ในประเทศ / จากสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถึงกรณีธนาธร-หุ้นสื่อ จับตา ‘โดมิโน’ การเมือง ทำผลเลือกตั้ง Error

ในประเทศ

 

จากสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ถึงกรณีธนาธร-หุ้นสื่อ

จับตา ‘โดมิโน’ การเมือง

ทำผลเลือกตั้ง Error

 

ผ่านเลือกตั้งไปแล้วเกือบเดือนครึ่ง ยังมีปัจจัยหลายอย่างบ่งชี้ว่าการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. อาจไม่ทันตามที่ กกต.กำหนดวันที่ 9 พฤษภาคม

อย่างแรก กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับวิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91

โดยเห็นว่าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กำหนดวิธีการคำนวณไว้ 5 อนุมาตรา แต่เมื่อมาบัญญัติเป็น พ.ร.ป. กลับมีการขยายเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา โดยอนุ 4, 6 และ 7 ขยายข้อความนอกเหนือมาตรา 91 ทำให้การคำนวณไม่เป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ

จึงให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ประเด็นนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ เป็นผู้ร้องในประเด็นขัดกันของข้อกฎหมาย การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เป็นแนวทางเดียวกับที่ กกต.เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย แต่ศาลไม่รับคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า กกต.ไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น

เมื่อมาถึงจุดนี้ ต้องติดตามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ถ้าไม่รับ ก็ไม่มีอะไร

แต่ถ้ารับ ก็ต้องดูต่อว่าคำวินิจฉัยศาลจะออกมาเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลัง 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างน้อยร้อยละ 95

ถ้าคำวินิจฉัยออกก่อน ทุกอย่างก็จะเดินหน้า แต่หากออกหลังจะกระทบต่อการรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ เป็นคำถามน่าคิด

สำคัญกว่านั้น คำวินิจฉัยจะออกมาแนวทางใด ระหว่างขัดกับไม่ขัด หากวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ไม่ขัดแย้งกัน

ถึงศาลจะไม่รับวินิจฉัยตั้งแต่แรกในเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ กกต.สบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าสูตรคำนวณของตนเองจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

รายงานข่าวระบุ สำนักงาน กกต.จัดเตรียมไว้ 3 สูตร ประกอบด้วย

วิธีคำนวณของ กกต.ที่เสนอร่วมกับอดีต กรธ. จัดสรรเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน คือ 71,057 คะแนน จำนวน 27 พรรค

วิธีคำนวณของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ซึ่งจะมีพรรคได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16 พรรค และวิธีคำนวณของนายโคทม อารียา อดีต กกต. ที่คำนวณได้ 16 พรรคเช่นกัน คือไม่จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคที่ได้คะแนนรวมต่ำกว่า 71,057 คะแนน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ กกต.ประกาศคะแนนเลือกตั้งไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ก็มีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า กกต.ได้ปักธงไว้แล้วจะใช้สูตรวิธีคำนวณเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาแบบใด

 

กลับมายังประเด็นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

สิ่งที่นักการเมืองห่วงกังวลคือ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 128 ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เป็นไปตามเจตจำนงรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จะส่งผลให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม

เป็น “โมฆะ” หรือไม่

เพราะถือเป็นการเลือกตั้งภายใต้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แม้คนร่างจะเป็นกลุ่มคนเดียวกันก็ตาม

“ต้องพิจารณาว่าสุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยอย่างไร ถ้าขัดรัฐธรรมนูญ จะขัดในส่วนไหน ถึงขนาดไม่สามารถประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าคิดเหมือนกัน” นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยระบุ

นอกจากคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งอาจส่งผลสะเทือนต่อการเลือกตั้งทั้งระบบ ผลงานการทำหน้าที่ของ กกต.ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคือตัวปัญหาหลัก หากการเลือกตั้งครั้งนี้ล้มเหลวหรือถูกตัดสินให้เป็นโมฆะไปในที่สุด หรือแม้กระทั่งหากไม่สามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้งได้ทันวันที่ 9 พฤษภาคมก็ตาม

การสั่งนับคะแนนใหม่เขต 1 นครปฐม เพื่อแก้ปัญหาความสับสน ว่าผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอนาคตใหม่ คือผู้ชนะได้เป็นว่าที่ ส.ส. กลับกลายเป็นการสร้างความสับสนมากกว่าเดิม เนื่องจากมีการประกาศผลกลับไปกลับมาหลายรอบ

ถึงในที่สุด กกต.จะยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่นับคะแนน และประกาศเบื้องต้นให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เฉือนเอาชนะผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ไป 4 คะแนน

แต่ปัญหานอกจากจะไม่จบ ยังบานปลาย เมื่อพรรคอนาคตใหม่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กกต.สั่งจัดเลือกตั้งใหม่ทั้งเขต 1 นครปฐม โดยให้เหตุผลว่า ผลนับคะแนนที่เปลี่ยนไปมาหลายรอบ ทำให้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้สมัครทุกพรรคได้ว่าเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม

พรรคอนาคตใหม่ยังเรียกร้องให้ กกต.ทุกจังหวัดเปิดคะแนนดิบรายหน่วยทั้งหมดเพื่อตรวจสอบ เพราะในเมื่อ กกต.ยอมรับว่าปัญหาเขต 1 นครปฐม เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ หรือฮิวแมน เออเรอร์ (Human Error) ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขตเลือกตั้งหรือหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ จะไม่ “เออเรอร์” ด้วยเช่นกัน

 

สําหรับพรรคอนาคตใหม่ นับตั้งแต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูก กกต.ตั้งข้อกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ทั้งนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ก็มีท่าที “แข็งกร้าว” มากขึ้น

สังเกตจากภายหลังหอบหลักฐานการ “โอนหุ้น” เข้าชี้แจงกับ กกต.เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายธนาธรได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยน้ำเสียงจริงจัง ประกาศเตรียมฟ้องกลับ กกต. นายศรีสุวรรณ จรรยา และสื่อบางสำนัก ทั้งยังอ้างด้วยว่า ตนเองมีชื่อว่าที่ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 30 คนที่มีคดีหุ้นเหมือนกัน

“ผมเป็นคนใจเย็น จะรอจนกว่า คสช.หมดอำนาจ แล้วดำเนินการทางกฎหมาย มาตรา 157 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี เราทุกคนรู้ว่าขณะนี้ คสช.อยู่ในขาลง ไม่มีทางครองอำนาจอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ

เวลาอยู่ข้างประชาชน จะรอจนกว่า คสช.หมดอำนาจ ถึงจะฟ้องดำเนินคดีกับคนที่ตัดสินคดีผมโดยไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับ จะรอจนถึงวันนั้นค่อยฟ้องกลับเพื่อปกป้องสิทธิ์ของผมเอง” นายธนาธรกล่าว

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประกาศจะเอาผิดตามมาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 69 หาก กกต.ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ 27 พรรค เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่เป็นผู้เสียหายโดยตรง เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกตัดออกไป 7-8 คน

กรณีการถือครองหุ้นสื่อ กลายเป็น “โดมิโน” ล้มทับไปยังผู้สมัครและว่าที่ ส.ส.พรรคอื่นๆ เหมือนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เคยชี้ไว้

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนายชาญวิทย์ วิภูศิริ ยังมีกรรมการบริหารพรรคและว่าที่ ส.ส.อีกอย่างน้อย 3 คนอยู่ในข่ายถูกร้องเรียนเอาผิดโยงถึงขั้น “ยุบพรรค”

กกต.จะหาทางบรรเทาความเสียหายจากการทำ “ปืนลั่น” ใส่พรรคผู้มีอำนาจอย่างไร จะใช้มาตรฐานเดียวกับกรณีนายธนาธรหรือไม่ สังคมเฝ้าจับตาดูอยู่

ปัญหาเก่ายังเคลียร์ไม่เสร็จ ไม่ว่ากรณีโต๊ะจีน บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ บัตรเขย่ง สูตรคำนวณ ส.ส. ฯลฯ ปัญหาใหม่ก็ถาโถมเข้าใส่ไม่หยุดหย่อน แต่ กกต.ยังยืนยัน

สามารถจัดการปัญหาและประกาศรับรองผลเลือกตั้งได้ในวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม แม้จะมีกระแสข่าวเตรียม “ต่อเวลา” ไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม ตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จใน 150 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป. 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ

กระนั้นก็ตาม หลายคนยังคงให้ความสนใจ

   เฝ้ารอฟังคำตอบสุดท้ายจากศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยความระทึกใจ