บทวิเคราะห์ : จาก “เฮเซ” สู่ “เรวะ” สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นยุคใหม่

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ส่งต่อราชบัลลังก์เบญจมาศ ให้กับมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 126 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นับเป็นการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากยุค “เฮเซ” ในความหมายของ “ความสุขทั่วแผ่นดิน” ไปสู่รัชสมัย “เรวะ” อันหมายความถึง “ความรุ่งเรือง สันติสุข และความสงบสุขเรียบร้อย” อย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผ่านสายตาประชาชนทั่วโลกใน 2 วันที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งในแง่ของการสละราชสมบัติเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีของสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น

โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1817 ในยุคสมเด็จพระจักรพรรดิโคกากุในรัชสมัยเอโดะเลยทีเดียว

 

ขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเอง ก็จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยพระบิดาและพระมารดา

และยังเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ

หลังจากเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 เมษายน ย่างเข้าสู่วันที่ 1 พฤษภาคม จะนับเป็นการเข้าสู่ศักราชใหม่ของประเทศญี่ปุ่น

โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะดำรงสถานะเป็น “โจโก” (Emperor Emeritus) ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะจะมีสถานะเป็น “โจโกโง” (Empress Emerita)

สำหรับความหมายในภาษาไทยที่ ผศ.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุไว้ในเว็บไซต์บีบีซีไทย ว่า

คำที่เหมาะสมน่าจะเป็น “สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวง” และ “สมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวง” ตามลำดับ

 

ในส่วนของกำหนดพิธีการนอกจากที่มีการประกาศชื่อศักราชใหม่ “เรวะ” ในวันที่ 1 เมษายน สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะจะเข้าพิธีส่งมอบตราแผ่นดินและพระราชลัญจกร พร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงดาบและอัญมณี จากนั้นในวันที่ 4 พฤษภาคม จักรพรรดินารุฮิโตะและจักรพรรดินีมาซาโกะ จะเสด็จออก ณ พระราชวังอิมพีเรียล ทรงพบปะกับพสกนิกรเป็นครั้งแรก

ก่อนที่ในวันที่ 22 ตุลาคม จะทรงจัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชอาคันตุกะจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม ก่อนที่พระจักรพรรดินารุฮิโตะจะประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนพร้อมพระจักรพรรดินี ร่วมในริ้วขบวนผ่านถนนในใจกลางกรุงโตเกียว ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนรอชมพระบารมีไม่น้อยกว่า 120,000 คน

“ยุคเฮเซ” ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เป็นยุคที่สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป ตามรัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะ “สัญลักษณ์” ของญี่ปุ่น และการแยกออกห่างจากการเมืองของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านราชสำนักญี่ปุ่นให้มีความทันสมัยและใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น

 

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกผ่านครูสอนภาษาอังกฤษชาวอเมริกันในช่วงเวลาที่พระองค์ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ก่อนที่พระองค์จะทรงแหวกธรรมเนียมด้วยการอภิเษกสมรสกับหญิงสามัญชนอย่างมิชิโกะ โชดะ ที่ต่อมาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ

ตลอดระยะเวลา 30 ปีสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใกล้ชิดประชาชน เดินทางเยือนต่างประเทศถึง 35 ประเทศ สร้างความประทับใจในการเดินทางเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ จนทำให้สถาบันกษัตริย์มีความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

ก้าวเข้าสู่รัชสมัย “เรวะ” ในยุคสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ พระองค์เคยตรัสไว้เมื่อช่วงที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นว่าพระองค์ทรงหวังที่จะดำเนินตามรอยพระบาทของพระชนก เพื่อ “ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน”

 

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ผู้ทรงขึ้นครองราชย์และเริ่มต้นยุค “เรวะ” อย่างเป็นทางการทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาด้านน้ำและสุขอนามัย ของเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตั้งแต่ปี 2007

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี ค.ศ.1982 จากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยงะคุชูอิน และทรงทำวิทยานิพนธ์เรื่องการจราจรทางน้ำทางตะวันตกของญี่ปุ่น

พระองค์ทรงใช้เวลา 2 ปีในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่เมอร์ตันคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และทรงได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในปี ค.ศ.1991

สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะก็ทรงอภิเษก มาซาโกะ โอวาดะ หญิงสามัญชนนักการทูตผู้ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทรงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจด้วยการใช้เวลาถึง 8 ปี ในการพยายามชนะใจหญิงนักการทูตมากความสามารถ

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญราชวงศ์ญี่ปุ่นระบุว่า สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะจะทรงงานเน้นไปที่ปัญหาระดับโลก เช่น การป้องกันหายนภัย การอนุรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงศึกษาวิจัยตั้งแต่เสด็จเยือนประเทศเนปาลตั้งแต่ปี 1987

การสละราชบัลลังก์และการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ครั้งนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากเรื่องงบประมาณในการจัดพิธีการทั้งหลายทั้งปวงแล้ว การแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้มีการผลัดแผ่นดินได้โดยที่สมเด็จพระจักรพรรดิไม่ต้องสิ้นพระชนม์ก่อนได้ ก็ส่งผลให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเปิดทางให้ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชบัลลังก์ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองสายอนุรักษนิยมไม่เห็นชอบให้มีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว นั่นหมายความว่า เจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ จะไม่สามารถขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระชนกได้

โดยมกุฎราชกุมารองค์ต่อไปที่จะมีพิธีแต่งตั้งในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 นี้ จะเป็นเจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ วัย 53 ปี

ตามมาด้วยเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสของเจ้าชายฮิซาฮิโตะอีกทอดหนึ่ง