การศึกษา / สะเทือนวงการผ้าเหลือง ศาลสั่งจำคุกเจ้าอาวาสวัดกัลยาณ์

การศึกษา

 

สะเทือนวงการผ้าเหลือง

ศาลสั่งจำคุกเจ้าอาวาสวัดกัลยาณ์

 

ฮือฮาไปทั่ววงการผ้าเหลือง

เมื่อศาลมีคำพิพากษาตัดสินว่า พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร มีความผิดในคดีรื้อถอนศาลารายและกุฏิในคณะ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่โบราณสถาน ต้องโทษจำคุก 3 ปี

แต่เจ้าอาวาสให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดหย่อนโทษให้เหลือ 1 ใน 3 คือ เหลือโทษจำคุก 1 ปี และพิพากษาให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยที่นายบวรเวท รุ่งรุจี เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม เมื่อปี 2558 เนื่องจากทางวัดทุบทำลายโบราณสถานวัดกัลยาณมิตร

ทั้งนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระพรหมกวี เป็นจำเลย

ในคดีที่ สน.บุปผาราม รวบรวมสำนวนพร้อมความเห็นส่งพนักงานอัยการ ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นคดีหมายเลขดำ อท.34/2562 ในความตาม พ.ร.บ.วัตถุโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 4, 8, 10, 32, 35

และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2504 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84, 93

 

ศาลอาญาทุจริตฯ มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.วัตถุโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10, 32 วรรคสอง, มาตรา 35

ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง

ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุกจำเลย 3 ปี และปรับ 60,000 บาท

จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุลดโทษครึ่งหนึ่ง จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท

และเมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติและสติปัญญา การศึกษา และอาชีพ สิ่งแวดล้อมของจำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุ เป็นผู้ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหลวง เพื่อทำการปรับปรุงพัฒนาวัดและยังจัดตั้งโรงเรียนสงฆ์อีกด้วย

การที่จำเลยบูรณสังขรณ์วัด ทำให้ทัศนียภาพของกุฏิสงฆ์ ศาลาภายในวัดสวยงามดั้งเดิมตลอดจนภาพลักษณ์ของวัดมีความปลอดภัยมากขึ้นสมกับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำชาติไทย

ประกอบกับไม่มีเรื่องของการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

 

สําหรับคดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายมีหน้าที่บำรุงรักษาจัดกิจการและสาธารณสมบัติของวัด ได้บังอาจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ

ด้วยการร่วมกับพวกซึ่งแยกไปดำเนินคดียังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอีกส่วนหนึ่ง ใช้ให้นายฉลอง ไทยขำ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2364/2559 ของศาลอาญาธนบุรีซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษไปแล้วกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ด้วยการใช้จ้างวานยุยง ส่งเสริมให้ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าและทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งกุฏิคณะ 1 จำนวน 1 หลัง และศาลารายจำนวน 1 หลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ภายในวัดกัลยาณมิตร อันเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ที่จำเลยต้องมีหน้าที่ดูแลจัดการให้เป็นไปด้วยดีตามกฎหมาย

การที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันก่อให้นายฉลองกับพวกร่วมกันกระทำความผิด โดยได้ร่วมกันทุบทำลายทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าไร้ประโยชน์

ซึ่งกุฏิสงฆ์คณะ 1 และศาลารายดังกล่าว เป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือหรือเป็นการทำตามคำสั่งจากอธิบดีกรมศิลปากร

 

ขณะที่นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นโจทก์ ระบุว่า วัดกัลยาณมิตรรื้อถอนศาลารายและกุฏิในคณะ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่โบราณสถานตามประกาศของกรมศิลปากร ที่ผ่านมากรมศิลปากรพยายามสื่อสารไปยังวัดที่มีโบราณสถานในพื้นที่ทั่วประเทศ ว่าการจะดำเนินการก่อสร้างหรือทุบทำลายโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณพื้นที่วัด จำเป็นต้องหารือกรมศิลปากรก่อน ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ

ถือเป็นคดีอาญา กรมศิลปากรต้องนำคำตัดสินไปฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากทางวัด ซึ่งกรณีนี้มีการรื้อศาลาราย 2 หลัง และกุฏิ 1 หลัง โดยจะต้องประเมินราคาว่าหากสร้างใหม่จะมีราคาเท่าไหร่ เพื่อให้วัดชดใช้เป็นเงิน หรือหากไม่ชดใช้เป็นเงิน วัดจะต้องจัดสร้างตามรูปแบบรายการที่กรมศิลปากรกำหนด

“อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นกรมศิลปากรเคยประเมินค่าความเสียหายของการรื้อถอนประมาณ 1-2 ล้านบาท แต่ขณะนี้ผ่านไป 4  ปี ไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ กรมศิลปากรต้องไปคำนวณความเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของวัดกัลยาณมิตร ยังมีกรณีที่กรมศิลปากรฟ้องบริษัทเอกชนอีก 1 คดี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล” นายบวรเวทระบุ

ขณะที่นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า กรมศิลปากรคงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้ในขณะนี้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย

 

สําหรับวัดกัลยาณมิตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2492

การปรับปรุงซ่อมแซมจะต้องหารือกรมศิลปากรตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ

แต่กรณีของวัดกัลยาณมิตร เจ้าอาวาสสั่งทุบทำลายโบราณสถานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 ตั้งแต่หอระฆัง หอไตร ศาลา กุฏิพระโบราณ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์รวม 22 รายการ

ส่งผลให้กรมศิลปากรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม ให้ดำเนินคดีกับผู้สั่งการและคนงาน ที่ทำลายโบราณสถานและก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรตั้งแต่ปี 2546-2558 จำนวน 16 คดี อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง 10 คดี

พร้อมกันนั้นกรมศิลปากรดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวัดกัลยาณมิตรที่ก่อสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต กระทั่งล่าสุดนำมาสู่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินให้เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิต มีความผิดต้องโทษจำคุก 3 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดหย่อนโทษเหลือ 1 ใน 3 คือเหลือโทษจำคุก 1 ปี และพิพากษาให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

ยังเหลืออีกหลายคดีที่ต้องรอลุ้น

แต่ที่แน่ๆ คดีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง และนับเป็นคดีแรกที่ศาลได้ตัดสินความผิดเกี่ยวกับพระทุบทำลายโบราณสถาน

จากนี้คงเป็นบทเรียนให้ทุกวัดตระหนักและช่วยกันดูแลโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ให้ดีขึ้น