หนุ่มเมืองจันท์ : “ชีวิต” และ “กีฬา”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ในนัดชิงชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลยูโรฯ 2016 ที่ “โปรตุเกส” พลิกชนะ “ฝรั่งเศส” 1 : 0

ภาพประทับใจของคนทั่วโลก คือ ภาพของ “โรนัลโด้” ในนัดนี้ที่ “ดราม่า” สุดๆ

ทั้งตอนที่หลั่งน้ำตาออกจากสนามเพราะการบาดเจ็บ

หรือแอ๊กชั่นคุมทีมข้างสนาม

และตอนชูถ้วยชนะเลิศในฐานะ “หัวหน้าทีม”

เรื่องราวของ “โรนัลโด” ในค่ำคืนนั้นเป็นภาพที่ควรค่าแก่ความประทับใจ

แต่ผมกลับชอบคลิปของ “บีบีซี” มากกว่า

เป็นเรื่องราวเล็กๆ ที่งดงามของเกมกีฬา

แฟนฟุตบอลชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งยืนร่ำไห้อยู่ตรงทางเดินนอกสนาม

เสียใจที่ทีมชาติของตัวเองพ่ายแพ้

ในขณะที่เขากำลังปิดหน้าร้องไห้ มีมือเล็กๆ มือหนึ่งมาจับแขนเขา

เป็นมือของเด็กผู้ชายที่ใส่เสื้อทีมชาติ “โปรตุเกส”

เด็กน้อยต้องการปลอบใจแฟนบอลฝรั่งเศสคนนี้ครับ

แล้วทั้งคู่ก็สวมกอดกัน ให้กำลังใจกัน

ผมชอบคลิปนี้มาก

“ความบริสุทธิ์” ของเด็กยังเป็นความงดงามเสมอ

ก่อนหน้าภาพนี้ไม่นาน ผมเชื่อว่าเด็กน้อยคงจะกระโดดดีใจที่ทีมชาติโปรตุเกสชนะ

แต่เมื่อเขามองเห็นแฟนบอลคู่แข่งร้องไห้

เด็กน้อยเก็บความดีใจไว้ในใจแล้วเดินไปให้กำลังใจแฟนบอลฝรั่งเศส

“เกมกีฬา” ก็เหมือนกับ “เกมชีวิต”

ไม่มีใครชนะทุกครั้ง

และไม่มีใครจะพ่ายแพ้ตลอดไป

ทุกคนต้องเคยชนะ

และเคยพ่ายแพ้

แต่สุดท้าย “ชีวิต” ก็ต้องดำเนินต่อไป

โรนัลโด้

อีกภาพหนึ่งที่ผมชอบมากในฟุตบอลยูโร ครั้งนี้ คือภาพหลังการแข่งขันของคู่ “ฝรั่งเศส-ไอซ์แลนด์”

“ฝรั่งเศส” ถล่ม “ไอซ์แลนด์” ยับเยิน 5 : 2

ก่อนแมตช์นี้ “ไอซ์แลนด์” เพิ่งสร้างเทพนิยายบทใหม่ ด้วยการเอาชนะ “เบลเยี่ยม” หนึ่งในสุดยอดทีมของยุโรป

“ไอซ์แลนด์” เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 3.3 แสนคน

นักบอลของเขาไม่ค่อยมีใครรู้จัก

แต่กองเชียร์ของเขาสุดยอดมาก

จำนวนกองเชียร์ของเขามีจำนวนไม่มาก แต่สามารถส่งพลังกระหึ่มไปทั่วสนาม

จังหวะการปรบมือของทีมไอซ์แลนด์กลายเป็นที่รู้จักเพียงชั่วข้ามคืน

เขาจะเริ่มต้นด้วยการตีกลอง 2 ครั้งช้าๆ

ตามด้วยเสียงปรบมือพร้อมกัน 1 ครั้ง

กลองจะเริ่มขยับจังหวะเร็วขึ้น

เสียงปรบมือก็เร็วขึ้นตาม

ก่อนจะจบด้วยการปรบมือรัวในตอนสุดท้าย พร้อมเสียงเฮ

วันที่ “ไอซ์แลนด์” ชนะ “เบลเยี่ยม”

หลังเสียงนกหวีดหมดเวลาการแข่งขัน นักเตะทุกคนวิ่งไปที่หน้ากองเชียร์และปรบมือเป็นจังหวะพร้อมกัน

วันนั้น นักเตะทุกคนปรบมืออย่างฮึกเหิม

เช่นเดียวกับกองเชียร์

แต่ในวันที่เขาพ่ายแพ้ฝรั่งเศส

ภาพก็ยังเหมือนเดิม

นักเตะวิ่งที่หน้าอัฒจันทร์กองเชียร์

แต่ท่าทีไม่ฮึกเหิมเหมือนวันก่อน

บางคนร้องไห้ บางคนก้มหน้า

แม้นักเตะทุกคนยังปรบมือร่วมกับกองเชียร์ในจังหวะเดิม

แต่เห็นชัดว่านักเตะทุกคนปรบมือแบบฝืนๆ

ตรงข้ามกับ “กองเชียร์”

