ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์/ FIVE FEET APART ‘ใกล้-ไกล ไกล-ใกล้’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์

FIVE FEET APART

‘ใกล้-ไกล ไกล-ใกล้’

กำกับการแสดง Justin Baldoni

นำแสดง Haley Lu Richardson Cole Sprouse Moises Arias Kimberly Hebert Gregory

 

ซิสติก ไฟโบรซิส เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ร้ายแรงและหายยากโรคหนึ่งซึ่งต่อมในร่างกายจะผลิตเสมหะเหนียวๆ ไปอุดตันท่อต่างๆ ที่ตับอ่อน ลำไส้ และปอด เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็กเนื่องจากมีความเสี่ยงของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

โรคนี้เรียกชื่อย่อให้จำง่ายๆ ว่า ซีเอฟ

ปกติหนังรักที่มีตอนจบแสนเศร้าด้วยการพลัดพรากของคู่พระคู่นางเนื่องจากโรคร้าย ตัวผู้ร้ายนั้นมักจะเป็นมะเร็งมากกว่าโรคอื่น เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามะเร็งเป็นตัวพรากชีวิตมากกว่าโรคร้ายอื่นๆ

เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักผู้ร้ายตัวใหม่คือโรคซีเอฟนี้

 

หนังเริ่มด้วยการที่สเตลลา (เฮลีย์ ลู ริชาร์ดสัน) เด็กสาววัยสิบเจ็ดซึ่งเป็นโรคนี้และเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเป็นว่าเล่น จนเหมือนบ้านที่สอง…หรืออาจจะเป็นบ้านที่หนึ่งด้วยซ้ำ…กลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อรับชุดยาในขั้นทดลอง และรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนปอด

เพื่อแนะนำให้เราที่เป็นคนดูรู้จักโรคไปพร้อมกันด้วย สเตลลาเล่าอาการของเธอไว้เหมือนอนุทินในยูทูบ โดยมีการอัพเดตเนืองๆ สำหรับเพื่อนฝูงออนไลน์เพื่อจะได้รับทราบความเป็นไปในโลกที่ระยะทางไม่ใช่ปัญหาของการสื่อสาร

โลกปัจจุบันเป็นโลกที่ย่นย่อระยะห่างให้เข้ามาประชิดติดต่อกันได้ทันทีทันควัน…เมื่อไรก็ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส หรือเปิดกล้องวิดีโอถ่ายทอดสด

ทว่าในชีวิตจริงของสเตลลานั้น ระยะห่างคือสิ่งที่เธอต้องระวังสุดยอด เนื่องจากโรคที่เธอเป็นนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

จากความใกล้ชิด การสัมผัส การแพร่เชื้อทางลมหายใจ

โดยเฉพาะระหว่างผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้

ดังนั้น จึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ของระยะห่างระหว่างกันไว้ เรียกว่า “กฎของระยะห่างหกฟุต”

 

ในการเข้ารับยาบำบัดขั้นทดลองคราวนี้ สเตลลาได้พบคนหน้าใหม่ที่เป็นโรคเดียวกันและเข้ารับยาบำบัดเหมือนกัน คือวิลล์ (โคล สเปราส์) หนุ่มวัยเดียวกันที่เหนื่อยหน่ายกับชีวิตจนเกิดความรู้สึกต่อต้านไปหมด เยี่ยงขบถผู้ปฏิเสธที่จะทำตัวคล้อยตามระเบียบแบบแผนและกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว

ถ้ากล่าวว่า “สถานการณ์” สร้าง “นิสัย”

สถานการณ์เดียวกันก็สร้างนิสัยที่ต่างกันไปได้

แต่ในสถานการณ์เดียวกันของสเตลลากับวิลล์ สเตลลากลับมีปฏิกิริยาตรงข้ามต่อโลกรอบตัวเธอ

เธอกลายเป็นคนเจ้าระเบียบ ย้ำคิดย้ำทำ

และจากถ้อยคำที่ออกจากปากเธอเอง เธอมี “ปัญหาเรื่องการควบคุม” เธอต้องการจะควบคุมทุกสิ่งให้อยู่ในที่ในทางของมันตามที่ควรเป็น เพราะลึกๆ เธอรู้สึกว่าโรคซีเอฟเข้ามาบงการชีวิตเธออย่างที่เธอไม่สามารถทำอะไรได้

วิลล์สิ้นหวังจนหมดอาลัยตายอยาก เขาไม่แคร์กับชีวิตว่าจะอยู่หรือไป

เขาบอกเธอว่า “ก็แค่ชีวิตเท่านั้นแหละ ยังไงๆ มันก็สิ้นสุดอยู่ดี” ขณะที่สเตลลามีทัศนคติที่แตกต่าง และต้องการระเบียบแบบแผนเพื่อจะทำให้ตัวเองสบายใจในสิ่งที่ตัวเองทำได้

และเมื่อขั้วตรงข้ามถูกดึงดูดเข้ามาหากัน จนกลายเป็นความรักอันหวานชื่น ทว่าแสนปวดร้าวจากความเป็นไปไม่ได้ของสถานการณ์

และโดนว่ากล่าวต่อต้านโดยบุคคลผู้หวังดีรอบด้าน ซึ่งรู้ดีว่าความใกล้ชิดของผู้ป่วยโรคนี้จะเป็นความเสี่ยงของการแพร่เชื้อให้กันและกัน

ในที่สุด สเตลลาผู้เปรื่องปราดก็เสนอการประนีประนอมในการคบหาระหว่างกัน

นั่นคือ “ระยะห่างห้าฟุต” ซึ่งเป็นชื่อของหนังเรื่องนี้

 

