แมลงวันในไร่ส้ม/ บี้ ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ ลามอีกหลายพรรค แจ้งเกิดสภา ’62 ทุลักทุเล

มลงวันในไร่ส้ม

บี้ ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ

ลามอีกหลายพรรค

แจ้งเกิดสภา ’62 ทุลักทุเล

 

กรณีผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อ กำลังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สงสัยว่า จะมีผลต่อการประกาศผล ส.ส.หรือไม่

เพราะมีการร้องเรียนกันอย่างดุเดือดว่า ผู้สมัคร หรือว่าที่ ส.ส.พรรคนั้นพรรคนี้ถือหุ้นสื่อ

และมีคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งออกมาแล้วว่า ถ้ากิจการที่ถือหุ้นอยู่ มีวัตถุประสงค์เรื่องสื่อ แม้ไม่ได้ดำเนินการจริง ก็มีผลทางกฎหมาย คือต้องห้ามลงสมัคร ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

สาเหตุมาจากผู้สมัครที่มีกิจการในรูปของบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งอาจมีกิจการหลักเป็นธุรกิจอื่นๆ อาทิ รับเหมาก่อสร้าง จำหน่ายสินค้า แต่ตอนจดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่งจะต้องระบุ “วัตถุประสงค์” และมักจะระบุวัตถุประสงค์ไว้หลายๆ ธุรกิจในลักษณะครอบจักรวาล เพื่อความคล่องตัว หากธุรกิจที่ทำอยู่ไปแตะเรื่องอื่นๆ จึงได้ระบุถึงการทำธุรกิจเรื่องสื่อเอาไว้ด้วย

การจดทะเบียนครอบจักรวาลเช่นนี้ บางคนรับรู้ แต่อีกไม่น้อยที่ไม่รู้ และกลายเป็นปัญหาเมื่อลงสมัคร ส.ส.จนผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว พบว่า กลายเป็นคุณสมบัติต้องห้าม

กรณีที่กำลังโด่งดัง ได้แก่ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นบริษัทวีลัค ทำนิตยสาร Who ซึ่งยุติกิจการไปนานแล้ว แต่บริษัทยังอยู่

มีผู้ร้องเรียน กกต. และ กกต.ได้ตั้งข้อหาถือหุ้นสื่อ พร้อมกับเรียกนายธนาธรเข้าชี้แจงในวันที่ 30 เมษายน

โดยนายธนาธรได้นำหลักฐานต่างๆ ออกมาชี้แจงว่า โอนหุ้นดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ซึ่งช่วงเช้าหาเสียงอยู่บุรีรัมย์ และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปจัดการโอนหุ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ปรากฏว่า มีสื่อกลุ่มหนึ่งออกมาเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบว่า นายธนาธรไม่น่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทัน และอื่นๆ

จนเจ้าตัวตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของสื่อว่า มีเป้าหมายมากกว่าการเสนอข่าวหรือไม่

 

การถือหุ้นสื่อของนายธนาธร หากมีการตัดสินว่าขณะสมัครรับเลือกตั้ง นายธนาธรยังถือหุ้นสื่ออยู่ จะมีผลไม่เฉพาะตัวนายธนาธรเท่านั้น

ยังมีกระแสข่าวว่า จะมีการขยายผลไปถึงผู้สมัครที่นายธนาธรอนุมัติให้ลงสมัครอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ เป็นที่ทราบในวงการว่า ผู้สมัครที่พบปัญหาดังกล่าว มีอยู่ในพรรคหลักๆ เกือบทุกพรรค

ดังกรณีที่พรรคเพื่อไทยร้องเรียนนายชาญวิทย์ วิภูศิริ ว่าที่ ส.ส.เขต 15 กทม. มีนบุรี คันนายาว พรรคพลังประชารัฐ ถือหุ้นสื่อ

นายชาญวิทย์ เป็นลูกชายนายอัศวิน วิภูศิริ คนสนิท พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นักการเมืองคนดัง ผู้ล่วงลับไปแล้ว และเป็นกรรมการผู้จัดการ บมจ.ภัทร เฮ้าส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ด้วย

ต่อมา นายอภิชิต ถาบุตร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ร้อง ผอ.เลือกตั้งสกลนคร ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ ว่าถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน พร้อมยื่นเอกสารเป็นหลักฐาน พร้อมสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ณัฐฐินีย์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในข้อ 23 “ประกอบกิจการค้า ทำสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการก่อสร้าง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”, ข้อ 24 “ประกอบกิจการเพื่อบริการรับทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท การตลาดและงานบันเทิงทุกประเภท”, และข้อ 25 “ประกอบกิจการ รับเป็นที่ปรึกษาการจัดเก็บรวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และเผยแพร่สถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมโลกร้อน เจ้าของฉายานักร้อง ยื่น กกต.ให้สอบ 11 ว่าที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้นสื่อ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ มีนายคารม พลพรกลาง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชี้แจงว่า ถือหุ้นบริษัท สำนักพิมพ์สามพอ จำกัด แต่เลิกไปแล้ว 6 ปี โดยยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกและชำระบัญชีต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 4 กันยายน 2556 มีหนังสือรับรองรายการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ลงวันที่ 27 กันยายน 2556

นายคารมประกาศด้วยว่า จะพิจารณายื่นฟ้องดำเนินคดีนายศรีสุวรรณ ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไปที่ทำให้ตนเองและพรรคอนาคตใหม่เสียหาย

 

สําหรับการถือหุ้นสื่อ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม

ในคำพิพากษา 1706/2562 ระหว่าง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ผู้ร้อง กับ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 สกลนคร ซึ่งในคดีนี้เรียกว่า ผู้คัดค้าน

ผู้ร้องขอให้ถอนชื่อนายภูเบศวร์จากการเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

โดยระบุว่า นายภูเบศวร์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

นายภูเบศวร์ยื่นคัดค้านว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวประกอบกิจการการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ที่ระบุในวัตถุประสงค์ข้อที่ 43 ว่า ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล เป็นเพียงแบบวัตถุประสงค์สำเร็จรูปแนบคำขอจดทะเบียนเท่านั้น อีกทั้งห้างดังกล่าวได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2562 แล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจพยานหลักฐาน เห็นว่าคดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐาน ให้งดการไต่สวน

และวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่าห้ามผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อ

จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่อ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง มีวัตถุประสงค์แต่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ จึงฟังไม่ขึ้น แม้ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว แต่เป็นเวลาหลังยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีคำสั่งให้ถอนชื่อนายภูเบศวร์จากประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนกรณีถือหุ้นสื่อ จะกระทบสถานะของว่าที่ ส.ส.และผู้สมัครพรรคใดบ้าง น่าจะได้ทราบกันในเร็ววัน