมภีร์ประเภท “คฤหยสูตร” หรือพิธีกรรมของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เช่น การปรับเปลี่ยนขั้นตอนและน้ำที่ใช้ประกอบพิธี

ในคติพราหมณ์ การรดด้วยน้ำย่อมก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในสิ่งที่ถูกรินรด จึงใช้การรดน้ำสำหรับการ “เสก” ทุกอย่าง

ดังนั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในพิธีราชาภิเษกคือขั้นตอนการรดด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์นี่เอง เพราะในเวลานั้นเป็นขั้นตอนที่ “ความเป็นพระราชา” ได้บังเกิดขึ้น

ในพระราชพิธีของไทย เวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษกด้วย “สหัสธารา” แล้ว เจ้าพนักงานจะเปลี่ยนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรองค์เดิมเป็นองค์ใหม่ทั้งหมดในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีความหมายว่าได้มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้ว

เท่าที่ผมทราบ ในอินเดียปัจจุบันการสรงน้ำราชาภิเษก หรือ สมณาภิเษก (สรงนักบวช) พราหมณาภิเษก (สรงพราหมณ์) อาจใช้แค่การประพรมด้วยมัดหญ้าคาพอสังเขป ส่วนการใช้พระเต้า สังข์และสหัสธารานั้น มักกระทำต่อเทวรูปในเทวสถานเสียมากกว่า ที่ใช้กับคนมีส่วนน้อย

 

การถวายน้ำสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียก การสรงพระมูรธาภิเษก ซึ่งแปลว่ารดน้ำตั้งแต่ยอดศีรษะ ซึ่งจะกระทำโดยใช้ “สหัสธารา” บรรจุน้ำไว้ที่มณฑปพระกระยาสนาน รวมทั้งใช้ภาชนะศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ถวายตาม เช่น พระมหาสังข์ พระกลศ และพระเต้าทำด้วยวัสดุต่างๆ

อีกส่วนหนึ่งคือ การถวายน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอุทุมพรราชอาสน์ ซึ่งเรียกว่า น้ำอภิเษก

น่าสนใจว่า หลักฐานในสมัยพระเวทกำหนดให้ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำ “สรัสวตี” เท่านั้น โดยผสมกับน้ำอื่นๆ ซึ่งมิได้ระบุนามแห่งแม่น้ำ แต่ระบุที่มา เช่น น้ำจากฝนที่ตกยามแดดออก น้ำจากทะเลที่ขุ่น น้ำจากสระ น้ำค้าง น้ำผึ้ง น้ำจากครรภ์ของโคในเวลาคลอดลูก ฯลฯ

ปัจจุบันแม่น้ำสรัสวตีมิได้ปรากฏให้เห็นแล้ว มักกล่าวกันว่าหายไปสู่ใต้ดิน แต่ยังไปรวมกับน้ำจากแม่น้ำคงคาและยมุนาที่ตำบลประยาค ปัจจุบันอยู่ในเมืองอัลลาหบาท จุดนั้นเรียกว่า “ตริเวณิสังคัม” หรือแม่น้ำสามสายรวมกัน บ้านเรานิยมเรียกตามเพลงและละครว่า “จุฬาตรีคูณ”

หลังยุคพระเวท แม่น้ำคงคามีความสำคัญมากขึ้น จึงกลายเป็นน้ำที่ถูกระบุให้ใช้ในพิธีราชาภิเษกแทนน้ำจากแม่น้ำสรัสวตี

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมของที่ใช้อภิเษก คือ ปัญจคัพย์ หรือของจากโคทั้งห้า ซึ่งเรื่องนี้ผมจะได้กล่าวถึงต่อไป เพราะเกี่ยวพันกับพระราชพิธีของเราอยู่

กระนั้นตามหลักฐานในคฤหยสูตร ก็ยังคงใช้น้ำจากคงคาเพียงแม่น้ำเดียวเป็นหลัก มิได้ใช้แม่น้ำอื่นๆ

ในภายหลัง ฮินดูเองจะค่อยๆ ทำให้แม่น้ำสายอื่นๆ ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาด้วย เช่น อ้างเทวตำนานว่าเกี่ยวพันกับคงคาในทางใดทางหนึ่ง หรือเกี่ยวพันกับเทพเจ้าองค์อื่นๆ เช่น พระรามและพระกฤษณะ

