คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / อาลัย “ครูเฉียบ” : สยามสงัดเสียสิ้นแล้ว เมื่อระนาดแก้วสงบเสียง 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมต้องขออภัยผู้อ่านอีกแล้ว ด้วยตั้งใจแต่แรกว่าจะเขียนถึงสิ่งที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต่อเนื่องไปหลายๆ สัปดาห์

แต่เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 19 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ผมได้รับข่าวอันน่าตกใจว่า ท่านอาจารย์นัฐพงศ์ โสวัตร หรือ “ครูเฉียบ” ที่คนในแวดวงดนตรีไทยเรียกขานกันได้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักของท่าน โดยไม่มีวี่แววของความเจ็บป่วยล่วงหน้ามาก่อน สิริอายุ 72 ปี

ผมทราบข่าวนี้จากหน้าเฟซบุ๊กของอาจารย์อานันท์ นาคคง ก็ได้แต่มึนงงว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งตกใจระคนเศร้า และได้รอกำหนดการพิธีต่างๆ จนได้ไปรดน้ำศพครูในวันที่ยี่สิบเมษายนที่ผ่านมา

การสูญเสียครูเฉียบคงมิได้เป็นเพียงการสูญเสียบุคคลที่น่าเคารพนับถือในหมู่ญาติมิตรและศิษย์เท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียนักระนาดเอกในตำนาน และครูดนตรีผู้ใหญ่ซึ่งเป็นการสูญเสียของสังคมไทยโดยรวม

“สยามจึงสงัดเสียสิ้นแล้ว เมื่อระนาดแก้วของครูสงบเสียง”

ทว่าครูเฉียบแม้จะเป็นครูผู้ใหญ่ แต่ท่านก็มิได้เป็นคนโอ้อวดตน ผู้รู้จักท่านนอกแวดวงศิลปินและศิษย์จึงมีไม่มาก

ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้แสดงความอาลัยถึง “ครู” ที่ผมรักมากท่านหนึ่ง

 

ราวปี พ.ศ.2541 ผมเรียนชั้นมัธยมปลาย ครูเฉียบได้รับเชิญพร้อมครูอีกหลายท่านไปปรับวงดนตรีไทยของชุมนุมดนตรีไทยโรงเรียนพิชัยรัตนาคารที่ผมเรียนอยู่ เพื่อแข่งขันระดับภาคใต้ที่ มอ.สงขลา นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับครู

ครูใจดีมีเมตตามาก ผมจำได้ว่าช่วงนั้นเผอิญญาติพี่น้องจะจัดงานฉลองวันเกิดคุณย่าของผม ครูยมโดยซึ่งไปด้วยจึงแต่งบทประพันธ์ให้ไปใช้ในตอนทำพิธีรดน้ำของย่า ส่วนครูเฉียบบรรจุทำนองสรภัญญะและตีระนาดให้บันทึกเสียงด้วย เมื่อไปเปิดในงานเป็นที่ฮือฮามาก

เสียดายหาเทปบันทึกเสียงอันนั้นไม่เจอเสียแล้ว

นอกจากนี้ ครูท่านยังทำพิธีคำนับครูให้พวกเรา ซึ่งอยู่ไกลครูบาอาจารย์ทางดุริยดนตรีเป็นครั้งแรก

ครูกลับมาจังหวัดระนองอีกหลายครั้ง แม้จะไม่ค่อยถูกกับอากาศที่ชื้นฝนทั้งปีอย่างระนองเพราะครูเป็นโรคหอบหืด แต่ก็นับว่าเป็นที่หนึ่งที่ครูชื่นชอบมากจริงๆ เพราะครูมักพูดถึงเสมอๆ

ต่อมาใน พ.ศ.2543 ผมไปเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นปีแรก ครูโทรศัพท์ไปหา บอกว่าจะไปทำพิธีไหว้ครู เพราะครูประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติและครูของท่านได้มอบหมายให้ไปทำพิธีแทน ผมจึงไปพบครูและครอบสาธุการกับครูในปีนั้น

แรกๆ คนในชมรมนึกว่าผมเป็นลูกศิษย์ครูมาจาก กทม. เพราะหน้าแก่ ที่ไหนได้เป็น น.ศ.ปีหนึ่ง ผมจึงได้เข้าชมรมดนตรีไทยของ มช.ตั้งแต่บัดนั้น

เมื่อครอบแล้วก็เรียนโหมโรงเย็นกับพี่บุญ รุ่นพี่ในชมรมจนจบ แต่ก็ไม่ได้ครอบตระโหมโรงต่อ เพราะไม่ได้คิดว่าจะเล่นปี่พาทย์จริงจังอะไร

