วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ภาระหน้าที่หนังสือพิมพ์ไม่เพียงในประเทศ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ภาระหน้าที่หนังสือพิมพ์ไม่เพียงในประเทศ

 

กลางเดือนสิงหาคม วันที่ 16-30 พ.ศ.2521 ไพสันต์ พรหมน้อย หัวหน้าข่าวในประเทศหนังสือพิมพ์ “มติชน” เป็น 1 ใน 4 ของคณะผู้แทนสื่อมวลชนจากประเทศไทยได้รับเชิญจากรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามไปเยือนอย่างเป็นทางการ

หลังจากกลับมาแล้ว ได้รายงานเหตุการณ์ ภาพชีวิตจากดินแดนเหนือสุดของเวียดนามที่ติดกับจีนจรดดินแดนทางภาคใต้ที่มีปัญหาระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา ในชื่อ “จากฮานอย ถึงโฮจิมินห์ซิตี้”

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน 2521 มีข่าวในหน้า 1 มติชน ว่า “ฟามวันดงฝากบอกชาวไทย ต้องการผูกมิตรให้แน่นแฟ้น”

ส่วนรายงานเริ่มในหน้า 2 วันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2521 ด้วยลีลาของการรายงานข่าวบวกสารคดี ที่ยังไม่มีใครเคยเห็นภาพจากฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก…เมื่อเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะจากทหารอเมริกันก่อนหน้านั้น

การที่ประเทศสังคมนิยมรวมถึงประเทศคอมมิวนิสต์ผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ด้วยสาเหตุรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปรับเปลี่ยนนโยบายจาก “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ของรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ชนิดขวาจัด

รวมทั้งเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์เปิดนโยบายคบประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ประเทศในกลุ่มสังคมนิยมยินดีที่จะเปิดประเทศให้สื่อมวลชนไทยเข้าไปเยือนพร้อมกับพบบุคคลสำคัญและให้สัมภาษณ์ เรียกว่า “เปิดหมดใจ” ดังที่ไพสันต์ พรหมน้อย รายงานมาเต็มเหยียดวันต่อวัน

ทั้งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ฟาม วัน ดง ยังเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้ข้าราชการไทย รัฐบาลไทย และคนไทยรู้จักเวียดนามมากขึ้นและคลายความรังเกียจคนเวียดนาม กับความคิดต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านั้นไปด้วย

33 ปีแห่งการปลดปล่อย

เมื่อกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ไปประเทศใดก็ตาม โดยเฉพาะประเทศที่มีการเมืองการปกครองอีกระบอบหนึ่ง เช่น ระบอบคอมมิวนิสม์ หรือสังคมนิยม ผู้ที่เราทั้งสองประเทศต้องพบกันให้ได้คือนักหนังสือพิมพ์ นักข่าวด้วยกัน เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน

ครั้งนี้ นักหนังสือพิมพ์จากเมืองไทยได้พบกับนักหนังสือพิมพ์เวียดนาม

ไพสันต์ พรหมน้อย บันทึกไว้ในเรื่อง “หนังสือพิมพ์เวียดนาม ชีวิตที่ต้องปฏิวัติ” ความตอนหนึ่งว่า

ความเป็นคนหนังสือพิมพ์ สิ่งหนึ่งคือ การพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถามเข้าเป้าและประเด็นที่ต้องการ ไม่อืดอาดยืดยาด เหมือนต้องสงวนท่าทีการทูต

พบกับ “หวู กุ๊ก อุย” เลขาธิการหนังสือพิมพ์เวียดนาม ผู้มีความเจนจัดในยุทธจักรหนังสือพิมพ์เวียดนาม ลูกเล่นแพรวพราว คำพูดแต่ละคำ ยกคำพังเพยมายั่วเย้า กระเซ้าแหย่อยู่เสมอ

เขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์เวียดนามปัจจุบันมีอยู่ 4 ประการ

ประการแรก รับใช้ประชาชาติและสันติภาพ

ประการที่สอง กระชับความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ประการที่สาม เพื่อกระทำให้ภูมิภาคนี้เป็นกลาง