ไม่ใช่การพบกันครึ่งทางของ “กฎหกฟุต” แต่ลดระยะห่างลงเพียงหนึ่งฟุต เพื่อความรู้สึกว่าได้เอาชนะเล็กๆ น้อยๆ

เธอบอกว่า โรคนี้ขโมยอะไรๆ ในชีวิตไปจากเธอมากแล้ว เธอขอขโมยกลับเล็กๆ น้อยๆ เพียงหนึ่งฟุตบ้าง ก็ทำให้เธอมีความสุขขึ้นต่อการได้มีอำนาจควบคุมอะไรๆ ในชีวิตบ้าง

แต่ก็นั่นแหละ กฎห้าฟุตของเธอมาพร้อมกับกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ฆ่าเชื้อ สวมถุงมือ สวมหน้ากาก

และที่สำคัญ ที่กลายเป็นภาพในโปสเตอร์และหนังตัวอย่างของหนัง คือการถือไม้วัดยาวห้าฟุตไว้ระหว่างการไปไหนมาไหนด้วยกัน

ไม้วัดก็ได้มาจากไม้คิวแทงพูลหรือบิลเลียดนั่นแหละค่ะ

แน่นอนว่า ระยะห่างห้าฟุตนี้เป็นข้อตกลงระหว่างหนุ่มสาวเอง เป็นการแอบเอาชนะเล็กๆ น้อยๆ ต่อกฎเกณฑ์ในโลกทางการแพทย์ที่กำหนด “กฎหกฟุต” ไว้

 

แม้ว่าหนังรักแสนเศร้าของวัยรุ่นหนุ่มสาวนี้จะเดินไปตามสูตรของหนังประเภทนี้โดยไม่มีอะไรที่เหนือคาด แต่การเดินเรื่องก็ไม่ได้อืดอาดน่าเบื่อ และยังน่ารักชวนซาบซึ้งตรึงใจ

คนขี้ซึ้งอย่าลืมพกผ้าเช็ดหน้าติดตัวไปด้วยนะคะ อาจไม่ถึงกับน้ำตาไหลพรากๆ ไม่ยอมหยุดหรอก แต่ก็ต้องฟุดฟิด ต้องซับ ต้องปาดกันบ้างแหละ

หนังยังมีตัวละครอีกตัวที่เป็นประมาณตลกชูโรง หรือตลกตามพระตามนาง ในหนุ่มเกย์ชื่อโพ (มัวเซส อาริอาส) ซึ่งมีเรื่องราวความรักของตัวเองคู่ขนานไป และเป็นตัวส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงเคราะห์กรรมของคนเป็นโรคนี้

และ “ผู้ร้าย” ที่ดำเนินการขัดขวางหนทางรักของหนุ่มสาว คือพยาบาลบาร์บ แต่ก็เป็นผู้ร้ายที่ทำการลงไปด้วยเจตนาที่ดีที่สุด

มีเรื่องน่าตื่นเต้นชวนลุ้นชวนใจคอหายอยู่ในช่วงสุดท้ายของหนัง แบบที่ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยอย่างไร แต่ที่สุดแล้ว หนังก็ลงเอยตามที่ควรเป็น แม้คนดูจะคอยเอาใจช่วยให้เกิดปาฏิหาริย์

ทว่าปาฏิหาริย์ซึ่งยากจะเกิดแก่ชีวิต ก็ไม่ได้ช่วยขจัดปัดเป่าภัยทุกเรื่องและลากเรื่องให้ลงเอยด้วยดีได้เสมอไป

 

แม้จะเป็นหนังเศร้า แต่ก็เป็นหนังที่ให้กำลังใจและเตือนให้เรามองเห็นค่าของชีวิตตามที่มันเป็นอยู่ รวมทั้งการรับรู้ชื่นชมความสุขที่อาจมีได้ แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สลักสำคัญสำหรับคนที่มองไม่เห็นค่า

เฮลีย์ ลู ริชาร์ดสัน เป็นนักแสดงรุ่นสาวที่มีพลังมาก ขณะที่โคล สเปราส์ ออกจะหมกมุ่นและเป็นตัวละครที่ซ้ำกับตัวละครในซีรี่ส์ที่สร้างชื่อเสียงให้เขา คือ Riverdale ซึ่งผู้เขียนติดตามอยู่เหมือนกัน

แต่ข่าวว่าโคล สเปราส์ มาแรงในยุคนี้ ด้วยความเป็นขวัญใจว้ายกรี๊ดของวัยรุ่นสาวๆ ประมาณเดียวกับเจมส์ ดีน ใน Rebel Without a Cause ก็ว่าได้

ดูหนังเรื่องนี้แล้ว อดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังที่คล้ายๆ กันนี้อีกเรื่อง คือ The Faults in Our Stars (ไชลีน วูดลีย์, แอนเซล เอลกอร์ด) ซึ่งเล่าเรื่องความรักหวานชื่นแสนเศร้าเคล้าน้ำตาของคู่รักวัยรุ่นที่ดวงชะตาไม่สมพงษ์กันเหมือนกัน

ได้ดูหนังรักหนังชีวิตชวนซาบซึ้งตรึงใจสลับไปกับหนังแอ๊กชั่นล้างผลาญแบบบล๊อกบัสเตอร์ ก็เพิ่มรสชาติของความเร้าอารมณ์ให้ชีวิตในฐานะนักดูหนังขึ้นเยอะ

ส่วนที่ดีของหนังชีวิตแบบนี้ คือการทำให้เราย้อนมามองดูชีวิตและการใช้ชีวิตของตัวเอง และยังทำให้ตระหนักในคุณค่าของลมหายใจและความโหยหาเยี่ยงมนุษย์ทุกผู้ทุกนามได้ดียิ่งขึ้น