ต่างประเทศ : “โจโกวี” กับฝันใหญ่ ย้ายเมืองหลวงอิเหนา

แม้ผลการเลือกตั้งจะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่โพลของหลายสำนักฟันธงไปในทางเดียวกันว่า โจโก วิโดโด หรือโจโกวี ผู้นำติดดินของชาวอินโดนีเซีย ในวัย 57 ปี จะครองเก้าอี้ประธานาธิบดีอินโดนีเซียต่อไปเป็นสมัยที่ 2 อย่างแน่นอน

ซึ่งยังไม่ทันไรก็มีข่าวว่าวิโดโดเตรียมเดินหน้าแผนการทำงานของรัฐบาลตนเองต่อ

โดยหนึ่งในแผนงานสำคัญนั้นคือการย้ายเมืองหลวงใหม่ ที่จะไม่ใช่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงปัจจุบันที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะชวา ซึ่งเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาที่วิโดโดลั่นวาจาไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่จะกระจายการพัฒนาและเศรษฐกิจของประเทศให้ทั่วถึง

ความมุ่งมั่นนี้ได้รับการเปิดเผยจากปากของนายบัมบัง บรอดโจเนโกโร รัฐมนตรีกระทรวงกิจการผังเมืองของอินโดนีเซีย ที่ออกมาบอกกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นสัปดาห์

โดยบอกว่า ที่ประชุมซึ่งมีนายวิโดโดนั่งหัวโต๊ะ มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงแผนการย้ายเมืองหลวง

ซึ่งนายวิโดโดได้เสนอแนวทางความเป็นไปได้ 3 ทาง

 

แนวทางแรก คือการย้ายที่ทำการรัฐบาลไปยังเขตพื้นที่พิเศษใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น

แนวทางที่ 2 คือการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังพื้นที่อื่นแต่ยังอยู่ในเกาะชวา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดเมื่อเทียบกับหมู่เกาะอื่นๆ ของอินโดนีเซีย

และแนวทางที่ 3 คือการย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังที่อื่นนอกเกาะชวา ซึ่งตามข่าวระบุว่า เป็นแนวทางที่วิโดโดตัดสินใจเลือกอย่างแน่วแน่และให้คณะทำงานไปศึกษาหาข้อมูลและจัดทำแผนยุทธศาสตร์มาให้รอบด้านในการพิจารณาต่อไป

จริงๆ แล้วที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงในอินโดนีเซียกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากดัตช์ เจ้าอาณานิคมในปี ค.ศ.1945 โดยเป็นความคิดของซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย

ก่อนที่แนวคิดนี้จะมีการพูดกันเรื่อยมา แต่ยังไม่เคยมีผู้นำอินโดนีเซียคนใดทำได้สำเร็จอย่างที่พูดสักที

กระทั่งครั้งนี้ที่ตามกระแสข่าวบอกว่าวิโดโดดูจริงจังมาก ผลจากการที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา วิโดโดได้สร้างผลงานในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศให้ได้เป็นที่ประจักษ์กันมาแล้ว

จึงอาจเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถผลักดันแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงให้ประสบผลสำเร็จได้

โดยครั้งนี้เจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊กโยนก้อนหินถามทางกับชาวอินโดนีเซียด้วยว่าหากจะย้ายเมืองหลวงไปที่แห่งใหม่ ควรจะเป็นที่ใด

โดยให้ประชาชนร่วมพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งทางสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นการหยั่งเชิงท่าทีของประชาชนว่าจะคิดเห็นตอบรับอย่างไร

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียมีความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงออกไปจากกรุงจาการ์ตา ที่เป็นศูนย์กลางบริหารราชการและธุรกิจการค้าของประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมานานกว่า 500 ปี

เนื่องจากกรุงจาการ์ตากำลังเผชิญปัญหาท้าทายในหลายๆ ด้าน ที่สั่งสม

ตั้งแต่การผจญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ สภาพความแออัดยัดเยียดของผู้คนในเมืองหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่า 10 ล้านคน

ไม่นับรวมเมืองเล็กๆ รายรอบ ปัญหาการจราจรติดขัดที่ขึ้นชื่อว่าสาหัสสากรรจ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่ทำให้อินโดนีเซียต้องได้เผชิญความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึงปีละ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่สำคัญคือ กรุงจาการ์ตายังเป็นหนึ่งในพื้นที่มีอัตราการทรุดตัวลงของแผ่นดินมากที่สุดในโลก

โดยการศึกษาของนักวิจัยพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของจาการ์ตาอาจจะจมอยู่ใต้น้ำลงทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2050

โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของจาการ์ตาจะทรุดตัวลง 2.5 เมตร หรือราว 8 ฟุตภายใน 10 ปี และจะยังทรุดตัวลงต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1-15 เซนติเมตร

ขณะที่รายงานของธนาคารโลกพบว่า ภายในปี ค.ศ.2024 กรุงจาการ์ตาจะทรุดตัวลง 40-60 เซนติเมตรจากระดับที่ทรงตัวอยู่ในปี ค.ศ.2008 สาเหตุหลักใหญ่ไม่ใช่เพียงเพราะกรุงจาการ์ตาตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มใกล้ทะเล ที่ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนจำนวนมาก

ซึ่งเป็นชนวนเร่งการทรุดตัวลงของแผ่นดินอย่างดี

 

แม้น้ำหนักความเป็นไปได้ในยุทธศาสตร์การย้ายเมืองหลวงของรัฐบาลวิโดโดจะมีอยู่มาก แต่ในการประชุมครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการเสนอชื่อที่ตั้งว่าควรจะเป็นที่ใดออกมาชัดเจน ขณะที่ก่อนหน้านั้นพื้นที่ที่มีการพูดถึงกันมานานตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีซูการ์โนก็คือเมืองปาลังการายา เมืองเอกของจังหวัดกาลิมันตันกลาง ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ถูกมองว่าน่าจะมีความเหมาะสม เนื่องจากมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางศูนย์กลางของหมู่เกาะอินโดนีเซีย และเป็นที่ตั้งที่มีความปลอดภัยมากกว่าจากความเสี่ยงเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี มีปฏิกิริยาท่าทีหลากหลายต่อแนวคิดการย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองปาลังการายา หนึ่งในนั้นมองว่าแม้หวังจะให้มีการกระจายการพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาของที่นี่ให้ดีขึ้นเหมือนกับในจาการ์ตา

แต่ก็หวั่นใจว่าการย้ายเมืองหลวงมาที่นี่จะเป็นการคุกคามผืนป่าและธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของพื้นที่นี้ที่ถือเป็นปอดของโลกไป

ไอเดียการย้ายเมืองหลวง เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ

ซึ่งจะต้องมีการศึกษากันเป็นอย่างดีให้ละเอียดรอบคอบรอบด้าน

ดังรัฐมนตรีฝ่ายผังเมืองเกริ่นมาแล้วว่าอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี

เหมือนกับในหลายๆ ประเทศ ที่มีการย้ายเมืองหลวงไปที่ใหม่กัน ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ!