บทวิเคราะห์ : โลก “แบน” พลาสติกกันยังไง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

คราวที่แล้วเขียนถึงร่างโรดแม็ปของประเทศไทยในแผนปฏิบัติการจำกัดขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics) รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเป้าภายในปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดที่เป็นตัวการสำคัญในการทำลายระบบนิเวศน์ทั้งทางบก ทางทะเล และหมายมั่นจะเก็บขยะพลาสติกที่ทิ้งจนล้นเมืองกลับไปรีไซเคิลให้ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในปี 2570 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

วันนี้ขอนำข้อมูลแผนปฏิบัติการของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ห้ามใช้หรือลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดครั้งเดียวซึ่งองค์การสิ่งแวดล้อม “เอิร์ธเดย์”

เก็บรวบรวมมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.earthday.org

 

นครแวนคูเวอร์ถือเป็นเมืองแรกของประเทศแคนาดาที่ออกประกาศ “แบน” หลอดดูดพลาสติก และกำหนดแผนห้ามใช้โฟมพลาสติก กล่องพลาสติกสำหรับใส่อาหารสำเร็จรูป มีผลในวันที่ 1 มิถุนายนของปีนี้

คอสตาริกา ประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลาง กำหนดนโยบายเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทุกชนิดรวมถึงหลอดดูดอาหาร ขวดพลาสติก มีด ถ้วยและถุงพลาสติกภายในปี 2564

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษประกาศห้ามขายหลอดดูดพลาสติก ก้านพลาสติกแคะหู

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พระราชวังบักกิ้งแฮมออกแถลงการณ์เลิกใช้หลอดดูดพลาสติกและขวดพลาสติกในเขตพระราชฐานและพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของสำนักพระราชวัง

เกาะสิกินอส เป็นเกาะแรกของประเทศกรีซ ประกาศห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก เพื่อปกป้องระบบนิเวศน์รอบๆ หมู่เกาะซิคลาดีส ตอนใต้ของทะเลเอเจียน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา

ประเทศกัวเตมาลาออกกฎหมายชื่อว่า “ซานเปโดร ลา ลากูนา” เมื่อปี 2559 ห้ามใช้ถุงพลาสติก หลอดดูดอาหารพลาสติก โฟมใส่อาหารและวัสดุห่อหุ้มทุกชนิดที่ทำจากโพลีสไตรีน (Polystyrene)

สำหรับโพลิสสไตรีน รัฐบาลกัวเตมาลาเห็นว่า วัสดุชนิดนี้เมื่อกลายเป็นขยะจะปนเปื้อนในระบบนิเวศน์ ยากแก่การทำลาย หากสะสมในท้องทะเล สัตว์น้ำกินเข้าไปจะวนกลับมาสู่ห่วงโซ่อาหาร คนจับสัตว์น้ำมากิน ปนเปื้อนเข้าในร่างกายเป็นบ่อเกิดสารพิษและโรคภัยไข้เจ็บ

 

กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรอยู่กันอย่างแออัดกว่า 20 ล้านคน ประกาศห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทุกชนิดตั้งแต่ปี 2560 บรรดานักสิ่งแวดล้อมที่นั่นพากันดีอกดีใจขอบคุณผู้บริหารเมืองที่ช่วยให้โลกใบนี้ลดปัญหาขยะพลาสติกได้เยอะแยะ

เทศบาลเมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ออกนโยบายเลิกใช้หลอดดูดพลาสติกในทุกพื้นที่ที่เป็นของเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารภายในพิพิธภัณฑ์ สำนักงานเทศบาล โรงเรียน ศูนย์กีฬา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา

หมู่เกาะเซเชลส์ในมหาสมุทรอินเดียประกาศห้ามนำเข้าหลอดดูดพลาสติกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ผู้ค้าปลีกจะต้องขนออกจากโกดังให้หมดตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

นูชาเทล เป็นเมืองแรกของสวิตเซอร์แลนด์ที่ออกกฎหมายห้ามใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหาร จะเริ่มบังคับใช้ต้นปีหน้า

ไต้หวัน ประกาศห้ามร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม แจกหลอดดูดพลาสติกให้กับลูกค้าที่นั่งอยู่ในร้าน ตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนในปีหน้าเลิกใช้หลอดดูดพลาสติกในร้านเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

ในปี 2568 ลูกค้าคนไหนต้องการหลอดดูดพลาสติกเพื่อเอาไปใช้นอกร้านจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม

 

สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2573 บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกทุกชนิดต้องเป็นพลาสติกรีไซเคิล ส่วนพลาสติกใช้ครั้งเดียวและไมโครพลาสติก ได้มีมาตรการควบคุมปริมาณการใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561