ทุกคนแม้จะร่ำไห้บ้าง เศร้าบ้าง แต่ทุกคนยังปรบมือดังสนั่นเหมือนเดิม

หรือมากกว่าเดิม

ยิ่งเห็นนักเตะเศร้า เขายิ่งปรบมือดัง

เหมือนจะต้องการแปรเสียงปรบมือนี้ให้เป็นกำลังใจกับนักเตะ

เพื่อบอกว่าเราอยู่ข้างคุณเสมอ

ไม่ว่าจะ “ชนะ”

หรือ “แพ้”

“นักฟุตบอล” ต้องการ “กองเชียร์” แบบนี้

“ชีวิต” ของเราก็เช่นกัน

 

ผมนึกถึงวันที่สัมภาษณ์ “ต๊อบ” อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เรื่องการบริหารทีมเลสเตอร์ ซิตี้

จนกลายเป็นเทพนิยายของโลก

“เทพนิยายเลสเตอร์”

ทีมนอกสายตาที่หนีตกชั้นเมื่อฤดูกาลที่แล้ว แต่สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลนี้

“เลสเตอร์” ไม่มี “ซูเปอร์สตาร์” ค่าตัวแพง

เขาเล่นเป็นทีม นักเตะทุกคนวิ่งสู้ฟัดตลอด

ผมถาม “ต็อบ” ว่า วันไหนที่รู้สึกว่า “เลสเตอร์” เล่นเป็นทีม

ตอนที่ถามก็นึกทายคำตอบล่วงหน้าว่าน่าจะเป็นตอนต้นฤดูกาลที่ออกตัวได้ดี

คว้าชัยชนะต่อเนื่อง และครองอันดับ 1 ตั้งแต่แรกๆ

แต่คำตอบของ “ต็อบ” ตรงกันข้ามครับ

เขาบอกว่าวันที่เขารู้สึกว่า “เลสเตอร์” มีพลังแห่งความเป็น “ทีม” เกิดขึ้น

คือ วันที่ลงแข่งกับ “วัตฟอร์ด” ในฤดูกาล 2012-2013 ที่ “เลสเตอร์” ยังอยู่ในระดับแชมเปี้ยนชิพ

ฤดูกาลนั้น “เลสเตอร์” จบด้วยอันดับที่ 6

อันดับ 1-2 ได้เลื่อนชั้นไปพรีเมียร์ลีก

อันดับ 3-4-5-6 มาเล่นเพลย์ออฟเพื่อหาทีมชนะทีมเดียวไปเล่นพรีเมียร์ลีก

“เลสเตอร์” เจอกับ “วัตฟอร์ด”

เกมแรก “เลสเตอร์” ชนะ 1 : 0

เกมที่สอง “เลสเตอร์” ตามหลัง “วัตฟอร์ต” 1 : 2

รวม 2 นัดเสมอกัน 2 : 2

แต่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ นาทีที่ 6 “เลสเตอร์” ได้ลูกโทษจุดโทษ

ถ้ายิงเข้า ชนะเลย

“อองโตนี่ย์ น็อคการ์ต” ยิง ผู้รักษาประตูวัตฟอร์ตปัดได้

ซ้ำดาบสองไปติดเซฟอีก

กองหลังวัตฟอร์ตเตะสกัดยาวไปข้างหน้า ปีกโยนเข้ากลาง

กองหน้าโหม่งตั้ง

อีกคนหนึ่งวิ่งเข้ามาสับไก

เข้าประตู

“วัตฟอร์ต” ชนะ 3 : 1 ประตูรวม 3 : 2

“ผมจำได้เลยว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลา 19 วินาที” คุณอัยยวัฒน์เล่า

เขาเสียใจมาก

เลิกดูฟุตบอลไป 3 เดือน

แต่คนที่เสียใจมากกว่าคือ นักเตะทุกคน

เหมือน “ความหวัง” พังทลายไปต่อหน้าต่อตา

“ต็อบ” บอกว่ายิ่งนักเตะเสียใจมากเท่าไร ก็แสดงว่านักเตะรักสโมสรมากเท่านั้น

“วินาทีนั้นผมรู้สึกเลยว่าความเป็นทีมเกิดขึ้นแล้ว”

ฤดูกาลถัดไป นักเตะทุกคนรวมพลังสู้อย่างเต็มที่

“เลสเตอร์” เป็นแชมป์

เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกโดยอัตโนมัติ

และสร้าง “เทพนิยายเลสเตอร์” ในเวลาต่อมา

ผมชอบมุมมองของ “ต็อบ” เรื่องนี้มาก

เขามองเห็น “ความเป็นทีม” ใน “ความพ่ายแพ้”

ความเสียใจในวันที่สูญเสียสิ่งใดไป

แสดงให้รู้ว่าเขารักสิ่งนั้นมากแค่ไหน

ยิ่งรักมากเท่าไรก็ยิ่งเสียใจมากเท่านั้น

ความเป็น “ทีม” ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเงินตรา

แต่ต้องเกิดขึ้นจาก “ใจ”

และ “ปุ๋ย” ที่จะทำให้ต้นไม้แห่งความเป็นทีมนี้งอกงามได้

ก็คือ “ความรัก”