หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘โป่งเทียม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - กระทิงใช้แร่ธาตุในโป่งในการเสริมสร้างร่างกาย เช่นเดียวกับสัตว์กินพืชตัวอื่นๆ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘โป่งเทียม’

 

ป่าด้านตะวันตก กลางเดือนกันยายน

16.30 น.

ท้องฟ้ามืดครึ้ม สายฝนโปรยหนักสลับเบา ตั้งแต่สายๆ ตอนบ่ายสองโมง มีแสงแดดส่องผ่านดงไม้มาบ้าง แต่ไม่นานสายฝนก็โปรยอีก

ผมนั่งอยู่บนสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า หอดูสัตว์ ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่า ใช้เวลาเดินสัก 10 นาที

หลายปีก่อน การก่อสร้างหอดูสัตว์แห่งนี้เริ่มต้น เป็นช่วงเวลาที่ผมทำงานที่นี่ ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างใหญ่โตอะไรหรอก แต่การก่อสร้างในป่าแห่งนี้ไม่เคยง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านพัก สำนักงาน ป้อมยาม หรืออะไรก็เถอะ สาเหตุหลักคือ หาผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างยาก

ไม่มีผู้รับเหมารายใดอยากรับงาน บางรายรับแล้วก็ทิ้งงานกลางคันเสียอย่างนั้น

ทุกรายยอมทิ้งงานเพราะไม่อยากขาดทุนมากยิ่งขึ้น

เหตุผลทุกรายพบเหมือนๆ กันคือ เส้นทางอันยากลำบาก โดนเฉพาะในช่วงฝน การขนวัสดุอุปกรณ์ ปูน หิน ทราย และอื่นๆ ยาก ไม่คุ้ม ขาดทุน งานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา

สุดท้าย งานก่อสร้างจึงตกเป็นของเจ้าหน้าที่ในป่าทำกันเอง ซึ่งว่าไปแล้ว งานที่ออกมาไม่แพ้ หรือดีกว่าผู้รับเหมาอาชีพทำด้วยซ้ำ

หอดูสัตว์ที่หน่วยนี้ได้รับการอนุมัติให้สร้างสองแห่ง แห่งแรกอยู่ใกล้ๆ หน่วย ส่วนอีกแห่งห่างไปทางทิศตะวันออกราว 5 กิโลเมตร

สภาพหอมีสามชั้น สูงสัก 20 เมตร มีบันไดวนแคบๆ ขึ้น-ลงค่อนข้างยาก

“ต้องทำตามแบบครับ” จิตติ พิทักษ์ป่าวัยใกล้เกษียณ ผู้กลายเป็นผู้รับเหมาจำเป็นบอก

แบบหอดูสัตว์นี้เหมือนกันทุกป่า

ผมมีโอกาสได้ช่วยพวกเขาขนวัสดุต่างๆ บ้าง การก่อสร้างใช้เวลาหลายเดือน แต่เสร็จจนได้ในที่สุด ทั้งสองหอหันหน้าเข้าหาแหล่งอาหารที่สัตว์กินพืชจะเข้ามาใช้เพื่อกินแร่ธาตุ

เป็นแหล่งอาหารที่คนทำขึ้นเพื่อให้สัตว์ป่าได้กินอาหารเสริมเหล่านี้

ในป่ามีแหล่งอาหารเช่นนี้อยู่ในธรรมชาติ

เราเรียกแหล่งอาหารเสริมนี้ว่า โป่ง

และเรียกแหล่งที่คนสร้างขึ้นว่า โป่งเทียม…

 

ผ่านมาหลายปี สภาพหอดูสัตว์ค่อนข้างกลมกลืนไม่ดูแปลกแยกเหมือนตอนสร้างใหม่ๆ ต้นไม้รอบๆ ขึ้นคลุมหนา ความสูงระดับยอดไม้ ช่วยให้การดูนกและบันทึกภาพนกเป็นไปอย่างสะดวก

ตัวโป่งเช่นกัน ช่วงฝนอย่างนี้ เป็นเหมือนปลักขนาดใหญ่ที่มีรอยตีนสัตว์ป่าเหยียบย่ำไว้เละ

“ส่วนใหญ่เป็นรอยตีนเก้ง กวาง หมูป่า และกระทิงครับ” ศุภกิจ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าบอก

“รอยสมเสร็จก็มี แต่เก่ามาก”

เขาเดินไปสำรวจร่องรอย หลังจากนำเกลือมาใส่เพิ่มเติม

สัตว์ป่าหลายชนิดมาใช้บริการ ศุภกิจพบเสือดาวหลายครั้ง ส่วนรอยตีนสมเสร็จก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะโป่งนี้อยู่ใกล้ด่านที่พวกมันใช้แวะมาหาอาหารเสริมสักหน่อย ขณะเดินผ่านคือเรื่องธรรมดา

“เสือโคร่งก็เคยเห็นนะครับ” จิตติ ผู้รับเหมายืนยันความสำเร็จของโป่งเทียม

มีสัตว์กินพืช พวกนักล่าย่อมตามมา

 

