ฉัตรสุมาลย์ : เรื่องเล่าบนกำแพง

เฮอ เฮอ! กว่าจะเล่าก็ข้ามมาตั้งปี น้องๆ จากโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ของครูเล็กมาปฏิบัติธรรมที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีเมื่อ พ.ศ.2561

หะแรก ก็เพราะมีครูที่โรงเรียนมาบรรพชาเป็นสามเณรีชั่วคราว 9 วัน เลยเห็นประโยชน์ที่ลูกศิษย์อาจจะได้รับ

คุณครูนำเรื่องเสนอท่าน ผอ. คือครูเล็ก ภัทราวดี ท่านอนุมัติทันที เพราะท่านก็เคยรู้จักวัตรอยู่แล้ว

ปัญหาที่บรรดาหลวงพี่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ คือการอบรมเหมือนกับการนำเด็กเข้าค่ายธรรมะ แต่ครั้งนี้ต่างจากปกติ เพราะเด็กบางคนเป็นเด็กพิเศษ

เนื้อหาที่จะถ่ายทอด เทคนิคที่จะถ่ายทอด ก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด จะบรรยายธรรมะแบบที่ท่านธัมมนันทาเรียกว่า “เอ่อ เอิ้ง เอย” คือว่าไปตามเรื่องยาวๆ ไม่ได้แล้ว เพราะเด็กหลายคนจะมีสมาธิอยู่กับเราไม่ได้นาน (ผู้ใหญ่ก็เหมือนกันค่ะ ฮิ ฮิ)

ท่านธัมมนันทาก็ออกมาช่วยคิดกิจกรรมที่จะให้เด็กทำ ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ท่านเลยยกกำแพงหลังกุฏิให้เด็กได้แสดงความสามารถ

 

กําแพงที่ว่านี้ เป็นกำแพงซีเมนต์ มีความกว้างช่องละ 3 เมตร มีเสาคั่นทุกๆ สามเมตร ท่านยกให้ 5 ช่อง รวม 15 เมตร

ครูมาเป็นพี่เลี้ยงกำกับ แบ่งนักเรียนเป็น 5 กลุ่ม ทำงานด้วยกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน ให้แสดงความสามารถได้เต็มที่ ไม่กำหนดว่าอยากจะวาดรูปอะไรตามจินตนาการของน้องๆ เอง

หลวงพี่วิ่งไปซื้อสีมาเตรียมให้ พร้อมถ้วยที่ใช้ผสมสี พร้อมแปรงและพู่กัน

ท่านธัมมนันทามาช่วย โดยใช้แปรง 3 นิ้วจุ่มสีเทาลากไปตามความยาวของกำแพงตลอด 15 เมตร มีสูงต่ำ เป็นแนวภูเขา นอกนั้นให้น้องๆ ช่วยคิด ช่วยทำ

ในบรรดานักเรียนนั้น มีพี่คนหนึ่งเป็นคนวางแผนให้ว่า ช่องนี้จะเป็นอะไรอย่างไร ตอนแรกผู้เขียนต้องทำใจมาก เพราะดูเหมือนว่า นักเรียนเขามีความสนใจเรื่องอื่นที่เขายังคุยกันค้างอยู่ ในขณะที่หลวงพี่ช่วยเตรียมพื้นที่หน้างาน ไม่มีใครสนใจเลย เขายังนั่งคุยกันเป็นกลุ่มของเขา

กลุ่มนักเรียนที่ว่านี้ คณะทั้งเพศและอายุค่ะ เป็นเด็กรุ่นอายุ 12 ถึง 16 ปี เมื่อพี่ช่วยเตรียมพื้นที่เสร็จ มีพี่คนที่วางแผนทำงานอย่างเงียบๆ น้องก็ดูเหมือนว่า ยังไม่กระตือรือร้นสักเท่าไร

ผู้เขียนถอดใจ หลบไปทำงานอื่น

 

ทิ้งไปครึ่งวัน กลับมามีนักเรียนผู้ชายคนหนึ่งอายุราว 13 อยากวาดนกฟีนิกซ์ในนวนิยาย เขียนลายเส้นให้ดู สวยมาก แต่หลวงพี่ว่า ต้องวาดแต่นกจริง หมายถึงว่ามีจริง

