ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]
เสี้ยวหนึ่งของราชสำนักสยาม (1)
ความที่คนไทยไม่ค่อยบันทึกประวัติศาสตร์ เราก็คงต้องยอมรับว่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยเราได้มาจากการบันทึกของชาวต่างชาติที่มาอยู่ในเมืองไทยเสียเป็นส่วนใหญ่
เมื่อใดที่ราชสำนักสยามมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ต้องพึ่งพาต่างชาติให้เข้ามารับราชการเป็นแขนขาของราชสำนัก เมื่อนั้นก็จะมีเรื่องราวในราชสำนักและเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมืองไปปราฏอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วโลก ต่อมานักประวัติศาสตร์ไทยก็ต้องไปค้นคว้าเอามาเผยแพร่อีกที
รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักมีฝรั่งเข้านอกออกในกันขวักไขว่ จึงปรากฏเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชุดต่างๆ ออกมาละเอียดลออขนาดเอามาปะติดปะต่อเขียนเป็นบทละครได้อย่างเห็นจริงเห็นจัง
ส่วนเรื่องราวของราชสำนักสยามในยุคกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่เลื่องลือเมื่อแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษนำเรื่องราวของตัวละครต่างๆ ในราชสำนักมาเขียนเป็นนิยายทีละเรื่องๆ
ผู้เขียนทดสอบปฏิกิริยาของผู้อ่านว่าเมื่อพูดถึงชื่อแอนนา เลียวโนเวนส์ เขาจะมีปฏิกิริยาเช่นไร
คำแรกที่ผู้อ่านพูดคือ “สมัยก่อนไม่มีการลงโทษด้วยการเผา” ทั้งนี้ก็เป็นเพราะแหม่มแอนนาได้เขียนถึงตัวละครชื่อเจ้าจอมทับทิม และบรรยายว่าเธอถูกเผานั่นเอง
สำหรับคนไทยแล้วอะไรที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และราชวงศ์ย่อมไม่สามารถมองโดยปราศจากอคติได้ เพราะคนไทยมีความเคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างสูงยิ่ง
สิ่งไรก็ตามที่พาดพิงถึงกษัตริย์ในทางลบย่อมถูกปฏิเสธเสมอ
หนังสือที่เพิ่งออกตัวมาสดๆ ร้อนๆ ในงานสัปดาห์หนังสือของสำนักพิมพ์มติชน ผลงานนักแปลมือฉมังติดอันดับ สุภัตรา ภูมิประภาศ ซึ่งคราวนี้มีผู้ร่วมแปลอีกท่านคือ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ ชื่อ “อ่านสยามตามแอนนา” หรือชื่อในภาษาอังกฤษต้นฉบับว่า “The English Governess at the Siamese Court” ก็จะต้องเตรียมรับมือจากปฏิกิริยาของผู้อ่านดุจเดียวกัน
ผู้อ่านที่อยู่ในแวดวงวิชาการก็คงไม่เท่าไหร่
แต่ผู้อ่านทั่วไปก็คงจะเริ่มต้นอ่านด้วยอคติไม่มากก็น้อย
เรื่องราวที่แหม่มแอนนาเขียนเป็นเรื่องราวเมื่อประมาณกว่า 150 ปีที่แล้ว แอนนา เลียวโนเวนส์ เข้ามาเมืองไทยเมื่อปี 1862 เธอถูกคัดเลือกให้มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษจากสิงคโปร์ ก่อนหน้านี้เธออยู่ที่มะละกา
อยากจะเดาว่าผู้แปลเลือกเรื่องนี้เพราะไม่มีหนังสือเล่มไหนจะให้ภาพราชสำนักในสมัยคิงมงกุฎได้ดีขนาดนี้ เป็นภาพแบบอินไซด์จริงๆ ตรงไปตรงมาจริงๆ
และเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนที่อยากอ่านเรื่องจริงแบบไม่ต้องมีการตัดทอน ขัดเกลาให้เหลือแต่ข้อความที่ยกย่องให้เกียรติพระมหากษัตริย์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ แบบที่นักเขียนไทยจะทำกัน
ส่วนที่คนอ่านจะยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดไหมหรือว่าแหม่มแก “เสริมแต่ง” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือ ต้องยอมรับว่าแหม่มแอนนาคนนี้มีฝีมือในการประพันธ์ไม่เบา สิ่งที่เธอเขียนให้จินตนาการ แสง สี ความมืดทึม กลิ่นต่างๆ ที่ปลุกประสาทสัมผัสของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นเมื่อเธอเล่าถึง “ตลาดปลา” ที่เธอได้บุกไปดูบ้านที่ท่านมหาเสนาบดีเสนอให้เธออยู่ในครั้งแรก ก่อนหน้าที่เธอจะได้ลงหลักปักฐานในบ้านที่เหมาะสมในที่สุด
“เราขึ้นท่าที่พลับพลาริมน้ำของกษัตริย์ และถูกนำทางไปยังถนนคดเคี้ยวขรุขระ ผ่านประตูสูงจำนวนหนึ่งเข้าสู่ถนนอีกเส้นหนึ่งซึ่งมีกลิ่นไม่พึงประสงค์สารพัดโชยมารบกวนเรา ฉันเดาว่าเป็นตลาดปลา แดดแผดเผา อากาศอุดอู้ ฝุ่นผงทำให้เราอึดอัด พื้นทำให้เราเจ็บเท้า พวกเรารู้สึกแห้งโหยและหายใจไม่ออก เมื่อผู้นำทางหยุดลงตรงสุดทางเดินแสนอุบาทว์นี้และส่งสัญญาณให้ตามเขาขึ้นบันไดอิฐผุๆ สามขั้น…”
ข้อสังเกตคือ แหม่มแอนนาพูดตรงแบบที่ไม่ใช่วิสัยคนไทยจะพูดตรงแบบนี้ อีกข้อสังเกตคือ สภาพแวดล้อมแบบนี้สำหรับคนไทยก็รู้สึกเฉยๆ แต่แหม่มแกใช้คำว่า “อุบาทว์” เพราะแกเป็นชาวตะวันตกที่บ้านเมืองศิวิไลซ์กว่า และยิ่งแกเพิ่งจากบ้านที่มะละกาซึ่งแกเอ่ยว่าเป็นบ้านที่แสนสุขมาด้วยก็ย่อมจะมีข้อเปรียบเทียบ
หลังจากได้เห็นบ้านที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก แหม่มก็ไม่รั้งรอที่จะพูดตรงๆ ถึงความรู้สึกของเธอ “ฉันมุ่งตรงไปยังท่านกลาโหม รอยยิ้มน้อยๆ เชิงสอบสวนของเขากวนอารมณ์มากขึ้นทุกที ฉันบอกเขาสั้นๆ อย่างเฉียบขาดผ่านล่ามว่าคิดอย่างไรกับที่พักที่เตรียมไว้ให้ และไม่มีสิ่งใดจะโน้มน้าวให้ฉันไปอยู่ในสลัมเช่นนั้นได้”
ท่าทีที่แข็งกร้าวของแอนนาทำให้เธอต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่เป็นระยะ ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่และผู้หญิงถูกคาดหมายให้อ่อนน้อม
“การเมินเฉยและความเฉื่อยชาของคนเหล่านี้ สร้างความทุกข์ใจให้ฉันจนเหลือทน ฉันไม่เคยแสร้งว่าทนได้เลย ฉันหมดความใจเย็นกับท่านกลาโหมผู้สุขุม ฉันทำหลายสิ่งเพื่อให้เขาเดือดดาลโดยไม่รอมชอมกับศักดิ์ศรีของตัวเอง แต่เขารับทุกเรื่องด้วยการเมินเฉย”
แอบคิดในใจว่า ถ้าแม้นว่าแหม่มแอนนาศึกษาแบบอย่างสตรีไทยผู้อ่อนน้อม อ่อนหวาน และทดลองนำมาใช้ดูบ้าง ชีวิตในวังของเธออาจจะราบรื่นเป็นสุขกว่านี้ แต่ก็นั่นแหละ นั่นย่อมไม่ใช่ตัวเธอ และอาจจะขัดแย้งกับบทบาทของครูสตรีชาวอังกฤษที่กลายเป็นที่ปรึกษาพึ่งพิงของบรรดาคนในวังในกาลต่อมา