พิศณุ นิลกลัด : การออกกำลังกาย สไตล์จอมพลัง Game of Thrones

พิศณุ นิลกลัด

ณ เวลานี้ ไม่มีซีรี่ส์ไหนที่คนไทยและคนทั่วโลกเฝ้าติดตามมากไปกว่า Game of Thrones ซึ่งซีซั่น 8 ที่เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน จะเป็นซีซั่นสุดท้าย

ถ้าเอ่ยชื่อฮัฟธอร์ จูเลียส บียอร์นสัน หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเขาคือใคร

แต่ถ้าบอกว่า เซอร์เกรกอร์ คลีเกน (Gregor Clegane) ฉายา “The Mountain” คนที่กำลังติดตามซีรี่ส์ Game of Thrones ต้องร้องอ๋อกับบทบาทอัศวินร่างยักษ์อารมณ์ร้อน บ้าพลัง และพูดน้อยต่อยหนักเป็นอย่างดี

ฮัฟธอร์ จูเลียส บียอร์นสัน (Hafþór Júlíus Björnsson) หรือชื่อเล่น ธอร์ (Thor) หนุ่มจอมพลังวัย 30 ปี ชาวไอซ์แลนด์คนนี้ไม่ได้สร้างชื่อให้ตัวเองแค่ในซีรี่ส์ Game of Thrones เพียงอย่างเดียว

เพราะเขามีดีกรีเป็นถึงแชมป์ World”s Strongest Man ปี 2018, แชมป์ Europe”s Strongest Man 5 ครั้ง (2014, 2015, 2017, 2018, 2019)

นอกจากนี้เพิ่งได้แชมป์ Arnold Strongman Classic สมัยที่สองติดต่อกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในปี 2018 เขาสร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรองแมนคนแรกและคนเดียวที่กวาดแชมป์ 3 รายการได้ในปีปฏิทินเดียวกัน ทั้ง Arnold Strongman Classic 2018, Europe”s Strongest Man 2018 และ World”s Strongest Man 2018

 

นอกจากนี้ ย้อนไปในปี 2015 รายการ World”s Strongest Viking 2015 ที่ประเทศนอร์เวย์ ฮัฟธอร์ บียอร์นสัน ได้ทำลายสถิติที่อยู่มาอย่างยาวนาน 1,000 ปีตั้งแต่ยุคไวกิ้งของออร์ม สตูลอฟสัน (Orm Storolfsson) จอมพลังชาวไอซ์แลนด์ ด้วยการแบกท่อนซุงที่หนัก 650 กิโลกรัม ยาว 9.8 เมตร แล้วเดินไปข้างหน้าได้ 5 ก้าว

มากกว่าสถิติเดิมซึ่งมีเขียนบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไอซ์แลนด์ (Sagas of Icelanders) ว่าออร์มเดินแบกได้แค่ 3 ก้าว ก่อนที่หลังจะหัก

 

กว่าที่ฮัฟธอร์ บียอร์นสัน หรือธอร์ ซึ่งสูง 206 เซนติเมตร หนัก 193 กิโลกรัม จะกลายมาเป็นสุดยอดสตรองแมน เขาต้องผ่านช่วงเวลาแห่งการทำงานหนักหลายปี รักษาวินัยการกินอาหารและออกกำลังกายอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องมีทัศนคติเชิงบวกอยู่ตลอดเวลา

ธอร์บอกว่าเขามาสนใจเล่นกีฬาตอนอายุ 12 ปี โดยเริ่มจากบาสเกตบอล เพราะเขาตัวสูงกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน และผ่านการเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติระดับเยาวชน

เขาซ้อมบาสอย่างหนักวันละ 3 รอบ ตอนกลางคืนก็ยกเวต

พออายุ 16 ปีร่างกายเขาก็ยืดสูงขึ้นเต็มที่ และตอนอายุ 19 ปีเขาก็ค้นพบว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านความแข็งแรงของร่างกาย

 