ในพิธีราชาภิเษกของพระราม จากมหากาพย์รามายณะของวาลมีกิ กล่าวถึงการมีพระบัญชาให้บรรดาวานรไปนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำในสี่ทิศ บรรจุหม้อกลัศมาสี่หม้อ เพื่อใช้อภิเษกพระรามเป็นกษัตริย์

 

ทั้งนี้ ในพระราชพิธีของเรา ที่ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า จะใช้น้ำจากสระสี่สระในจังหวัดสุพรรณบุรี คือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา ผมเข้าใจว่าคงเป็นสระน้ำเดิมของเทวสถาน และถูกตั้งชื่อให้พ้องกับน้ำศักดิ์สิทธิ์หลังยุคพระเวทคือคงคาและยมุนา จึงนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก อาจใช้มาก่อนกรุงเก่า และอาจเกี่ยวกับรามายณะ?

ในต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้น้ำจากสี่สระนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่สี่ เป็นช่วงเวลาที่ทรงศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับต่างประเทศและคติในพุทธศาสนา จึงมีการนำน้ำจาก “เบญจสุทธคงคา” หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำทั้งห้าในประเทศไทย สมมุติว่าเป็นดั่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียมาใช้ในพระราชพิธีเป็นครั้งแรก ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา

ผมเข้าใจว่า คำว่า “คงคา” ในที่นี้มิได้หมายความถึงแม่น้ำสายใดสายหนึ่ง แต่ใช้ในความหมายว่าแม่น้ำทั่วไปหรือแม่น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ แม่น้ำสำคัญ

พอถึงสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จอินเดียและทรงทราบคติแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ จึงทรงนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียมาใช้ในพระราชพิธีด้วย

ครั้นสมัยรัชกาลที่หก ได้มีการเพิ่มน้ำอภิเษกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในหัวเมืองต่างๆ และกระทำเป็นราชประเพณีสืบต่อๆ มา ทั้งนี้ คงใช้ในส่วนของการถวายน้ำอภิเษกที่พระแท่นอุทุมพรราชอาสน์

ในรัชกาลปัจจุบันนับว่าได้มีการตักน้ำอภิเษกมากที่สุด

 

ซึ่งนัยของการตักน้ำอภิเษกจากทุกหัวเมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หกเป็นต้นมา น่าจะเป็นการแสดงถึงพระเดชานุภาพที่แผ่ออกไปมากกว่านัยตามจารีตของพราหมณ์

ที่น่าสนใจคือ น้ำเบญจสุทธคงคาที่ใช้ในไทยนั้น แม้จะเป็นการทำให้เหมือนกับในอินเดีย คือสมมุติสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาห้าสายตามคัมภีร์ของฮินดู แต่เมื่อพินิจพิจารณาแล้ว การกล่าวถึงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของฮินดูในพระราชพิธี กับแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอินเดียนับถือกันนั้นมีความแตกต่างกัน

ในคัมภีร์ของสยามกล่าวถึงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ได้แก่ คงคา ยมุนา สรภู (สรยู) อจิรวดี และมหิ

ผมไปค้นในตำราอินเดียต่างๆ แม้จะมีการกล่าวถึงคงคา ยมุนา ตรงกัน ส่วนสรภู (สรยู) นับถือกันในหมู่ผู้นับถือบูชาพระรามเป็นหลัก แต่ยังไม่เห็นที่กล่าวถึงอจิรวดีและมหิในฐานะแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์

ในตำราพราหมณ์อินเดีย เช่น อาจารเยนทุ หรือตำรานิตยกรรมปธติ มักกล่าวถึงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามคติพราหมณ์-ฮินดูเจ็ดสายดังนี้ครับ คือ คงคา ยมุนา โคทาวารี สรัสวตี นรมทา สินธุ และกาเวรี

ผมคิดว่าที่ต่างกันเช่นนี้ ด้วยเราถือแม่น้ำทั้งห้าที่ถูกกล่าวถึงจาก “เวสสันดรชาดก” อันเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนา

มิใช่ตำราของพราหมณ์โดยตรง