ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “โขน” มาจากคำว่า “โกละ” ที่แปลว่า การละเล่น ในภาษาอินเดียใต้?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่างคุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2499-2510 และมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2450-2547) ได้เคยอธิบายเอาไว้ในหนังสือ “โขนภาคต้น ว่าด้วยตำนานและทฤษฎี” ตีพิมพ์โดยกรมศิลปากรว่า “โขน” ในภาษาไทยนั้น มีความหมายเกี่ยวข้องกันกับคำที่ออกเสียงคล้ายกันในอีก 3 ภาษา ได้แก่

“โขละ” หรือบางทีก็เรียก “โขฬะ” ในภาษาเบงคาลี (ภาษาที่ใช้ในแคว้นเบงกอล ของอินเดีย) ซึ่งหมายถึง เครื่องดนตรีคล้ายตะโพน

“โกล” หรือ “โกลัม” ในภาษาทมิฬ (ภาษาของชาวอินเดียใต้) หมายถึง การประดับตกแต่งร่างกายแสดงตัวให้หมายรู้ถึงเพศ

และ “โขน” หรือ “ควาน” ในภาษาอิหร่าน หมายถึง ผู้อ่านหรือผู้ขับร้องแทนตัวตุ๊กตา หรือหุ่นในการแสดง

แน่นอนที่คุณธนิตจะเชื่อว่าคำเหล่านี้เป็นที่มาของคำว่า “โขน” ในภาษาไทย โดยได้อธิบายว่า ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในภาษาไทยนั้น คงจะผ่านทางราชสำนักขอมมาก่อน ดังปรากฏมีคำว่า “โขล” ในภาษาเขมร ซึ่งท่านอ้างตามพจนานุกรมภาษาเขมรว่าหมายถึง “ละคอนชาย เล่นเรื่องรามเกียรติ์” คือเล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เหมือนอย่างโขนของไทย

ที่สำคัญก็คือ คุณธนิตได้ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า “โขล” ในภาษาเขมรสะกดด้วย ตัวอักษร “ล” เช่นเดียวกับในภาษาเบงคาลี ถ้าหากจะมีการนำเจ้า “โขละ” หรือตะโพน เข้ามาใช้ทำเพลงประกอบการนาฏกรรมบางอย่างแล้ว คนพื้นเมืองอุษาคเนย์จะทึกทักเอาเองว่า นาฏกรรมนั้นเรียกว่าโขลตามชื่อเครื่องดนตรีประกอบ เช่นเดียวกับที่มีการรำประกอบการตีโทน แลัวเรียกว่า รำโทน (ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียก รำวง) ก็อาจจะเป็นไปได้?

 

แต่นอกเหนือไปจากที่คุณธนิตว่าไว้ ยังมีคำศัพท์จากอินเดียที่ใกล้เคียงกับคำว่า โขน อยู่อีกเช่นกัน

อ.คมกฤช “เชฟหมี” อุ่ยเต็กเค่ง แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเล่าให้ผมฟังว่า ในภาษาตุลุ ที่ใช้กันในแคว้นเกราละ ทางภาคใต้ของอินเดีย (แคว้นนี้มีร่องรอยทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับอุษาคเนย์อย่างน่าฉงน) มีการละเล่นที่เรียกว่า “พูตะ โกละ”

“พูตะ” มาจากคำว่า “ภูต” ในภาษาสันสกฤต (และผมคงจะไม่ต้องแปลนะครับว่า ภูต หมายถึงอะไร) ส่วนคำว่า “โกละ” ในภาษาตุลุหมายถึง “การละเล่น” โดยน่าจะยืมมาจากจากคำว่า “เขลน” (อ่านว่า เข-ละ-นะ) ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า “กีฬา” หรือ “การละเล่น” นั่นเอง

ส่วนการเล่น “พูตะ โกละ” ในเกราละ จะคล้ายๆ โนราลงครู ในบ้านเรา ที่จริงแล้วจึงเป็นพิธีกรรม มากกว่าจะเป็นการละเล่น แต่ครูที่มาลงในโกละ จะเป็นผีท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นเทพฮินดู ที่สำคัญก็คือ ตอนเข้าทรงแล้วต้อง “วาดหน้า” หรือ “สวมหน้ากาก” จากนั้นจะร่ายรำ หรือจับเป็นเรื่องก็ได้

ดังนั้น ถ้าคำว่า “โขล” ของเขมร (ที่จะกลายมาเป็น “โขน” ในภาษาไทย) จะมาจาก “พูตะ โกละ” ก็ไม่เห็นจะแปลก เพราะก็คือระบำหน้ากากที่จับเป็นเรื่องเหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงที่พูตะ โกละ ไม่ได้เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เหมือนอย่างโขลของเขมรเท่านั้นเอง

 

การละเล่นระบำหน้ากากในกัมพูชามีมานานนับพันปีแล้วนะครับ

หลักฐานก็คือคำว่า “โขล” ที่ปรากฏอยู่บนศิลาจารึกอย่างน้อย 2 หลัก ได้แก่ จารึกวัดประมา หรือจารึก K. 1229 ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1522 ดังความในด้านที่ 3 บรรทัดที่ 13 ระบุว่า

