จรัญ มะลูลีม : เศรษฐกิจของรัฐอิสลามอิหร่าน

จรัญ มะลูลีม

แนวโน้มทางเศรษฐกิจของอิหร่าน

อิหร่านเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) รองลงมาจากซาอุดีอาระเบีย ประมาณการกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ใน ค.ศ.2014 อยู่ที่ 406.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชาชนมากเป็นอันดับสอง รองลงมาจากอียิปต์ ทั้งนี้ ใน ค.ศ.2014 อิหร่านมีประชากรทั้งสิ้น 80.8 ล้านคน

เศรษฐกิจของอิหร่านที่สำคัญอยู่ในภาคไฮโดรคาร์บอน ภาคบริการและการเกษตรขนาดครัวเรือน การบริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์จากโรงงาน

อิหร่านมีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่ในอันดับสองของโลก

และมีน้ำมันดิบสำรองอยู่ในอับดับสี่ของโลก

ผลิตภัณฑ์มวลรวมโดยเฉลี่ยและรายได้จากรัฐบาลส่วนใหญ่ยังคงขึ้นอยู่กับรายได้ของน้ำมัน

 

ปัจจุบันอิหร่านได้นำเอายุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทางเศรษฐกิจมาใช้ ซึ่งรวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่มีพื้นที่อยู่ที่ตลาด (market-based)

ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในวิสัยทัศน์ 20 ปีของรัฐบาลและแผนพัฒนาห้าปีของอิหร่าน (FYDP 2011-15)

แม้ว่ารัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม

กระนั้นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจเอกชนขนาดใหญ่และกึ่งเอกชนได้มีบทบาทอยู่ในภาคการผลิตและการพาณิชย์

ภาคการเงินก็เช่นกันก็จะได้รับการดูแลโดยธนาคารเอกชน

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการดำเนินธุรกิจของอิหร่านยังคงถูกท้าทายอยู่

ปัจจุบันบรรยากาศที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของอิหร่านยังอยู่ในระดับที่ 130 จาก 189 ประเทศที่ได้มีการสำรวจใน ค.ศ.2015 จากรายงานของ Doing Busines Report

ประเทศที่มีลำดับต่ำกว่าอิหร่านที่อยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ แอลจีเรีย จิบูตี อิรัก ลิเบีย ซีเรีย เวสต์แบงก์ กาซ่า และเยเมน

 

รัฐบาลอิหร่านได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในระบบการให้ความช่วยเหลือทางอ้อมในอุตสาหกรรม การผลิตน้ำมัน น้ำ การไฟฟ้า และขนมปัง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการในการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินธุรกิจอื่นๆ การช่วยเหลือโดยทางอ้อมทั้งหมดนี้ คิดเป็นร้อยละ 27 ของ GDP ในปี 2007/2008 ซึ่งคาดหมายกันว่ามีอยู่ 77.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการขาดดุลอยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP

ท่ามกลางความตกต่ำของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของอิหร่านปัจจุบันได้ดีดตัวขึ้นมา โดยคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจของประเทศจะโตอยู่ในระดับร้อยละ 3.0 ใน ค.ศ.2014 เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 1.07 ใน ค.ศ.2013

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดการแซงก์ชั่นที่มีต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลงชั่วคราวอันเนื่องมาจากการข้อตกลงว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกับกลุ่มประเทศที่ลดการคว่ำบาตรลงแม้ว่าสหรัฐจะยุติข้อตกลงนี้ไปในตอนหลังก็ตาม

รวมทั้งการลดการแซงก์ชั่นอุตสาหกรรมยานยนต์ การทำธุรกรรมของธนาคารระหว่างประเทศและธนาคารในประเทศ รวมทั้งความมั่นใจที่มีต่อเศรษฐกิจของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากข้อตกลงระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศ P5+1

แผนปฏิบัติการร่วม (The joint Plan of Action) หรือ JPA ทำให้ราคาการส่งออกน้ำมันค่อยๆ กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ คาดหมายกันว่าประเทศในเอเชียจะเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านร้อยละ 19.8 ใน ค.ศ.2014 โดยลูกค้าสำคัญโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4 ประเทศ ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งการนำเข้าน้ำมันจากประเทศเหล่านี้จะสูงถึง 11.12 ล้านบาห์เรลต่อวัน

