เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /พุทธทาส กับ สวนโมกข์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

พุทธทาส กับ สวนโมกข์

 

เมื่อฉบับที่แล้วผมได้เขียนถึงรายการเรียลิตี้ดังทางช่องทรูวิชั่น ที่ชื่อ “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 8” ว่าได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

และในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นวันบรรพชาของเหล่าสามเณรทั้ง 12 รูป ณ วัดธารน้ำไหล หรือวัดสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปร่วมในพิธีด้วย

ด้วยความที่วัดสวนโมกข์นั้น ท่านพุทธทาสภิกขุตั้งใจให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด จึงไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างมากมายนัก หากแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ รวมทั้งพระอุโบสถก็มีลานหินกว้างเป็นพื้น มีต้นไม้เป็นขอบกำแพง และมียอดไม้ใหญ่เป็นชายคา นั่นคือการอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง แม้แต่กับการประกอบพิธีบรรพชานี้ ก็ดำเนินไปใต้ธรรมชาติเช่นนี้

รวมทั้งอากาศที่ร้อนอบอ้าวร่วม 40 องศาด้วย

นั่นดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญของสามเณร และผู้ที่มาร่วมงาน ที่ต่างต้องต่อสู้กับความร้อนที่แผดเผานั่น

แต่กับพระสงฆ์แล้ว นั่นคือเรื่องปกติที่เป็น “ธรรมชาติ”

 

ในการเตรียมงาน ทางทีมงานได้มีการตั้งพัดลมขนาดใหญ่เพื่อเป่าบรรเทาความร้อนให้กับแขกร่วมงาน และเมื่อถามพระอาจารย์ว่า น่าจะเตรียมให้กับพระภิกษุในพิธีด้วยไหม

ท่านก็ตอบว่าไม่ต้อง พระอยู่ได้ ไม่ต้องกังวล…ธรรมชาติเป็นอย่างไร พระก็อยู่อย่างนั้น

ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะตลอดพิธีแม้อากาศจะอบอ้าว แดดยามบ่ายจะแผดเปรี้ยงเพียงใด พระทุกรูปในพิธีก็นั่งนิ่งเฉย ในอาการสงบงามยิ่ง

นั่นคืออากัปกิริยาที่ว่า “ร้อนกาย แต่ไม่ร้อนใจ”

 

หากเมื่อเดินสำรวจภายในวัด เราจะได้เห็น “ร่องรอยธรรมะ” จากท่านพุทธทาสในพื้นที่ต่างๆ ของวัด เป็นคำพูด เป็นข้อธรรมที่คอยเตือนสติให้ผู้ที่ผ่านเข้ามาได้อ่านได้เห็น เพื่อให้ได้คิด

ที่สะดุดใจมีอยู่ประโยคหนึ่งที่ว่า “ความสุข คือ การไม่สุข”

สงสัยไหมครับ ว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้นหว่า

เมื่อได้เดินตามรอยธรรมะไปในที่ต่างๆ และคิดตาม ปัญญาก็เกิดตามมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในโรงมหรสพทางปัญญา ที่ได้มีคำกลอน และคติธรรมแสดงอยู่มากมาย

อย่างส่วนหนึ่งของบทที่ชื่อ “พ้นแล้วโว้ย” ที่เขียนว่า

“ลอยเหนือยอด โบสถ์ไป ในเวหา

ลอยพ้นไป เหนือฟ้า ที่เทพอยู่

ถึงความว่าง ห่างพ้น จากตัวกู

ไม่มีอยู่ ไม่มีตาย สบายเอย”

จะเห็นว่าบทกลอนได้พูดถึงการปล่อยละ “ตัวตน” ซึ่งเป็นหนทางในการหลุดพ้น เพราะหากเรายิ่งยึดติด “ตัวกู” มากเท่าไหร่ มันก็คงจะไม่อาจลอยพ้นไปเหนือฟ้าที่เทพอยู่ได้ ดังคำกลอนที่ว่า

ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ของวัดสวนโมกข์นี้ ก็มีคำกล่าวให้ละตัวตนอยู่หลายแห่ง อย่างที่บอกว่า “ถ้าไม่อยากทุกข์ ไม่อยากมีปัญหา ก็ต้องละ การเป็น การมี ตัวกู”

อันนี้ไม่แน่ใจว่าคนอย่างเราๆ จะทำได้แค่ไหน เพราะเรายังยึดอยู่เสมอเลยว่า เราเป็นเจ้านาย เราต้องเหนือกว่าลูกน้อง เราเป็นพ่อ ลูกต้องฟังเรา

ยิ่งพวกนักการเมือง หรือพวกทหารที่หันมาเล่นการเมืองด้วยแล้ว เท่าที่เห็น “ตัวกู” ของพวกท่านเหล่านี้มีอยู่หนักแน่นมากมายนัก ตัวกูจะต้องสอบได้ ตัวกูจะต้องชนะ ตัวกูจะต้องตั้งรัฐบาล ตัวกูจะได้ตำแหน่ง และสารพัดตัวกูที่จะอยากมี อยากเป็น อยากได้ อีกมากมาย

 

มีบทกลอนที่ติดไว้ภายในโรงมหรสพทางปัญญา ที่ประพันธ์โดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ได้เขียนถึงท่านพุทธทาสไว้ตอนหนึ่งว่า

“ทุกข์จากความยึดมั่นสำคัญผิด

จึงปรุงจิตให้เห็นเป็นโศกสุข

พระดับความยึดมั่นไม่รานรุก

ดับเพื่อปลุกผู้อื่นให้ตื่นตาม”

จะเห็นว่าก็ได้เน้นย้ำถึงความทุกข์จากการยึดมั่นเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านพุทธทาสเน้นย้ำไว้อย่างมาก

และยังมีอีกบทกลอนหนึ่งที่อาจารย์เนาวรัตน์ประพันธ์ถึงท่านพุทธทาสไว้ ความว่า

“พระผู้นั่งกลางดินกลางหินทราย

กลางความงามความง่ายความหมายมุ่ง

บำเพ็ญธรรมเพื่อธรรมอันดำรุง

ให้โลกรุ่งรวีวรรณสันติธรรม”

เมื่อย้อนไปขบคิดว่า “ความสุข คือ การไม่สุข” ก็ได้ปัญญาว่า เพราะหากเรายังยึดติดกับความสุขว่า สุขเพราะได้เห็นคนที่ชอบเป็นนายกฯ สุขเพราะได้ฟังนโยบายที่ถูกใจตน สุขเพราะได้ทานอาหารโปรด สุขที่ได้แต่งตัวสวยๆ นั่นก็คือการมีความสุขจากการเสพตามที่ “ตัวกู” คิดปรุงแต่งขึ้นมานั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราละ “ตัวกู” เราก็จะไม่ต้องมุ่งแสวงหาความสุขมาให้ตัวกู เมื่อไม่ต้องสุข มันก็ไม่ต้องมีทุกข์ตาม และนั่นก็คือ ความสุขที่แท้จริง

ยังมีความจริงดีๆ ของชีวิต ที่ท่านพุทธทาสได้ทิ้งไว้ให้เราภายใต้ร่มเงาของสวนโมกข์อีกมาก หากใครมีโอกาสได้ลงไปสัมผัสก็น่าจะดีกับชีวิต

หรือไม่ก็ติดตามชมหลักธรรมตามแบบท่านพุทธทาสที่สอดแทรกอยู่ใน “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” กัน ก็ไม่ขัดข้อง…นะโยม