สหรัฐอเมริกา มีหลายรัฐออกกฎหมายห้ามใช้หลอดดูดพลาสติกและพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวมาหลายปีแล้ว เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ออกกฎหมายตั้งแต่ปี 2559

รัฐนิวเจอร์ซีย์ ห้ามพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวในพื้นที่ชายหาดต่างๆ และบางแห่ง เช่น ลองพอร์ต เวนต์นอร์ ออกกฎว่าถ้าใครต้องการถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวจะเสียค่าธรรมเนียมถุงละ 5-10 เซนต์ หรือราวๆ 1.60-3.10 บาท

สมาชิกสภาเทศบาลนครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก เสนอออกเทศบัญญัติห้ามใช้หลอดดูดพลาสติกในภัตตาคาร จะมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ปรับเริ่มต้นที่ 100 เหรียญสหรัฐ และมีภัตตาคารราว 60 แห่ง เลิกใช้หลอดดูดพลาสติกเรียบร้อยแล้ว

เมืองใหญ่ๆ ในรัฐเซาท์แคโรไลนา 4 แห่งห้ามใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง กล่องโฟมใส่อาหาร มีผลบังคับภายใน 1 ปี นอกจากนี้ยังห้ามใช้กล่องโฟมเก็บความเย็นและผลิตภัณฑ์พลาสติกใส่ถั่วนานาชนิดรวมถึงหลอดดูดพลาสติก

นครซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน มีกฎหมายห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารทำด้วยพลาสติกตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2560 แต่มีผลบังคับใช้ในเดือนถัดมา

ผู้บริหารเมืองเปิดแคมเปญว่า “Strawless in Seattle” หมายถึงนครซีแอตเติลไร้หลอดดูดพลาสติก และร่วมมือกับเมืองซานดิเอโก เมืองชายหาดอื่นๆ เช่น ไมอามี รัฐฟลอริด้า รวมไปถึงเมืองชายฝั่งของประเทศแคนาดารณรงค์เลิกใช้หลอดดูดพลาสติกเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม

ผลการรณรงค์อย่างเข้มข้นเพียง 1 เดือน นครซีแอตเติลสามารถลดปริมาณการใช้หลอดพลาสติกได้ 1 ล้านชิ้น

 

องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “เอิร์ธเดย์” ยังเปิดเผยข้อมูลว่า บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปสนับสนุนนโยบาย “แบน” พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น สายการบินอลาสกัน เลิกใช้พลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีก

บริษัท บอง แอพพิติ ห้ามใช้หลอดดูดพลาสติกและอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้คนกาแฟ น้ำปั่นในภัตตาคารและร้านกาแฟของบริษัท ที่กระจายทั่ว 32 รัฐในสหรัฐ

ร้านกาแฟของบริษัทคอสต้าในอังกฤษ เลิกใช้หลอดดูดพลาสติกตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว

โรงแรมในเครือของฮิลตันทั่วโลก 650 แห่งเลิกใช้หลอดดูดพลาสติกเมื่อปลายปีที่แล้วเช่นเดียวกับโรงแรมในเครือของไฮแอท ไม่มีนโยบายแจกหลอดดูดพลาสติก ยกเว้นลูกค้าร้องขอ

ร้านค้าภัตตาคารภายในสนามบินลอนดอน ซิตี้ ไม่มีหลอดดูดพลาสติกแจกให้ลูกค้า แต่ถ้าลูกค้าต้องการจะให้หลอดดูดทำจากเยื่อกระดาษแทน

เรือสำราญของบริษัทรอยัล แคริบเบียน 50 ลำ จะไม่มีหลอดดูดพลาสติกใช้ในเรือตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ลูกค้าคนไหนยังต้องการ พนักงานจะให้หลอดดูดทำด้วยกระดาษ

 

สําหรับนโยบายยกเลิกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว ทำจากโพลีเอธิลีน โพลีเมอร์ มีความหนาน้อยกว่า 35 ไมครอน มีหลายประเทศทั่วโลกออกประกาศแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐ ชิลี จีน สหภาพยุโรป ไอร์แลนด์ เคนยา เม็กซิโก โมร็อกโก

แม้กระทั่งประเทศรวันดา อยู่ในทวีปแอฟริกายังเลิกใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ปี 2551 เพราะรัฐบาลมองเห็นว่า ถ้าขยะชนิดนี้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม หากนำไปเผาทิ้งก็เกิดมลพิษทางอากาศ หรือถ้าทิ้งเกลื่อนในแหล่งน้ำลำคลอง ทำให้เกิดการอุดดัน แถมเป็นทัศนะอุจาดอีกต่างหาก

โลกก้าวไปไกลกับวิชั่นกำจัดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ขณะที่บ้านเรายังเพิ่งร่างโรดแม็ป คลานต้วมๆ เตี้ยมๆ อยู่เลย