และสุดท้ายผมก็เล่นดนตรีไม่เป็นโล้เป็นพายอะไรสักสิ่ง เป็นเหมือนอะไหล่สำรองของวง ตีทับตีโทนเมื่อขาดคน แล้วก็หัดเครื่องสายกับรุ่นพี่อีกท่านหนึ่ง

 

ปีถัดมาผมได้รับเลือกเป็นประธานชมรม เราคิดกันว่าจะจัดพิธีไหว้ครูต่อๆ ไปทุกปี และได้เชิญครูเฉียบกับครูแดงผู้ช่วยท่านมา ครูรับปากว่าจะมาช่วยจนกว่าจะมาไม่ไหว แม้บางปีเราไม่ค่อยมีเงิน ครูก็ต้องนั่งรถไฟมาบ้าง นั่งรถประจำทางมาบ้างทั้งๆ ที่ก็อายุมาก

นอกจากเงินค่ากำนัลในพิธีแล้ว ค่าตอบแทนที่พวกเราให้ครูก็น้อยแสนน้อย ยิ่งถ้าปีไหนครูรู้ว่าเราไม่ค่อยมี ครูก็จะคืนซองให้ บอกฉันจะทำบุญด้วย หลังๆ จึงต้องคะยั้นคะยอให้ครูรับไว้ ต่อมาพี่ชมรมหลายท่านเข้ามาช่วยสนับสนุน ครูจึงได้เดินทางและพักโดยสะดวกสบายขึ้น

ครูมาทำพิธีไหว้ครูให้ชมรมตั้งแต่ พ.ศ.2543 จนถึง พ.ศ.2561 ทุกปีไม่เคยขาด

ก่อนไปเชียงใหม่ ครูจะโทร.มาถามเสมอว่าผมจะไปไหม ทราบข่าวหรือยัง ผมก็รับปากครูว่าจะไปด้วยทุกปี ไปเป็นคนช่วยอะไรต่ออะไรที่ทำได้ และนี่ได้กลายเป็นโอกาสของผมในการถามไถ่ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมจากครู

ครั้นผมมีแฟน เมื่อเราตกลงว่าจะแต่งงานกัน ผมพาแฟนไปพิธีไหว้ครู นำการ์ดแต่งงานไปเชิญท่าน ครูดีใจมากบอกว่าจะไปให้ได้ วันก่อนแต่งงานครูขับรถมาหาที่มหาวิทยาลัย เอาเงินใส่ซองมาให้จำนวนพอสมควร บอกว่าวันจริงครูติดงานที่มีเสด็จฯ มาไม่ได้ แต่อยากให้ผมรับซองไว้ ผมยังเก็บไว้เป็นมงคล

พออีกปีผมจึงพาภรรยาไปไหว้ครูอีกครั้งที่เชียงใหม่ ถือว่าไปรับพรแต่งงาน

 

เมื่อหนังสือ “ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?” ตีพิมพ์ครั้งแรก ผมนำไปในงานพิธีไหว้ครูด้วย เพราะถือว่าตัวเองเขียนเรื่องผีๆ เทพๆ ก็น่าจะต้องนำไปรับพรให้เป็นสวัสดิมงคลและจะได้สมาลาโทษอันใดที่พลาดพลั้ง

เมื่อเล่าให้ครูฟัง ครูก็บอกว่าจะเจิมหนังสือให้ แล้วผมได้มอบให้ครูไว้หนึ่งเล่มเป็นที่ระลึก

ในปีเดียวกันนั้นเอง ครูได้ส่งมอบตำราไหว้ครูให้ครูประทีป นักปี่ ครูจึงเปรยกับผมว่าอยากทำโปรเจ็กต์อันหนึ่ง

ครูเล่าว่าสมัยที่ครูรับมอบให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมจากท่านครูมนตรี ตราโมท ครูมนตรีท่านไม่ได้อธิบายอะไรมาก หลายสิ่งหลายอย่างจึงไม่ทราบที่มาที่ไป ทั้งเรื่ององค์เทพและพิธีกรรม เมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องส่งต่อตำราให้คนรุ่นถัดไป ท่านจึงอยากให้ผมช่วยกันค้นหาความรู้และอะไรต่างๆ ที่ผมพอจะถนัด เพราะเห็นผมสนใจทางนี้

ท่านบอกว่า เมื่อท่านเป็นครูผู้ประกอบพิธีแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะปรับแก้หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามสมควร อีกทั้งยุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งใดที่ทำแล้วก็ควรเข้าใจให้ลึกซึ้งถ่องแท้ มีคำอธิบาย

ผมยินดีมากแล้วรับปากว่าจะช่วยครูอย่างเต็มที่ แต่ก็ได้ขอท่านในพิธีเลยว่า อาจต้องขอให้ครูอนุญาตให้ศึกษาตำราหรือให้ครูได้อธิบายทุกอย่าง ครูก็ยินดี