ประการที่สี่ ตีแผ่สัจธรรม

หนังสือพิมพ์ในเวียดนามก็เช่นหนังสือพิมพ์ทั่วไปในเรื่องรูปแบบ กล่าวคือ การออกจำหน่าย มีทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน และยังแยกออกเป็นประเภทต่างๆ อีกด้วย อาทิ หนังสือเยาวชนฮานอยใหม่ หนังสือพิมพ์แรงงาน หนังสือพิมพ์ประชาชน (เยิน-เยิน) หนังสือพิมพ์ของกองทัพ หนังสือพิมพ์สตรี หนังสือพิมพ์แนวร่วมปิตุภูมิ หนังสือภาพ ฯลฯ ในชื่อของแต่ละชื่อนั้น จะรับใช้เป็นประเภทๆ ไป

นอกจากหนังสือที่ออกเป็นภาษาเวียดนามแล้ว ยังพิมพ์ออกเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายเดือน พิมพ์ออกเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน

สำหรับหนังสือพิมพ์เยิน-เยินนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเดียวที่มีชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลก

ออกเสียงคำว่า “เยิน-เยิน” อาจจะงงงวยเล็กน้อย หากอ่านเป็นภาษาอังกฤษ เขาอ่านกันว่า “นาน ดาน” หรือ “หนาน ด่าน” ก็เหมือนกับหนังสือพิมพ์ “มติชน” แทนที่เขาจะเรียกว่า “มติชน” กลับไปเรียกว่า “กงหลวด” ซึ่งสอบถามแปลว่า “มติมหาชน”

พอผู้เขียนได้รับการแนะนำต่อผู้ที่พบปะ เขาจะเรียกว่า องค์ (นาย) ไพสันต์ เป๋าจี้ (หนังสือพิมพ์) กงหลวด (มติชน) เป็นต้น

ลึกไปกว่านั้น หนังสือพิมพ์เวียดนามยังไม่พอเพียง เพราะประสบปัญหากระดาษขาดแคลนอย่างหนัก

ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งในคณะนักข่าวไทย ยังถามถึงปัญหาการทำงานของนักข่าวเวียดนามช่วงสงครามเวียดนาม

เลขาธิการหนังสือพิมพ์เวียดนามตอบว่า หนังสือพิมพ์ต้องเป็นหัวหอกในการผลิต คือส่วนหนึ่งที่ต้องเสริมสร้าง ให้ประชาชนช่วยกันผลิต เพราะภาวะสงครามทุกคนต้องจับปืนและเคียงคู่กัน แต่เขาก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าสูญเสียคนข่าวหรือคนทำงานหนังสือพิมพ์ไปเท่าไหร่

สำหรับเขตที่มีการสู้รบแล้ว เขาส่งคนข่าวกับช่างภาพออกไปหมู่ละ 20-30 คน ในเขตที่ถูกบอมบ์อย่างหนัก “ผมให้เอาฟิล์มไปหมื่นเมตร ครั้นมาถึงสำนักงานอาจจะเหลือไม่ถึงกี่ร้อยเมตร” เขาพูดในทำนองว่า คนของเขาสูญเสียไปในสงคราม “เราอาจรอดกลับมาได้เพียง 7-8 คน นอกนั้นตายหมด”

หวู กุ๊ก ฮุย กล่าวถึงรายงานข่าวสงครามว่า ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ต้องรู้ว่าเครื่องบินสหรัฐที่ถูกยิงตกเป็นเครื่องอะไร ตกที่ไหน ใครยิง ใครไปทำข่าวมาได้ แน่นอนหรือไม่ เพราะการได้ทั้งข่าวและภาพจะช่วยหนุนการสู้รบ และกำลังใจให้กับทุกคนว่า นั่นคือชัยชนะที่ได้มาเปลาะหนึ่ง

สุดท้าย เลขาธิการหนังสือพิมพ์เวียดนามสรุปว่า หนังสือพิมพ์กองทัพ นอกจากรับใช้กองทัพแล้ว เรายังต้องรับใช้ประเทศชาติอีกด้วย หน้าที่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ต้องอบรมทหารให้รักประชาชน ช่วยเหลือประชาชน

ขณะเดียวกันต้องอบรมประชาชนให้ช่วยเหลือกองทัพ