ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
ไฟเดือนห้า
อากาศยังร้อนอบอ้าว แต่เชื่อว่าฤดูกาลกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝน
อดทนกันอีกนิด ด้วยอากาศยังร้อนและในฉบับที่ผ่านมาได้นำเสนอความรู้ “หนาวเดือนห้า” ยาแก้ไข้หนาวในฤดูร้อน ครั้งนี้ขอเสนอความรู้ต่อเนื่องถึง ไฟเดือนห้า ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ร่วมกันให้ดี
วงการแพทย์แผนไทยหรือการใช้สมุนไพรตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เมื่อพูดถึงสมุนไพรไฟเดือนห้า ส่วนใหญ่แล้วจะกล่าวถึงสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Asclepias curassavica L.
เป็นพืชในวงศ์ Apocynaceae มีชื่อสามัญว่า Bastard ipecacuanha, Butterfly Weed, Blood Flower, Milkweed, Silkweed
ไฟเดือนห้าเป็นไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน แต่นำเข้ามาเป็นไม้ประดับในเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว จึงมีชื่อพื้นเมืองที่หลากหลาย
เช่น คำแค่ (แม่ฮ่องสอน) บัวลาแดง (เชียงใหม่) ค่าน้ำ เด็งจ้อน (ลำปาง) ไม้จีน (ประจวบคีรีขันธ์) ดอกไม้เมืองจีน ไม้เมืองจีน (สุราษฎร์ธานี) เทียนแดง (ภาคกลาง) เทียนใต้ (ภาคอีสาน) เหลียนเซิงกุ้ยจื่อฮวา จิงเฟิ่งฮวา (จีนกลาง)
ไฟเดือนห้านี้เป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว สีเขียวสด ดอกช่อ สีแดงอมส้ม กลีบดอกพับงอ ก้านช่อดอกมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ผลรูปกระสวยยาว แห้งแตก เมล็ดรูปไข่ ยาว
แต่เป็นพืชมีพิษ กินแล้วส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ วิธีการใช้ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ต้องเป็นหมอที่ชำนาญ รู้จักการสะตุเพื่อลดพิษก่อนนำมาปรุงยา
ไฟเดือนห้า ที่กล่าวในตำรับยาไทยว่า เมล็ดมีรสขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาบำรุงให้ร่างกายอบอุ่น ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุไฟ ใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวเย็นหมดสติ ไข้ตรีโทษ (อาการไข้กระหายน้ำ เหงื่อออกมา ซึม เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย บางครั้งมีอาการอาเจียนเป็นสีเหลืองปนเลือด)
ใช้เป็นยาขับพิษเลือดในเดือนอยู่ไฟ แก้เลือดทำพิษในเรือนไฟ (การติดเชื้อที่มดลูกหลังการคลอดบุตร)
เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ ห้ามเลือด
เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน กลากเกลื้อน
รากใช้เป็นยารักษากระดูกร้าว หรือกระดูกหัก
สาระสำคัญที่พบในไฟเดือนห้า ได้แก่ Ascurogenin, Asclepin, Calotropin, Curassvicin เป็นต้น
จากการทดลองพบว่า สาร Ascurogenin, Asclepin และ Curassicin มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกระต่ายทดลอง ทำให้หัวใจของกระต่ายมีการบีบตัวแรงขึ้น
ยางจากต้นไฟเดือนห้ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด สาร Calotropin มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในโพรงจมูกที่อยู่นอกตัวของสัตว์ทดลอง
จากเอกสารต่างประเทศกล่าวไว้ว่า สมุนไพรไฟเดือนห้าชนิดนี้ ส่วนรากนำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาลดไข้ บิด
และใช้ล้างตา เมื่อมีอาการติดเชื้อนัยน์ตา
ในส่วนของรากมีสารไกลโคไซด์ (glycoside) แอสคลิบปิดิน (asclepiadin) ซึ่งใช้เป็นยาแก้อาเจียนและเป็นยาถ่าย
นอกจากนี้ยังใช้แทนยาขับเสมหะหรือทำให้อาเจียนได้