บัดนี้รู้สึกเสียดายและเสียใจที่ครูสิ้นไปก่อนที่เราจะได้เริ่มงานกัน

 

ผมไม่เป็นโล้เป็นพายอะไรทางดนตรีเลย จึงมิกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นศิษย์ครูเฉียบอย่างเต็มปากเต็มคำนัก เกรงจะไปทำให้คนลบหลู่ครูได้ และมีผู้เป็นศิษย์อีกมากที่ใกล้ชิดและได้รับความรู้อย่างมหาศาลจากครูในทางดุริยางคศิลป์ แต่อย่างน้อยที่สุดครูก็ทำให้ผมพอจะฟังดนตรีไทยเป็น รู้จักสุนทรียรสของศิลปะอันวิเศษ

ส่วนความรู้อื่นๆ ในทางวัฒนธรรมประเพณีไทยแต่โบราณนั้น นับได้ว่าผมเป็นหนี้ของคุณครูอย่างมหาศาล เพราะท่านให้ทั้งความรู้ รวมทั้งความรักความเมตตาและความเป็นกันเองอย่างที่สุด

ในทางส่วนรวม ครูเฉียบเป็นตำนานคนหนึ่งของวงการดนตรีไทย เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือดีหาตัวจับยาก เป็นมือระนาดรุ่นท้ายๆ ที่ยังไปตีประชันกันทุกคุ้งน้ำ เสียงระนาดครูเฉียบนั้น แม้จะไหว แต่ไม่คึกคะนองลำพอง มีความชัดเจน ไม่มีเสียงอันหยาบกระด้างให้เห็น ทว่าองอาจแกล้วกล้า ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าใด ความสง่าสุขุมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

สมกับที่ครูประสิทธิ์ ถาวร ได้ปลุกปั้นขึ้นมาเป็นมือระนาดชื่อดัง

ยิ่งไปกว่าความเป็นศิลปินคือความเป็นครูอาวุโสที่สร้างศิษย์ออกมาอย่างมากมาย

ครูเฉียบเป็นนักเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป เรียนแล้วก็รับราชการในวิทยาลัยจนเกษียณ

และแม้จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังทำหน้าที่สอนและประกอบพิธีไหว้ครูให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ครูเป็นหน่อเนื้อลูกหลานดุริยศิลปิน พี่น้องของครูก็ล้วนแต่เป็นครูผู้ใหญ่ เช่น ครูบุญช่วย โสวัตร, ครูลำยอง โสวัตร และยังเป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูด้วยเช่นเดียวกัน

แม้จะมีศิษย์หาหลายคนพูดว่า ครูควรจะได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ แต่ครูก็ไม่เคยวิ่งเต้นให้ได้ยศศักดิ์

กระนั้นเกียรติยศของครูมีอยู่สูงสุดในใจศิษย์ทุกคน และความเป็นศิลปินที่แท้จริงนั้น ก็ย่อมประจักษ์ชัดแจ้ง โดยไม่ต้องมีใครหรือผู้ใดมาการันตี

 

ถือเป็นเกียรติยศแห่งชีวิตของผมมากๆ ที่แม้จะไม่เอาไหนเลยทางดนตรี แต่ได้มีโอกาสรู้จักและได้รับเมตตาจากศิลปินที่แท้อย่างครูเฉียบ

ครั้งหนึ่ง รุ่นพี่ซึ่งเป็นครูนาฏศิลป์ที่ชมรมเสียชีวิต ในปีนั้นน้องๆ ชมรมที่ระลึกถึงก็เอารูปถ่ายท่านไปขึ้นบนแท่นในพิธีไหว้ครู รวมกับรูปครูผู้ล่วงลับ ผมยังคุยกันกับครูว่า “อ้าว เห็นกันหลัดๆ ไปอยู่บนนั้นซะแล้ว” แม้จะดูเป็นตลกร้าย แต่พิธีไหว้ครูทุกๆ ปีต่อไปนี้ ครูเฉียบก็จะกลายเป็นครูที่ไปอยู่บนแท่นบูชานั้น เหมือนบูรพาจารย์รุ่นก่อนๆ ไปเป็น “ครู” ที่อำนวยพรศิษย์จากทิพยโลกของดุริยเทพ โลกของผี-ครูทั้งหลาย ไปอยู่ใกล้ๆ ครูประสิทธิ์ ถาวร ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะและครูของท่านทุกๆ ดวงจิต

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ด้วยความคารวาลัยต่อครู และหากมีประโยชน์ใดเกิดขึ้นบ้างจากงานเขียนของผมตลอดเวลาที่ผ่านมา

ขออุทิศกุศลทั้งสิ้นทั้งปวงนั้นแด่ครูเทอญ