สมหมาย ปาริจฉัตต์ : พลิกโฉมหอพักนอน ร.ร.ชายขอบ ทุนวิจัยกองทุน 10 บาท (6)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

อย่างที่เล่าเมื่อตอนที่แล้ว การดำเนินงานของกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่หรือกองทุน 10 บาท หลังระดมทุนรับบริจาคครั้งแรก ปี 2561 ได้แจกทุนถึง 11 ประเภท

มีทุนอยู่ประเภทหนึ่งสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา ผมอ่านหัวข้อเป็นเรื่องเกี่ยวกับหอพักนอนนักเรียนในโรงเรียนห่างไกล โดนใจ เลยดอดไปตามหาความจริง เพราะอยากรู้ว่าผลงานจากการได้ทุนเป็นอย่างไร

ทีมวิจัยนำโดย ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ และคณะ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอรายงานผลการวิจัยเรียบร้อยแล้วเมื่อมกราคม 2562

 

เริ่มจากวิเคราะห์และสังเคราะห์บริบทสภาพความเหลื่อมล้ำของนักเรียนหอพักนอนในโรงเรียนพื้นที่สูง โดยสำรวจข้อมูลจากโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างที่จัดหอพักนอนในพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงใหม่ 114 แห่ง

พบว่าจัดแบ่งเป็นหอพักนอนนักเรียนชายและหอพักนอนนักเรียนหญิง สภาพส่วนใหญ่แทบทุกแห่งขาดแคลนสิ่งสนับสนุนอาคารหอพักและสิ่งอำนวยความสะดวกในการพักอาศัย บางแห่งแออัด ขาดการออกแบบสภาพแวดล้อมและกิจกรรมการดูแลการพักอาศัย ครูผู้สอนมีอีกบทบาทหนึ่งคือแบ่งเวรกันทำหน้าที่ดูแลนักเรียนหอพักนอน

มีโรงเรียนบางแห่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกและการช่วยเหลือจากชุมชน แต่ยังไม่เพียงพอที่จะใช้รองรับความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง โดยเฉพาะนักเรียนที่บ้านอยู่อาศัยห่างไกลในการเดินทางมาโรงเรียน

จากนั้นพัฒนารูปแบบการจัดการหอพักนอนที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้จริง ขั้นตอนที่ 3 ทดลองและประเมินผลการใช้รูปแบบการพัฒนาหอพักนอนนักเรียน 2 แห่ง ในโรงเรียนพื้นที่สูงได้แก่ โรงเรียนบ้านยางเปา และโรงเรียนบ้านอูตูม อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ก่อนเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขยายผลในพื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียง

 

ทีมวิจัยเสนอแนวทางพัฒนาสองด้าน

ด้านแรก พัฒนารูปแบบการจัดการหอพักนอน มีโปรแกรมกิจกรรมพัฒนานักเรียนที่อยู่ในหอพักนอนทั้งด้านทักษะชีวิต ครอบคลุม 4 หน่วยการเรียนรู้และ 4 กิจกรรม

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ปฐมนิเทศ กิจกรรมที่ 1 เปิดประสบการณ์การเรียนรู้นักเรียนหอพักนอน 30 นาที

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การพัฒนาการรู้จักและเข้าใจตนเองและผู้อื่น กิจกรรมที่ 2 รู้เขา รู้เรา ต้นทุนสัมพันธภาพ 40 นาที

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 การพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่น กิจกรรมที่ 3 ภูมิคุ้มกันวัยรุ่น 50 นาที

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ปัจฉิมนิเทศ กิจกรรมที่ 4 บทเรียนเพื่อก้าวต่อไป 40 นาที

คำถามสำคัญ ในชีวิตของท่านที่ผ่านมามีเรื่องอะไรที่ทำให้ท่านมีคุณค่า หรือพอใจในตัวเองหรือภูมิใจในตนเองมากที่สุด ทำให้เด็กมีความคุ้นเคย กล้าแสดงออก เกิดความมั่นใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข มีความคิด