ในโป่งไม่มีร่องรอยของช้าง

โดยปกติช้างจะบุกเบิกขุดดินให้กินแร่ธาตุได้ง่ายขึ้น

ไม่ใช่เพราะพวกมันไม่มาใช้โป่งเทียม แต่เพราะในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกนี้ เรียกได้ว่า ไม่มีช้าง ต่างจากในพื้นที่ป่ารอบๆ ที่มีพื้นที่ติดต่อกัน

ไม่มีช้าง นั่นทำให้ด่านและโป่งธรรมชาติมีสภาพค่อนข้างรกทึบ

ช้าง คือ เจ้าหน้าที่ผู้บุกเบิกเส้นทาง ผู้มีฝีมือ เส้นทางที่ช้างทำ กว้างขวาง เดินสบาย

โป่งที่นี่จึงมีขนาดเล็ก รกทึบ เพราะไม่มีช้างช่วยขุดและขยายให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

หน้าที่เหล่านี้ตกเป็นของกระทิง

พูดตามจริง พวกมันไม่มีฝีมือเอาเสียเลย เส้นทางรกๆ มันมุดๆ ให้ผ่านไปได้เท่านั้น และเมื่อใกล้แหล่งอาหาร พวกมันจะแยกย้าย มีหลายเส้นทาง ให้เราสับสนอีก

“คนเก่าๆ บอก ที่นี่สมัยก่อน ช้างมีเยอะครับ” จิตติเคยเล่า มีอดีตคนล่าสัตว์บางคนเล่าว่า เขาเคยฆ่าช้างนับร้อยตัว

“เจตนาจะเอาช้างงาแหละครับ แต่เจอตัวไหนก็ยิง”

คล้ายเป็นเรื่องน่าสลดใจไม่น้อย

“โดนล่ามากๆ พวกมันเลยอพยพไปอยู่ป่าไกลๆ หมด”

ช้างฉลาด ช่างจำ และรู้ถึงวิธีหลบภัย

“ในโป่งนี้ ตอนผมเด็กๆ มีช้างเยอะเลยล่ะ” อดิเทพ คู่หูที่ช่วยงานผมเล่าบ้าง

เราไม่รู้แน่ชัดหรอกว่า สาเหตุที่ช้างไปจากที่นี่คืออะไร ทั้งๆ ที่แหล่งอาศัย แหล่งอาหาร ก็เหมาะสม

แต่ถึงวันนี้ พวกมันเริ่มกลับมาแล้ว

“เราได้รูปช้างจากการวางกล้องดักถ่ายแล้วครับ” ไอซ์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้เข้ามาช่วยงานลาดตระเวนในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เอารูปช้างให้ดู

การปกป้องพื้นที่อย่างเอาจริงในหลายปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นผล

 

ปัญหาใหญ่ที่เหล่าสัตว์ป่าที่เหลืออยู่ในป่าเมืองไทย และรวมทั้งในโลกใบนี้กำลังเผชิญ คือ พื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัย ถูกบุกรุก ถูกตัดออก เหลือเป็นหย่อมๆ เส้นทางเดินหากินโดนตัดขาด พื้นที่อาศัยอันสมบูรณ์ อันเป็นที่ราบเชิงเขามีแหล่งน้ำ คือความต้องการของคนเช่นกัน

รวมทั้งการถูกไล่ล่าตัวเพราะต้องการอวัยวะ

ปัญหาการกระทบกระทั่ง แย่งพื้นที่ระหว่างคนกับสัตว์ป่า เกิดขึ้นและนับวันจะหนักหนายิ่งขึ้น

หลายครั้งเกิดความสูญเสีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูเหมือนว่า “ผู้ร้าย” คือสัตว์ป่าเสมอ

 

ฝนหยุดโปรย แสงแดดอ่อนๆ ทาบทาบริเวณโป่งเทียม

กระทิงสี่ตัวเดินเข้ามา ข้อเท้าสีขาวมอๆ จมในปลัก ตัวผู้ร่างกำยำ ก้มกินอย่างไม่สนใจ รอบๆ มีกระทิงสองตัวเงยหน้าหันมองไป-มา ทำหน้าที่ระวังภัย

จากบนหอดูสัตว์ ผมกดชัตเตอร์ กระทิงสองตัวอยู่ในช่องมองภาพ

เมื่อละสายตาจากช่องมอง

ผม “เห็น” กระทิง และ “เห็น” อะไรอีกหลายอย่าง

เห็นพื้นที่อาศัยสัตว์ป่าถูกบุกรุกทำลายเหลือเพียงหย่อมๆ

เห็นหอดูสัตว์, เห็นโป่งเทียม, เห็นการปกป้องดูแลพื้นที่อาศัยสัตว์ป่าอย่างจริงจัง

คนทำลายสิ่งต่างๆ ได้

คนสร้างบางอย่างขึ้นมาได้เช่นกัน

คนจำนวนมากเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว คนนี่แหละจะช่วยปกป้องโลก

เพราะคนถูกสร้างและออกแบบมาเพื่อให้ทำเช่นนั้น