ศัลยา ประชาชาติ : ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มเป๋ ลดเป้าส่งออก-จีดีพีไม่เข้าเป้า หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด

เศรษฐกิจไทยปี 2562 ผ่านมาได้แค่ 1 ไตรมาส กับอีก 1 เดือน ก็เริ่มออกอาการไม่สู้ดีมากขึ้นเป็นลำดับ

เห็นได้จากการสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจพาเหรดปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลงต่อเนื่องแทบไม่เว้นวัน

ทุกสำนักสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้กำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก ที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ส่งผลให้ช่วงไตรมาสแรกภาคการส่งออกไทย ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

แม้ล่าสุดในการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะยังประกาศคงเป้าหมายผลักดันการส่งออกปีนี้ให้เติบโตที่ 8% เช่นเดิม

ทว่า “บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าจะประเมินตัวเลขส่งออกอีกครั้ง ในการประชุมทูตพาณิชย์วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายก็อาจต้องพิจารณาปรับตัวเลขประมาณการส่งออกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่าการส่งอออกไม่ได้กระทบเพียงประเทศไทย แต่รวมทุกประเทศ ดังนั้น ให้การส่งออกขยายตัวก็ต้องพยายามทุกฝ่าย และจากที่ประเมินว่าหากจะให้การส่งออกได้ 8% ไทยจะต้องส่งออกเฉลี่ย 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน แต่ที่ผ่านมายอดส่งออกไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย 6 เดือนจากนี้ไปจึงต้องประเมินอีกครั้งให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด” นางสาวบรรจงจิตต์กล่าว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนหาทางลดอุปสรรคทางการค้า

“สนั่น อังอุบลกุล” รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนประเมินการส่งออกว่า การเติบโตจะปรับลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 3.1% ลงมาอยู่ที่ 2.1% เป็นผลมาจากปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว การเสียเปรียบด้านสิทธิประโยชน์ที่มีผลต่อการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีผลต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เพราะแม้ปริมาณไม่ลดลง แต่มีผลทำให้ราคาปรับลดลง

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ประกาศปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ จากเดิมคาดอัตราการขยายตัวไว้ที่ 4% เหลือโต 3.8%

โดย “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่าการปรับลดประมาณการมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวกว่าที่คาด ซึ่งคาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวแค่ 3.4% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะโตชะลอลงเหลือ 3.59% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.75%

ส่วนค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นประมาณ 1% จากค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 2561 อยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“เราประเมินว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 3% ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในช่วง 4.5-4.6% ซึ่งหลังจากตัวเลขไตรมาสแรกออกมา เราเห็นสัญญาณการชะลอตัว จึงได้เสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 โดยผลของมาตรการหากทำตามแพ็กเกจที่เสนอจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.1%” นายลวรณกล่าว

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน ได้มีมติเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ประกอบด้วย มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณ 13,200 ล้านบาท ทั้งเพิ่มเบี้ยคนพิการ 200 บาท บรรเทาภาระค่าครองชีพให้เกษตรกร 1,000 บาท บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อ-แม่ช่วงเปิดปีการศึกษา 500 บาทต่อบุตร 1 คน และมาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย 200/300 บาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางด้านภาษี 6 มาตรการ ได้แก่ ภาษีบ้านหลังแรก ให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อบ้านที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาทได้ไม่เกิน 2 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขต้องโอนกรรมสิทธิ์ภายในสิ้นปีนี้, การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท มีผลถึง 30 มิถุนายน 2562, การกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา ให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562

การส่งเสริมการอ่าน ให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2562, การส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (โอท็อป) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท มีผลถึง 30 มิถุนายน 2562 และการส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จ่ายไปภายใน 31 ธันวาคม 2562

ล่าสุด “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่า 3.4% ตามที่ ธปท.ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากส่งออกที่ติดลบถึง 3.6% โดยไตรมาส 2 การส่งออกก็น่าจะยังติดลบ แต่อาจดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก

ส่วนผลของมาตรการพยุงเศรษฐกิจนั้น ธปท. จะประเมินในรอบเดือนมิถุนายน

 

นอกจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาวะหนี้ครัวเรือนที่เริ่มกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง ก็เป็นประเด็นที่ ธปท.แสดงความกังวล โดย “ดร.สรา ชื่นโชคสันต์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า ระยะต่อไปหนี้ครัวเรือนอาจจะเติบโตเร็วกว่า GDP โดยหนี้รถยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามหนี้บ้านที่น่าจะมีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการของ ธปท.

“ตอนนี้เศรษฐกิจยังโตใกล้ๆ 4% ทุกอย่างยังดูดี เราอาจจะชะล่าใจ ซึ่งการชะล่าใจอาจจะเป็นภัยเงียบที่อาจจะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตได้” ดร.สรากล่าว

ด้าน “ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์” หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า จากงานวิจัย “พลวัตหนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big data” ของเครดิตบูโร ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) พบว่า ณ สิ้นปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 78.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ถือได้ว่าปริมาณหนี้ครัวเรือนไทยเริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้น คือมีอัตราการขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนอีกครั้ง

โดยหนี้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ซึ่งยังพบว่าหนี้เหล่านี้เป็นหนี้เสียมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวขึ้นเกิดจากผู้กู้กลุ่มเดิม และมีพฤติกรรมกู้เพิ่มเป็นหลายบัญชีมากขึ้น และการก่อหนี้ในกลุ่มที่อายุน้อยลงมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ถือเป็นสัญญาณอันตราย เพราะหากปล่อยให้หนี้ครัวเรือนพุ่งแรงแซงหน้าขยายตัวของเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการขับเคลื่อนประเทศในระยะข้างหน้า