การที่เศรษฐกิจของอิหร่านพัฒนาขึ้นมาในระดับหนึ่งนั้นมีผลมาจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีเสถียรภาพขึ้น รวมทั้งการแข่งขันระหว่างประเทศที่มีการพัฒนาขึ้นในด้านเกษตรกรรม โรงงาน และการส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมัน

การส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 24.2 ใน 10 เดือนแรกของปีปฏิทินอิหร่าน (คือวันที่ 21 มีนาคม – 20 มกราคม ค.ศ.2015) เมื่อเปรียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันเมื่อ ค.ศ.2014 ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพยังช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านไฮโดรคาร์บอนอีกด้วย

ในเวลาเดียวกันแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มาจากเงินเฟ้อก็ผ่อนคลายลงทุกปี หลังจากเคยขึ้นไปสูงสุดร้อยละ 35 ใน ค.ศ.2013 ได้ลดลงเหลือร้อยละ 15 ใน ค.ศ.2014

สิ่งนี้มีแรงหนุนมาจากปัจจัยหลายประการ รวมทั้งค่าเงินเรียล การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลกสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม การว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นและคาดหมายว่าจะเป็นความท้าทายหลักของรัฐบาล รายงานจากสำนักงานสถิติของอิหร่านบ่งชี้ว่า อัตราการว่างงานนั้นคาดหมายกันว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 10.3 ที่น่ากังวลได้แก่การว่างงานในหมู่สตรี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20.3 รวมถึงประชาชนที่เป็นคนหนุ่มร้อยละ 24

ความอ่อนแอนี้มาจากตลาดแรงงาน เนื่องจากเพียงร้อยละ 36.7 ของประชาชนอิหร่านเท่านั้นที่อยู่ในตลาดแรงงาน

สภาพของตลาดแรงงานที่ได้ขยายตัวออกไปจากการเข้ามามีส่วนร่วมของสตรี และคนหนุ่มจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะยังดำรงอยู่ต่อไป อันเนื่องมาจากสถานภาพทางสังคม-เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอัตราการมีการศึกษาในหมู่สตรีมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้การแซงก์ชั่นที่มีต่อนโยบายนิวเคลียร์ของอิหร่านมีความผ่อนคลายลง

รวมทั้งทำให้อัตราเงินเฟ้อซึ่งกดดันเศรษฐกิจอิหร่านในปัจจุบันอยู่ได้คลายตัวลงเช่นกัน การริเริ่มเหล่านี้จะทำให้การส่งออกของประเทศมีศักยภาพมากขึ้น ทำให้พลังการซื้อของผู้บริโภคสูงขึ้น มีการสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนทางเศรษฐกิจผ่านความมั่นใจของผู้บริโภคและธุรกิจ

แม้ว่าใน ค.ศ.2015 อันเป็นปีที่ราคาน้ำมันลดลงและอัตราการส่งออกน้ำมันลดลง แต่เศรษฐกิจของประเทศก็จะยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 0.6 ทั้งนี้ คาดหมายกันว่าอัตราเงินเฟ้อจะคงอยู่ที่ร้อยละ 17.3

ไม่เป็นที่แปลกใจว่าชาวอิหร่าน 150,000 ซึ่งมีการศึกษาได้ออกจากประเทศไปทุกปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องสร้างงานขึ้นมาถึง 8.5 ล้านงานขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายจะลดการว่างงานให้เหลือร้อยละ 7 ภายใน ค.ศ.2016

โครงการนี้มุ่งหวังให้อัตราการเข้าร่วมของแรงงานมีความคงที่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้าร่วมของแรงงานจะพุ่งขึ้นแต่ก็เชื่อกันว่าอัตราการว่างงานจะยังคงพุ่งสูงขึ้นในอนาคตที่มองเห็นได้

แม้ว่าเป้าหมายการสร้างงานของรัฐบาลจะเกิดขึ้นก็ตาม