“มีชายตำแหน่งวาป คนแห่งเขตธรูวปุระ ได้เข้ามาเป็นพนักงานโขลในพระราชวัง”

และจารึกสตึงแสรง หรือจารึก K.566A ที่มีอายุอยู่ในช่วงใกล้ๆ กันก็มีข้อความอยู่ในจารึกด้านแรก บรรทัดที่ 12 ว่า

“มีเจ้านายพระองค์หนึ่งนามพระกมรเตงอัญอีศานศิวะ เป็นหัวหน้าโขล”

โขลของเขมร ในยุคเก่าก่อนเป็นเครื่องราชูปโภค ไม่ใช่การละเล่นของคนทั่วไป เพราะถูกใช้ในฐานะของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของราชสำนักเท่านั้น ไม่ต่างไปจากโขนของไทยในยุคก่อนสมัยใหม่ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จารึกทั้งสองหลักนี้จะระบุว่า เจ้าพนักงานโขล เหล่านี้จะอยู่ในวัง

และนี่ก็ดูจะสอดคล้องกันกับหลักฐานโบราณคดีอื่นๆ เพราะถ้าจะดูร่องรอยจาก “หน้ากาก” ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ภาพสลักในปราสาทขอมนั้นเป็นต้นกำเนิดโขน ที่เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์อย่างในปัจจุบัน

สังเกตได้จากศีรษะโขนไทย จะเอาจำนวนหน้าอันมากมาย ทั้งของทศกัณฐ์และยักษ์ตนอื่นๆ ซ้อนสูงไว้ข้างบนหัวตนเอง เหมือนภาพสลักขอม ไม่แยกออกมาด้านข้างเหมือนกับภาพสลักในอินเดีย (หรืออย่างที่เห็นอยู่ให้บ่อยในภาพยนตร์เกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดูของแขก)

แน่นอนว่า การเสกสารพัดหน้าของบรรดายักษ์ หรือสิ่งทรงฤทธิ์อื่นๆ ไปกองรวมกันไว้ข้างบน ย่อมสวมใส่ได้ง่ายสบายดีกว่าการเอาไปแผ่ออกด้านข้างเหมือนอย่างพวกแขก และนั่นก็แปลด้วยว่าในอารยธรรมของเขมรในสมัยที่ยังสร้างปราสาทหินอยู่นั้นย่อมมีหน้ากาก หรือศีรษะโขนอย่างนี้อยู่ด้วย ในเมื่อคำว่า “โขล” ของเขาก็หมายถึงการรำหน้ากากนี่ครับ?

 

ยังมีคำที่สำคัญอีกคำหนึ่งคือคำว่า “ละคอน” หรือ “ละคร” ซึ่งภาษาเขมรออกเสียงว่า “ลโคน” (อ่านว่า ละ-โคน) หมายถึง “การเล่นเรื่องต่างๆ” ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรามเกียรติ์ ซึ่งก็ไม่ต่างกันทั้งฝ่ายไทย หรือฝ่ายเขมร

เชื่อกันว่า ที่มาของคำนี้คงมาจากคำในภาษามลายู ซึ่งมีคำที่คล้ายคลึงกันให้เปรียบเทียบอยู่คือคำว่า “เลกอง” (legong) ซึ่งหมายถึง “การฟ้อนรำ” ดังมีปรากฏตกค้างอยู่ในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นได้ระบุเอาไว้ว่า คำว่า “legong” นั้น ประกอบขึ้นมาจากรากคำ 2 คำคือ “leg” และ “gong”

ในภาษาถิ่นของบาหลีนั้น คำที่มีรากมาจาก “leg” ไม่ว่าจะเป็น “ileg”, “elog”, “oleg”, “igel”, “ogel”, “gelgel” และ “legleg” ล้วนแล้วแต่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการฟ้อนรำทั้งสิ้น

ส่วนคำว่า “gong” นั้นหมายถึง “ฆ้อง” หรือที่ในอินโดนีเซียเรียกว่า “กาเมลัน” (gamelan)

ดังนั้น คำว่า “เลอกอง” จึงหมายถึงการฟ้อนรำเข้าคู่กับวงกาเมลัน

เป็นไปได้ว่า รากศัพท์คำว่า “leg” ในภาษามลายู (ดังที่มีตกค้างอยู่ในบาหลี) เป็นต้นเค้าของคำว่า “ละคอน” หรือ “ลโคน” เพราะต่างก็หมายถึงการฟ้อนรำด้วยกันทั้งนั้น (ส่วนจะจับเป็นเรื่องหรือเปล่านั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ปัจจุบันที่เขมรเรียก “โขล” หรือ “โขน” ของเขมรว่า “ลโคน โขล” จึงเป็นการเน้นย้ำว่า เป็นการละเล่นฟ้อนรำที่ใส่หน้ากาก (หรือศีรษะโขน) เรื่องรามเกียรติ์นั่นเอง