คนหนึ่งตอบอย่างมั่นใจว่า หนูตั้งใจจะสอบเรียนเป็นพยาบาลให้ได้ หนูเชื่อว่าหนูต้องทำได้

 

ด้านที่สอง พัฒนาระบบสนับสนุนการดูแลนักเรียนหอพักนอน โดยนำระบบกล้อง Starcam 360 องศามาติดตั้งในหอพักนอน เพื่อติดต่อสื่อสารสองทางระหว่างครูผู้ดูแลนักเรียนและนักเรียนในหอพักนอน ตลอดช่วงเวลาในแต่ละวัน

พร้อมกับติดตั้งระบบไฟฟ้าและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อัพโหลดแอพพลิเคชั่นที่ใช้เพื่อเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์ SMART DEVICE โทรศัพท์มือถือของครูผู้ดูแลหอพักและผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งสองโรงเรียนติดตั้งกล้องในหอพักหญิง โรงเรียนละ 4 จุด

ครูผู้ดูแลมีข้อจำกัดในการดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีภาระการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ และงานที่ได้รับมอบหมาย การใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเห็นทั้งภาพและเสียง การสื่อสารโต้ตอบระหว่างครูเมื่ออยู่ไกลจากบริเวณหอพักนอนและนอกพื้นที่

วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ครูผู้ดูแลต้องกลับบ้าน แต่นักเรียนหลายคนยังอยู่ในหอพักนอนเนื่องจากบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน จึงไม่ได้กลับบ้าน ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกับครู การ PHONE ผ่านกล้องได้ และครูหอพักยังสามารถติดต่อผ่านช่องทางเดียวกัน เป็นนวัตกรรมการดูแลนักเรียนในหอพักนอน

 

สุดท้ายรายงานเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้โรงเรียนมีโปรแกรมกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนหอพักนอน

การปฐมนิเทศ การจัดกิจกรรมในช่วงเย็นหรือวันหยุด ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกเหมือนว่าเป็นบ้านหลังที่สอง มีโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็น มีความพร้อมในการเรียนในชั้นเรียน

ขณะเดียวกันควรมีระบบสนับสนุนการดูแลนักเรียนหอพักนอน ผสมผสานกับกิจกรรมการดูแลอย่างใกล้ชิดช่วยให้ลดความตึงเครียดในการทำงานของครูผู้ดูแลนักเรียนหอพักนอน และผู้บริหารสถานศึกษาเกิดความไว้วางใจมากยิ่งขึ้น ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นที่จะส่งบุตร-หลานมาให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียน

ส่วนข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรภาคเอกชน องค์กรการกุศล การระดมทรัพยากรเพื่อช่วยสนับสนุนโรงเรียนไม่เพียงแต่เกี่ยวกับชั้นเรียน แต่สนับสนุนหอพักนอนนักเรียน จะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐและชุมชนลงได้

ขณะนี้มูลนิธิสร้างสรรค์การศึกษา ซึ่งปกติจะจัดสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน ได้หันมาสร้างหอพักนอนในโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายในงานวิจัยนี้

“นี่คือแนวทางช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาการศึกษา” บทสรุปรายงานวิจัยย้ำ

ครับ ข้อเสนอของคณะผู้รับทุนวิจัยจากกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่นี้ ผู้บริหารการศึกษาทั้งระดับพื้นที่ทุกจังหวัดและระดับชาติสามารถนำไปพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดอื่นๆ ที่ขาดแคลน อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร โดยการปฏิรูประบบหอพักนอนนักเรียนได้เลยทันที

ประเด็นอยู่ที่ว่า รับข้อเสนอแล้วจะลงมือเมื่อไหร่ ภายใต้ข้ออ้างข้อจำกัดต่างๆ มากมายอีกหรือไม่เท่านั้นเอง