ใบนำมาบดผสมกับเกลือ น้ำมันพืชและขนมปังใช้พอกมะเร็งที่ผิวหนัง
น้ำยางใช้เป็นยากัดหูดและรักษาตาปลา น้ำคั้นจากทั้งต้นใช้เป็นยารักษากลาก แผล ผื่นต่างๆ หรือโรคผิวหนัง การใช้สมุนไพรชนิดนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็น
ส่วนของน้ำยางประกอบด้วย คาร์ดิโนไลด์ (cardenolides) และ ไตรเตอรปืน (esterified triterpenes) สารสกัดมีผลในการรบกวนการทำงานของสมอง
นอกจากนี้ในน้ำยางยังมีสารประกอบอีกหลายชนิด เช่น quercetin, caffeic acid, sterols, flavonoids carbohydrates, fatty acids และ acidic mucilage ในส่วนของต้นมีสาร beta-sitosterol ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดอาการโตของต่อมลูกหมาก และเสริมฮอร์โมนเพศหญิงให้กับร่างกาย
การใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น เส้นใยจากลำต้นนำมาปั่นรวมกับฝ้ายได้ ขนจากเมล็ดนำมาใช้คล้ายนุ่นในหมอนได้
แต่จากการพูดคุยสอบทานข้อมูลกับหมอแผนไทยบางท่าน มีความเห็นว่าไฟเดือนห้า ไม่น่าจะใช่พืชชนิดนี้
เนื่องจากตามตำราดั้งเดิมกล่าวไว้ว่า ไฟเดือนห้าเป็นไม้ยืนต้นและในรายงานของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ ได้กล่าวถึงพืชชนิดหนึ่งที่ทางภาคใต้เรียกว่า ไฟเดือนห้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Excoecaria oppositifolia Griff.
ทางภาคเหนือเรียกว่า ยางร้อนหรือตังตาบอด ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร
จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับยางพารา (Euphorbiaceae) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า และอินโดจีน สำหรับประเทศไทยมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าดิบชื้นในแทบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น
พบในพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1500 เมตร
ไฟเดือนห้าชนิดหลังนี้มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรหลายส่วน เช่น รากใช้เป็นยาขับโลหิต เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทานนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้
น้ำยางให้รสร้อนเมามีความเป็นพิษ หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการอักเสบและบวมแดง ถ้ากระเด็นเข้าตาทำให้ตาพร่ามัวได้หรืออาจทำให้ตาบอดได้เลย จึงต้องระวัง และน้ำยางทำให้ระคายเคืองผิวหนังด้วย
มีการศึกษาว่า สารทำให้ระคายเคือง คือ Excoecaria factor O1 ซึ่งเป็นเอสเตอร์ของ 5beta-hydroxyresiniferonol-6alpha 7alpha-epoxide นอกจากนี้ยางจากต้นนี้ ยังประกอบด้วย Excoecaria factor O2 และ O3
ส่วนวิธีการรักษาเมื่อถูกพิษยังไม่มีการรักษาโดยตรง ใช้วิธีการรักษาตามอาการ
หากถูกยางที่ผิวหนังให้ล้างยางออกด้วยสบู่และน้ำสะอาด และทาด้วยครีมสเตียรอยด์
แต่หากเข้าตาควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
แต่มีบันทึกว่าส่วนใหญ่เป็นอาการตาบอดแบบชั่วคราว ในแถบคาบสมุทรมลายู และพบว่าที่ประเทศซาราวัก นิยมนำเนื้อไม้ชนิดนี้มาเผาให้เป็นถ่าน เพื่อใช้ในการหุงต้ม ในครัวเรือนได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีความระมัดระวังส่วนของน้ำยางให้มาก
แต่ถ้าพิจารณาถึงความเป็นพิษและหลักฐานการใช้ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้ว ไฟเดือนห้าที่เป็นไม้ยืนต้นในตำรายาไทยก็อาจจะไม่ใช่พืชชนิดนี้เช่นกัน
จึงเชิญชวนผู้รู้และคนรุ่นใหม่ๆ ศึกษาค้นคว้าว่าไฟเดือนห้าคือสมุนไพรชนิดใดแน่ๆ ต่อไป