แต่การบาดเจ็บซ้ำซ้อนรุนแรงที่ข้อเท้าทำให้เขาเลือกหยุดเส้นทางนักบาสเกตบอลไว้แค่อายุ 20 ปี เพื่อรักษาเท้าหลังจากผ่าตัดครั้งที่สอง

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางการแข่งขันสตรองแมนและใช้พรสวรรค์ด้านความแข็งแกร่งทางร่างกายอย่างเต็มที่

โดยในช่วงระหว่างเตรียมตัวเพื่อแข่งขันสตรองแมน ธอร์ทั้งฝึกฝน ออกกำลังกายและเข้ารับกายภาพบำบัดไปในเวลาเดียวกัน

เขาฝึกยกน้ำหนักในยิม 5 ครั้งต่อสัปดาห์ และใช้เวลาส่วนหนึ่งทำการบำบัดทั้งร้อนและเย็นเพื่อช่วยหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ

และทำให้สามารถฝึกได้อย่างต่อเนื่อง

 

ธอร์บอกว่าการกินอาหารเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่จะช่วยรักษาหุ่น และสร้างความแข็งแรง

เขาต้องกินอาหารวันละ 6-8 มื้อไม่เคยขาด ซึ่งเขาบอกว่าการกินอาหารนี่แหละคือส่วนที่ยากที่สุดในการฝึกฝนเพื่อจะเป็นสตรองแมนหมายเลขหนึ่งของโลก

ทุกๆ 2 ชั่วโมงเขาจะกินอาหารหนึ่งมื้อ กินอย่างต่อเนื่องจนไม่เคยรู้สึกหิว

อาหารที่กินส่วนมากคือมันเทศ, ไข่ไก่, เนื้อ, ปลา, ไก่, เนย, โกโก้ และอัลมอนด์

ส่วนผักเขาชอบกินผักโขม, อโวคาโด, บร็อกโคลี่ ซึ่งรวมๆ แล้ววันหนึ่งเขาต้องกินทั้งหมดให้ได้อย่างน้อย 10,000 แคลอรีเพื่อเป็นพลังงานในการฝึกซ้อมและสร้างมวลกล้ามเนื้อ

 

การต่อสู้เพื่อเป็นแชมป์รายการ World”s Strongest Man คือเป้าหมายของธอร์มาตลอดเวลาเกือบ 10 ปี โดยครั้งแรกที่เข้าแข่งขันในปี 2011 เขาได้อันดับที่ 6

ปีต่อๆ มาเขาก็ติดอันดับ 3 และ 2 มาเรื่อยๆ

จนกระทั่งปี 2018 เขาคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ ซึ่งนอกจากเรื่องความแข็งแกร่งแล้ว ทัศนคติก็เป็นสิ่งสำคัญที่พาเขามาถึงจุดนี้ เพราะการต้องกินอาหารให้ได้วันละประมาณ 10,000 แคลอรี และใช้เวลาฝึกหลายชั่วโมงในยิมทุกวัน ต้องอาศัยพลังใจที่เข้มแข็งและทัศนคติในเชิงบวกด้วย

ธอร์บอกว่าไม่มีการออกกำลังกายรูปไหนที่เขารู้สึกว่าชอบน้อยที่สุด

เขาไม่ชอบมีความคิดแบบนั้น เพราะคุณต้องมีใจที่คิดบวกกับทุกสิ่งในชีวิตตัวเอง มองโลกในแง่ดีให้มากเข้าไว้ เพราะการที่เราจะเก่งได้ในทุกๆ เรื่องเราต้องมีความคิดในแง่บวกกับสิ่งนั้น

สิ่งไหนที่เขาเห็นว่าเป็นจุดด้อยของตัวเอง เขาจะตั้งใจฝึกฝนให้หนักกว่าเดิมเพื่อสร้างให้สิ่งนั้นกลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งของเขาให้ได้

หลักคิดสร้างจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งแบบนี้ ใช้ได้กับกีฬาทุกประเภท