น้องยืนยันว่า นกของเขามีจริง

ความจริงคืออะไร

ท่านธัมมนันทาเข้ามาพอดี ท่านทักว่า “สวย” หลวงพี่ที่คุมงานยังยืนยันว่า ไม่เข้ากับคนอื่น เพราะนกของน้องเป็นนกในนวนิยาย

ท่านธัมมนันทาว่าให้น้องวาดเถิด นกเป็นความจริงของน้อง ครูที่โรงเรียนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า น้องชอบวาดนกนี้ และศึกษามามาก

ตกลงให้พื้นที่น้องหนึ่งช่องด้านบน อยู่ในพื้นที่ของอากาศ

น้องบางคนตัวเล็กกว่า ใช้พื้นที่ด้านล่างของช่องกำแพง

ช่องกำแพงช่องหนึ่ง น้องๆ สามารถทำงานพร้อมๆ กันได้หลายคน ข้างบนบ้าง มุมขวาบ้าง มุมซ้ายบ้าง

 

ช่องกำแพงที่สอง น้องวาดจระเข้นอนอ้าปาก เมื่อท่านธัมมนันทา ผู้ซึ่งเด็กๆ กลุ่มนี้เรียกท่านว่า “หลวงย่า” เข้าไปชมงาน น้องคนที่วาด อธิบายว่า “หลวงย่าครับ ที่จระเข้มันอ้าปากนั้น มันหายใจทางปากครับ” ไม่ใช่จระเข้ดุร้าย

นักเรียนกลุ่มนี้แม้หลายคนเป็นเด็กพิเศษ แต่ในความพิเศษนั้น เราจะมองว่าเป็นปมด้อยหรือเป็นปมเด่น ขึ้นอยู่กับเราเอง

เรื่องจระเข้นี้ น้องพยายามสื่อว่า แม้จะเป็นสัตว์อันตราย แต่ที่เขาอ้าปาก มิใช่ว่าเขาดุร้าย จะขบกัด แต่เขากำลังหายใจทางปากต่างหาก เราเห็นแง่มุมมองที่ต่างกันไป อย่างหักมุมทีเดียว

น้องสื่อถึงความปลอดภัย ไม่มีความรุนแรงในสัตว์ที่ดูเหมือนจะดุร้าย

พื้นที่ด้านล่างของช่องนี้ น้องตัวเล็กๆ มาวาดปลาหลายตัว มีทั้งที่ว่ายอยู่ในน้ำ และปลาที่กระโดดตัวลอยขึ้นมาจากผิวน้ำ แสดงความมีชีวิตชีวา ปราศจากภัย ทั้งที่บนบกนั้นเป็นจระเข้าอ้าปากอยู่ ปลาก็รู้ค่ะ ว่าจระเข้อ้าปากเพื่อหายใจ ไม่ได้ตั้งใจจะงับปลา

อีกช่องหนึ่ง น้องผู้หญิงวาดกอไผ่ที่เรียบร้อยมาก เป็นฉากมีหมีแพนด้าสองตัวนอนซบกันอยู่อย่างอบอุ่นในกอไผ่นั้น

ในช่องเดียวกัน น้องอีกคนหนึ่งวาดนกฮูกหรือนกเค้าแมวคู่กัน กำลังบินอยู่กลางอากาศ น่ารักมาก

อีกมุมหนึ่ง น้องอีกคนหนึ่งวาดนกยูงที่กำลังรำแพนหาง น่าเอ็นดู สีไม่ค่อยเหมือนจริง ไม่ใช่ความผิดของน้อง สีมีจำกัดเพียงนั้น น้องก็ใช้สีที่สวยที่สุดให้แล้ว

ย้อนกลับไปที่น้องที่วาดนกฟีนิกซ์ ผงาดตามกันมาสองตัว เต็มพื้นที่ด้านบนของช่องกำแพง ได้สัดส่วน “หลวงย่า” เข้าไป พยายามจะแนะนำเรื่องสี เมื่อน้องบอกว่า “ตัวนี้ตัวเมียครับ” “หลวงย่า” หน้าแตก รีบถอยออกมาแทบไม่ทัน น้องคนนี้ต้องยอมรับว่า เธอศึกษาเรื่องนกฟีนิกซ์มามาก และสิ่งที่เรียกว่าความจริง สำหรับผู้ใหญ่คืออะไร ก็ปรากฏชัดกับนกฟีนิกซ์ของน้องนี่เอง

น้องคนหนึ่งที่เดินไปเดินมา ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไรเลย สุดท้ายก็มีสุนัขสองตัวอยู่ในมุมหนึ่งของช่องกำแพง มีเสือสองตัวแอบอยู่บนเนินเขา ถัดมาเป็นลูกหมูอู๊ดๆ สีชมพูสองตัว โผล่มาแต่หน้า แต่ก็ดูออกว่าเป็นหมู ถัดไปอีกมุมหนึ่ง เป็นยีราฟคู่เหมือนกัน มีกวางด้วย

การวาดให้สัตว์โผล่มาแต่หน้า น้องอาจจะวาดทั้งตัวไม่เป็น แต่แม้โผล่มาแต่หน้าก็ยังดูออกว่าน้องวาดรูปอะไร

 

สัตว์แทบทุกตัวที่ปรากฏบนช่องกำแพงหลังกุฏิหลวงย่า อยู่กันเป็นคู่ ให้ความอบอุ่นซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสุนัข นกเค้าแมว หมีแพนด้า ยีราฟ ช้าง ฯลฯ

น้องพยายามบอกอะไรกับเรา เราต้องมีเพื่อนค่ะ ชีวิตมีอยู่โดยการอิงอาศัยกันโดยแท้ ด้วยความตระหนักเช่นนี้ เราจึงต้องรักและดูแลเขา เช่นเดียวกับที่เรารักและดูแลตัวเอง เพราะความสุขของเรามันเนื่องจากกันและกัน

วิธีการสอนที่โรงเรียนภัทราวดีก็เป็นเช่นนั้น เด็กๆ อยู่ด้วยกัน เติบโตด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้องกันอย่างอบอุ่น

ในช่องสุดท้าย น้องๆ ไม่ลืมที่จะรำลึกถึงโรงเรียนของตน เขียนชื่อโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน มีสัญลักษณ์ที่มีสไตล์เป็นของตัวเองมาก เป็นอักษร “ภ” ในวงกลม แล้วไม่ลืมประทับรอยฝ่ามือของตนไว้ทุกคน เตือนว่า หนูเคยมาที่นี่นะ ลงวันเดือนปีกำกับไว้ด้วย

เป็นการสร้างบันทึกทางประวัติศาสตร์ไปด้วยในตัว

 

อีกหลายปีผ่านไป น้องๆ พาคุณพ่อคุณแม่กลับมาดูร่องรอยที่น้องๆ ได้ประทับตราไว้ที่กำแพงหลังกุฏิหลวงย่า มันน่าภาคภูมิใจอะไรเช่นนั้น

ธรรมะที่น้องให้แก่หลวงพี่และหลวงย่าที่วัตร มันยิ่งกว่าคำสอนที่เป็นตัวหนังสือ เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่ปลอดภัย

เป็นภาพสะท้อนถึงสังคมที่อบอุ่นเอื้ออาทรซึ่งกันและกันในภาคปฏิบัติ ที่วัตรก็ยังต้องเน้นย้ำให้บรรดาหลวงพี่มีความเอื้ออาทรต่อกันบ่อยๆ

โดยเฉพาะสำหรับภิกษุณีนั้น เป็นอาบัติปาจิตตีย์หากไม่ดูแล ไม่เอื้ออาทรต่อกันค่ะ

ขอบคุณน้องๆ และคุณครู ตลอดจนทีมงานจากโรงเรียนภัทราวดี

ขอบคุณเป็นพิเศษ คือครูเล็กที่ปั้นเด็กออกมาสอนธรรมะแก่หลวงพี่ได้